คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7242-7254/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 13 มีความมุ่งหมายที่จะคุ้มครองลูกจ้างไม่ให้ต้องถูกออกจากงานหรือถูกลิดรอนสิทธิและผลประโยชน์ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการโอนกิจการหรือการควบรวมกิจการของนายจ้างตามกฎหมาย
ธนาคารจำเลยที่ 2 ตั้งขึ้นจากการควบรวมกิจการของธนาคารจำเลยที่ 1 กับนิติบุคคลอื่น ผลการควบรวมกิจการไม่ใช่เป็นการเลิกกิจการของจำเลยที่ 1 แต่ทำให้จำเลยที่ 1 สิ้นสภาพไป และเป็นผลให้จำเลยที่ 2 ต้องรับโอนไปทั้งสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดของจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น ตามนัย ป.พ.พ. มาตรา 1243 กับต้องรับโอนไปทั้งสิทธิและหน้าที่ทุกประการอันเกี่ยวกับลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 13 และ ป.พ.พ. มาตรา 577 วรรคแรก ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ย่อมต้องโอนไปเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ในทันทีโดยอัตโนมัติ เว้นแต่ลูกจ้างผู้นั้นจะแสดงความประสงค์ชัดแจ้งว่าไม่ยินยอมโอน กรณีเช่นนี้ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างลูกจ้างดังกล่าวเนื่องจากสภาพนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 หมดสิ้นไป เป็นเหตุให้ลูกจ้างไม่สามารถทำงานต่อไปได้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสอง การที่จำเลยที่ 1 กำหนดเงื่อนไขให้ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ที่ประสงค์จะทำงานกับจำเลยที่ 2 ต้องแสดงเจตนาตอบรับการเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ภายในกำหนดเวลา มิฉะนั้นจะถูกเลิกจ้าง เป็นการกำหนดเงื่อนไขที่ขัดแย้งต่อบทบัญญัติของกฎหมายซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่มีผลบังคับ

ย่อยาว

คดีทั้งสิบสามสำนวน ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาเข้าด้วยกันโดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 13 กับเรียกจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ทั้งสิบสามสำนวนว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2
โจทก์ทั้งสิบสามสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองจ่ายค่าเสียหายและเงินโบนัสตามบัญชีสำหรับรวมการพิจารณาคดีแก่โจทก์ทั้งสิบสามพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสิบสาม
จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ทั้งสิบสามสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสิบสามสำนวน
โจทก์ทั้งสิบสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 13 บัญญัติว่า “ในกรณีที่กิจการใดมีการเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้างเนื่องจากการโอน รับมรดก หรือด้วยประการอื่นใด หรือในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลและมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงโอน หรือควบกับนิติบุคคลใด สิทธิต่าง ๆ ที่ลูกจ้างมีอยู่ต่อนายจ้างเดิมเช่นใดให้ลูกจ้างมีสิทธิเช่นว่านั้นต่อไป และให้นายจ้างใหม่รับไปทั้งสิทธิและหน้าที่อันเกี่ยวกับลูกจ้างนั้นทุกประการ” บทบัญญัติดังกล่าวมีวัตถุประสงค์หรือความมุ่งหมายที่จะคุ้มครองลูกจ้างมิให้ต้องถูกออกจากงานหรือถูกลิดรอนสิทธิและผลประโยชน์ใดที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการโอนกิจการหรือการควบรวมกิจการของนายจ้างตามกฎหมาย ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนควบรวมกิจการเข้ากับธนาคารซูมิโตโม จำกัด แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารซูมิโตโม มิตชุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำเลยที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2544 เป็นต้นไป ผลของการควบรวมกิจการดังกล่าวมิใช่เป็นการเลิกกิจการของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด เพียงแต่จำเลยที่ 1 ต้องสิ้นสภาพไปโดยผลของการควบรวมกิจการกับธนาคารซูมิโตโม จำกัด อันเป็นนิติบุคคลอื่นเท่านั้น และเป็นผลให้จำเลยที่ 2 ต้องรับโอนไปทั้งสิทธิหน้าที่ ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1243 นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ยังต้องรับโอนไปทั้งสิทธิและหน้าที่ทุกประการอันเกี่ยวกับลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 13 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 577 วรรคแรก บัญญัติไว้อีกด้วย โดยผลของกฎหมายดังกล่าวลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ย่อมต้องโอนไปเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ในทันทีโดยอัตโนมัติแม้จะไม่ได้แสดงเจตจำนงออกมาอย่างชัดแจ้งว่าประสงค์จะโอนไปเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ก็ตาม ทั้งนี้นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2544 เป็นต้นไป เว้นแต่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 รายที่ได้แสดงความประสงค์อย่างชัดแจ้งว่าไม่ยินยอมโอนไปเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ในกรณีเช่นนี้ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ได้เลิกจ้างลูกจ้างดังกล่าวเนื่องจากสภาพนิติบุคคลของจำเลยที่ 1 ได้หมดสิ้นไปเป็นเหตุให้ลูกจ้างไม่สามารถทำงานต่อไปได้ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสอง เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสิบสามได้แสดงเจตนาต่อจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 ว่า โจทก์ทั้งสิบสามไม่ประสงค์ที่จะโอนไปเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 จึงต้องถือว่าโจทก์ทั้งสิบสามได้โอนไปเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 แล้วดังกล่าวข้างต้น การที่จำเลยที่ 1 ประกาศกำหนดเงื่อนไขให้ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ที่ประสงค์จะทำงานกับจำเลยที่ 2 ต้องแสดงเจตจำนงตอบรับการเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ภายในวันที่ 12 มีนาคม 2544 มิฉะนั้นจะถูกเลิกจ้างนั้น เป็นการกำหนดเงื่อนไขที่ขัดแย้งต่อบทบัญญัติของกฎหมายข้างต้นซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่มีผลบังคับ คดีนี้โจทก์ทั้งสิบสามฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองโดยอ้างว่าจำเลยทั้งสองเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ทั้งสิบสามได้โอนไปเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 ได้สิ้นสภาพความเป็นนิติบุคคลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2544 จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจจะก่อนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์ทั้งสิบสามตามที่โจทก์ทั้งสิบสามกล่าวอ้างอีก คดีจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปเพียงว่า จำเลยที่ 2 ได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบสามหรือไม่ หากมีการเลิกจ้างจริงการเลิกจ้างดังกล่าวเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ แต่เนื่องจากข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมายังไม่เพียงพอที่จะวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล แต่ที่พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 โดยวินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสิบสามไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 โดยให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงในปัญหาที่ว่า จำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์ทั้งสิบสามหรือไม่ หากมีการเลิกจ้าง เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ และดำเนินการตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56 วรรคสาม ต่อไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.

Share