คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 674/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้เดิมโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยมีเงื่อนไขฉบับลงวันที่ 15 มกราคม 2539 และศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมนั้นแล้ว ต่อมาเงื่อนไขในสัญญาประนีประนอมยอมความไม่สำเร็จผล มีผลให้ข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวเป็นอันตกไปไม่มีผลใช้บังคับ โจทก์และจำเลยจึงได้ทำข้อตกลงกันใหม่เป็นสัญญาใหม่ฉบับลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2539 จึงมีผลผูกพันโจทก์จำเลยแทนสัญญาประนีประนอมยอมความ ฉบับลงวันที่ 15 มกราคม 2539 แต่จำเลยไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาใหม่ฉบับลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2539 นั้นได้อีก จำเลยได้ยื่นข้อเสนอขึ้นมาใหม่ เมื่อโจทก์ไม่ตกลงจึงยังไม่เกิดเป็นสัญญา เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญาฉบับลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2539 โจทก์ต้องฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวเป็นคดีใหม่
ข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยฉบับลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2539 เป็นข้อตกลงเพื่อจัดการทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสมรสเป็นสัญญาระหว่างสมรส คู่สมรสมีสิทธิบอกล้างได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1469 เมื่อจำเลยได้บอกล้างข้อตกลงดังกล่าวแล้ว สัญญาระหว่างสมรสของโจทก์จำเลยจึงเป็นอันสิ้นผล โจทก์ไม่อาจฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงนั้นได้อีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ขอลงชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยในที่ดินโฉนดเลขที่ 21344 และ 21345 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลย จำเลยเพิกเฉยไม่ยอมไปจดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ตามข้อตกลงเป็นการโต้แย้งสิทธิทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 21344 เลขที่ดิน 142 ตำบลเมืองเหนือ อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ พร้อมสิ่งปลูกสร้าง (ตึกแถว 2 ชั้น 1 คูหา) ไม่มีเลขที่ให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาตามคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การปฏิเสธว่าจะไม่ยินยอมแบ่งทรัพย์สินพิพาทให้แก่โจทก์ อันถือเป็นการบอกล้างข้อตกลงกันเกี่ยวด้วยการแบ่งทรัพย์สินพิพาทตามฟ้องแล้ว นอกจากนี้จำเลยยังได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นมาพร้อมคำให้การฉบับนี้ เพื่อเป็นการบอกล้างข้อตกลง เกี่ยวกับทรัพย์สินที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทในคดีนี้ทั้งหมดให้เป็นอันสิ้นความผูกพัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะดำเนินการฟ้องร้องบังคับเอาแก่จำเลยในคดีนี้ได้ต่อไป ขอให้ยกฟ้อง
ในวันชี้สองสถานโจทก์และจำเลยรับข้อเท็จจริงกันว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 21344 และ 21345 ตามฟ้องเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์จำเลย โดยมีชื่อจำเลยในโฉนดที่ดินดังกล่าว โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้ใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของรวม จำเลยยื่นคำร้องคัดค้าน ต่อมาได้มีการตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ศาลได้พิพากษาตามยอมปรากฏตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 8/2539 ของศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ตามคำฟ้องและคำให้การ ข้อเท็จจริงพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลยนัดฟังคำพิพากษา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 21344 เลขที่ดิน 142 ตำบลเมืองเหนือ อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยากัน ที่ดินโฉนดเลขที่ 21344 และ 21345 พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์และจำเลย แต่มีชื่อจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินทั้งสองแปลง เดิมโจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอใส่ชื่อโจทก์ในโฉนดที่ดินดังกล่าวร่วมกับจำเลย ต่อมาโจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่า โจทก์และจำเลยจะเป็นผู้ดำเนินการจัดการร่วมกันในการจดทะเบียนขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่บุคคลภายนอกในราคา 2,000,000 บาท ภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ เพื่อนำเงินมาแบ่งกันคนละครึ่งและให้ถือว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นสินส่วนตัวที่โจทก์และจำเลยจะใช้สิทธิเรียกร้องในฐานะสินสมรสอีกต่อไปไม่ได้ หากฝ่ายใดไม่ไปจดทะเบียนขายให้ถือเอาตามคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา ซึ่งศาลได้พิพากษาตามยอม คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลยแล้วพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 21344 พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่โจทก์เลือกให้แก่โจทก์เป็นการชอบหรือไม่ เห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า สัญญาประนีประนอมยอมความของโจทก์จำเลยฉบับลงวันที่ 15 มกราคม 2539 ซึ่งศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามยอมนั้นแล้ว ยังมีผลบังคับหรือไม่ เห็นว่า สัญญาประนีประนอมยอมความฉบับดังกล่าวโจทก์จำเลยตกลงกันว่าโจทก์และจำเลยจะเป็นผู้ดำเนินการจัดการร่วมกันในการจดทะเบียนขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่บุคคลภายนอกในราคา 2,000,000 บาท ภายในกำหนด 1 เดือน เพื่อนำเงินมาแบ่งกันคนละครึ่ง สัญญาประนีประนอมยอมความฉบับนี้จึงเป็นสัญญาที่มีเงื่อนไข ซึ่งต่อมาปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นฉบับลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2539 ว่า โจทก์จำเลยไม่สามารถหาผู้ซื้อที่ดินตามที่ตกลงกันไว้ได้ ฉะนั้นเงื่อนไขตามที่ตกลงไว้ในสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับดังกล่าว จึงไม่สำเร็จผล อันมีผลให้ข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับนี้เป็นอันตกไป ไม่มีผลบังคับแต่ในวันเดียวกันนั้นโจทก์จำเลยได้ทำข้อตกลงกันใหม่เป็นว่า จำเลยจะเป็นผู้หาผู้ซื้อรายใหม่มาซื้อที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างในราคาไม่ต่ำกว่า 2,000,000 บาท หรือหากจำเลยหาเงินได้ 1,000,000 บาท ก็จะซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างส่วนที่เป็นสิทธิของโจทก์ โดยมีกำหนดระยะเวลา 1 เดือน หากจำเลยไม่สามารถปฏิบัติได้จำเลยยินยอมแบ่งที่ดินให้โจทก์ 1 แปลง โดยตกลงกันให้จำเลยเป็นผู้เลือก ข้อตกลงตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับที่ 17 พฤษภาคม 2539 จึงเกิดเป็นสัญญาขึ้นใหม่มีผลผูกพันโจทก์จำเลยแทนข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ 15 มกราคม 2539 แม้ต่อมาวันที่ 17 มิถุนายน 2539 ทนายจำเลยจะได้แถลงต่อศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ดังกล่าวว่า จำเลยหาผู้ซื้อไม่ได้ และจำเลยไม่มีเงินที่จะซื้อที่ดินพิพาทในส่วนของโจทก์ได้ จำเลยพร้อมยอมแบ่งที่ดินที่พิพาท 1 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ แต่ให้โจทก์ช่วยจ่ายเงินค่าก่อสร้างจำนวน 200,000 บาท ให้แก่ผู้ซื้อเดิม อันเป็นคำเสนอขึ้นมาใหม่ เมื่อโจทก์ไม่ตกลง ข้อเสนอของจำเลยในวันที่ 17 มิถุนายน 2539 จึงยังไม่เกิดเป็นสัญญา เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญาที่ตกลงกันในวันที่ 17 พฤษภาคม 2539 โจทก์จึงต้องดำเนินการฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวเป็นคดีใหม่ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยผิดสัญญาประนีประนอมยอมความและข้อตกลงที่ต่อเนื่องจากสัญญาประนีประนอมยอมความถือว่าจำเลยสละสิทธิในการเลือกที่ดิน จึงให้โจทก์เป็นฝ่ายเลือกที่ดินเป็นคำสั่งที่นอกเหนือข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ มีปัญหาที่ต้องพิจารณาต่อไปว่า ข้อตกลงตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2539 เป็นสัญญาระหว่างสมรสดังที่จำเลยอ้างหรือไม่ เห็นว่า ข้อตกลงตามรายงานกระบวนพิจารณาดังกล่าวเป็นการตกลงกันระหว่างโจทก์จำเลยเพื่อจัดการทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสมรส ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาระหว่างสมรส คู่สมรสมีสิทธิบอกล้างได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1469 เมื่อจำเลยได้ทำการบอกล้างข้อตกลงดังกล่าวแล้วตามคำร้องฉบับลงวันที่ 17 มกราคม 2540 สัญญาระหว่างสมรสของโจทก์จำเลยตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2539 จึงเป็นอันสิ้นผลไปเพราะถูกบอกล้างแล้ว โจทก์จึงไม่อาจฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงในสัญญาฉบับลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2539 ดังกล่าวอีกได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 21344 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์นั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.

Share