คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5810/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฎีกาขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยอ้างว่าการส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ทนายโจทก์ไม่ชอบ แต่ในวันที่ยื่นฎีกาโจทก์ได้ยื่นคำร้องลักษณะเดียวกันนี้ต่อศาลชั้นต้นด้วย โดยศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง หากโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลชั้นต้นก็ต้องอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 โจทก์จะใช้สิทธิฎีกาคำสั่งดังกล่าวโดยตรงต่อศาลฎีกาไม่ได้
การที่จำเลยที่ 2 นำสมุดเงินฝากของธนาคารมาเป็นหลักประกันในการขอทุเลาการบังคับระหว่างอุทธรณ์พร้อมกับทำสัญญาค้ำประกันต่อศาลชั้นต้นว่า ถ้าจำเลยทั้งสองแพ้คดีและไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา จำเลยที่ 2 ยอมให้บังคับคดีเอาจากหลักทรัพย์คือสมุดเงินฝากที่นำมาวางศาลนั้น สมุดเงินฝากดังกล่าวเป็นเพียงหลักประกันในการขอทุเลาการบังคับระหว่างอุทธรณ์เท่านั้น โจทก์จะอ้างว่าเมื่อชนะคดีในชั้นอุทธรณ์และจำเลยที่ 2 ยังไม่ได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ เงินในสมุดเงินฝากดังกล่าวจึงตกเป็นของโจทก์โดยปริยายหาได้ไม่ และจากสัญญาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจะต้องมีการบังคับคดีเสียก่อน ศาลจึงจะมีคำสั่งให้ธนาคารจ่ายเงินตามสมุดเงินฝากนั้นแก่โจทก์ได้ เมื่อโจทก์มิได้ดำเนินการบังคับคดีภายใน 10 ปี โจทก์ย่อมสิ้นสิทธิบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 จึงไม่มีเหตุที่ศาลจะยึดสมุดเงินฝากดังกล่าวไว้เป็นหลักประกันหรือเพื่อบังคับคดีอีกต่อไป

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 17,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 พฤษภาคม 2531 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์และขอทุเลาการบังคับ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่า ถ้าจำเลยคนใดคนหนึ่งหรือจำเลยทั้งสองร่วมกันหาหลักประกันสำหรับต้นเงินที่จะต้องชำระตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นพร้อมดอกเบี้ยเป็นเวลา 4 ปี มาให้จนเป็นที่พอใจและภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ก็อนุญาตให้ทุเลาการบังคับไว้ระหว่างอุทธรณ์ จำเลยที่ 2 นำสมุดเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด จำนวนเงิน 30,000 บาท มาวางเป็นหลักประกันและทำสัญญาค้ำประกันต่อศาลชั้นต้น ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2536 และคดีถึงที่สุดโดยไม่มีคู่ความฎีกา
ต่อมาวันที่ 31 มีนาคม 2546 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอรับสมุดเงินฝากที่วางเป็นประกันต่อศาลคืนและให้ศาลมีหนังสือแจ้งถอนอายัด
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ถอนการอายัดเงิน 30,000 บาท ตามสมุดเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขา 131 ราชวิถี บัญชีเงินฝากประจำเลขที่ 1312177908 ของจำเลยที่ 2 และคืนสมุดเงินฝากดังกล่าวให้จำเลยที่ 2
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยอ้างว่าการส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ทนายโจทก์ไม่ชอบเนื่องจากทนายโจทก์ย้ายที่อยู่ ขอให้ส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ฝ่ายโจทก์ทราบใหม่นั้น ปรากฏว่าในวันที่ยื่นฎีกาโจทก์ได้ยื่นคำร้องลักษณะเดียวกันนี้ต่อศาลชั้นต้นด้วย แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องโดยเห็นว่าการดำเนินกระบวนพิจารณาในเรื่องดังกล่าวชอบแล้ว หากโจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลชั้นต้นก็ต้องอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 โจทก์จะใช้สิทธิฎีกาคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวโดยตรงต่อศาลฎีกาไม่ได้เพราะเป็นการปฏิบัติผิดขั้นตอนของลำดับชั้นศาลไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณาความแม้ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์ข้อนี้มา ศาลฎีกาก็รับวินิจฉัยให้ไม่ได้ คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์เพียงว่า จำเลยที่ 2 มีสิทธิขอสมุดเงินฝากประจำที่นำมาวางเป็นหลักประกันในการขอทุเลาการบังคับระหว่างอุทธรณ์คืนหรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 2 นำสมุดเงินฝากของธนาคารมาเป็นหลักประกันในการขอทุเลาการบังคับระหว่างอุทธรณ์พร้อมกับทำสัญญาค้ำประกันต่อศาลชั้นต้นว่า ถ้าจำเลยทั้งสองแพ้คดีและไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา จำเลยที่ 2 ยอมให้บังคับคดีเอาจากหลักทรัพย์คือสมุดเงินฝากที่นำมาวางศาลนั้น ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์แล้วเพราะสมุดเงินฝากดังกล่าวเป็นเพียงหลักประกันในการขอทุเลาการบังคับระหว่างอุทธรณ์ว่าจำเลยที่ 2 มีทรัพย์สินพอที่จะชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้โจทก์ได้เท่านั้น โจทก์อ้างว่าเมื่อโจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์และจำเลยที่ 2 ยังไม่ได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์ เงินในสมุดเงินฝากดังกล่าวจึงตกเป็นของโจทก์โดยปริยายหาได้ไม่ แม้สัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ทำต่อศาลชั้นต้นจะยังมีผลบังคับอยู่ก็ตาม แต่สัญญาดังกล่าวก็ระบุว่าจำเลยทั้งสองแพ้คดีและไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา จำเลยที่ 2 ยอมให้บังคับคดีเอาจากหลักทรัพย์คือสมุดเงินฝากที่นำมาวางศาล ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจะต้องมีการบังคับคดีเสียก่อน ศาลจึงจะมีคำสั่งให้ธนาคารจ่ายเงินตามสมุดเงินฝากนั้นแก่โจทก์ได้ เมื่อโจทก์มิได้ร้องขอให้บังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 ให้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จนล่วงพ้นระยะเวลา 10 ปี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 โจทก์ก็ย่อมสิ้นสิทธิบังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 จึงไม่มีเหตุที่ศาลจะยึดสมุดเงินฝากดังกล่าวไว้เป็นหลักประกันเพื่อบังคับคดีอีกต่อไป”
พิพากษายืน

Share