แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
++ เรื่อง คดีแรงงาน ++
++ จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
++ โปรดดูย่อจากหนังสือคำพิพากษาศาลฎีกา สำนักงานศาลยุติธรรม
++ เล่มที่ 1 หน้า 52 ++
++ ขอดูชุดพิเศษโปรดติดต่อห้องบริการเอกสารสำเนาคำพิพากษา (ห้องสมุด) ชั้น 4, 5 ++
ย่อยาว
เรื่อง คดีแรงงาน
จำเลย อุทธรณ์คัดค้าน คำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ลงวันที่ ๒๙ เดือน ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๑
ศาลฎีกา รับวันที่ ๑๖ เดือน มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๔๒
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๔ จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งแพทย์เวร ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายวันละ ๑,๔๐๐ บาท จ่ายค่าจ้างทุกวัน วันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๑จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด โจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกันมาเกิน ๗ ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย ๒๔๐ วันเป็นเงิน ๓๓๖,๐๐๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย ๓๓๖,๐๐๐ บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานประมาณปลายปี ๒๕๓๕โจทก์ทำงานในตำแหน่งแพทย์เวร มีหน้าที่ตรวจรักษาคนไข้ ส่วนงานธุรการและการเงินโจทก์ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องแต่ประการใด เมื่อประมาณเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน ๒๕๔๑ โจทก์ได้เข้ามาก้าวก่ายการเงินของคลินิกจำเลยและยุยงให้พนักงานคนอื่น ๆ ของจำเลยไม่เชื่อฟังคำสั่ง โดยจำเลยโทรศัพท์สั่งให้พนักงานการเงินโอนเงินเข้าบัญชีของจำเลย แต่โจทก์กลับห้ามไม่ให้พนักงานโอนเงินให้จำเลย นอกจากนี้โจทก์ยังทำลายทรัพย์สินในคลินิกของจำเลยเสียหาย และทำตัวเป็นปรปักษ์ทางการค้ากับจำเลยโดยแอบติดต่อเช่าตึกที่จำเลยเช่าอยู่เพื่อเปิดคลินิกเช่นเดียวกับจำเลย จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณาคู่ความรับข้อเท็จจริงกันว่า จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานเมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๓๕ ตำแหน่งแพทย์เวร มีหน้าที่รักษาคนไข้ที่เจ็บป่วย วันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๑ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้ทำคำสั่งเป็นหนังสือ
ศาลแรงงานกลางเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้ ให้งดสืบพยานแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยจะปฏิเสธการจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ต้องปรากฏว่าโจทก์กระทำความผิดตามที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑มาตรา ๑๑๙ และเหตุแห่งการกระทำต้องระบุไว้ในหนังสือเลิกจ้าง จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ออกหนังสือเลิกจ้าง จะยกเหตุไม่จ่ายค่าชดเชยตามมาตรา ๑๑๙ ขึ้นอ้างไม่ได้ พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย ๒๕๒,๐๐๐ บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปีนับแต่วันฟ้อง (วันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๑)จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์จำเลยแต่เพียงว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้ออกคำสั่งเป็นหนังสือจะยกเหตุตามมาตรา ๑๑๙ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาเป็นข้ออ้างไม่จ่ายค่าชดเชยได้หรือไม่ เห็นว่า ในการบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างเอาไว้นั้น มีบัญญัติเป็นหลักทั่วไปไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ ๓ ลักษณะ ๖ มาตรา ๕๘๒ ซึ่งมิได้กำหนดเอาไว้ว่าการบอกเลิกการจ้างจะต้องทำเป็นหนังสือ ดังนั้น การบอกเลิกการจ้างจึงอาจจะทำเป็นหนังสือหรือด้วยวาจาก็ได้ แต่การบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือเพื่อเลิกจ้างมีมาตรา ๑๗ วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. ๒๕๔๑ บัญญัติว่าไม่ให้ใช้บังคับแก่การเลิกจ้างตามมาตรา ๑๑๙และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๓ ซึ่งหมายความว่าถ้ามีเหตุเลิกจ้างตามบทบัญญัติในสองมาตราดังกล่าว นายจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยวาจาได้ทันที ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นหนังสือแต่ก็ต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ว่าถ้านายจ้างประสงค์จะยกเหตุตามมาตรา ๑๑๙แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธไม่จ่ายค่าชดเชย นายจ้างจะต้องแจ้งเหตุนั้นให้ลูกจ้างทราบขณะบอกเลิกจ้างด้วยวาจา ส่วนบทบัญญัติมาตรา ๑๗ วรรคสาม แห่งบทกฎหมายดังกล่าวที่ว่า ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้าง ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุเหตุผลไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง นายจ้างจะยกเหตุตามมาตรา ๑๑๙ขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้นั้น คงมีความหมายเพียงว่า ในกรณีนายจ้างเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้างโดยทำเป็นหนังสือ หากนายจ้างประสงค์จะยกเหตุตามมาตรา ๑๑๙ ขึ้นอ้างเพื่อไม่จ่ายค่าชดเชย นายจ้างจะต้องระบุเหตุดังกล่าวไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างด้วย มิฉะนั้นนายจ้างจะยกขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้เท่านั้น มาตรา ๑๗ วรรคสาม จึงมิได้ห้ามเด็ดขาดมิให้นายจ้างบอกเลิกการจ้างด้วยวาจา ดังนี้ เมื่อจำเลยให้การต่อสู้ไว้ในรายละเอียดต่าง ๆ ซึ่งมีสาระสำคัญถึงเหตุที่จำเลยจะไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๑๙ คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทที่ต้องฟังข้อเท็จจริงต่อไป เพราะหากฟังได้ว่าจำเลยได้บอกเลิกจ้างด้วยเหตุดังกล่าวแก่โจทก์แล้ว แม้จะเป็นการบอกเลิกจ้างด้วยวาจา จำเลยก็อาจไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลแรงงานกลางจึงควรสืบพยานและฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวเสียก่อน ที่ศาลแรงงานกลางงดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางสืบพยานโจทก์และจำเลย แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี.