คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8172/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การดำเนินกิจการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องที่โจทก์ทั้งหกได้รับสัมปทานจากการรถไฟแห่งประเทศไทยเกี่ยวเนื่องกับระบบการขนส่งสินค้ากล่องเชื่อมต่อกับท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง เพื่อสนับสนุนกิจการนำเข้าและส่งออกของประเทศและการเติบโตของท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง โดยผู้ดำเนินการที่สถานีดังกล่าวจะทำหน้าที่ขนถ่ายและแยกสินค้าที่บรรจุมาในตู้สินค้าที่บรรทุกมาจากต่างประเทศโดยทางเรือมาที่ท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง แล้วขนขึ้นรถไฟมาที่สถานีดังกล่าวเพื่อนำส่งให้แก่ผู้นำเข้าหรือนำสินค้าที่จะต้องส่งไปต่างประเทศโดยทางเรือมาบรรจุในตู้สินค้าเพื่อขนขึ้นรถไฟไปที่ท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง โดยคิดค่าบริการจากผู้ใช้บริการ การดำเนินกิจการของสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องดังกล่าว จึงเป็นการดำเนินธุรกิจอันเกี่ยวกับการขนส่งของรถไฟ คือการรับขนส่งสินค้าตามมาตรา 6 และมาตรา 9 (7) แห่ง พ.ร.บ. การรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 ดังนั้นสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องจึงเป็นทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ใช้ในกิจการของการรถไฟโดยตรง ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 9 (2) แห่ง พ.ร.บ. ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475
ปัญหาว่าสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องของการรถไฟแห่งประเทศไทยตามฟ้อง ได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามกฎหมายหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์ทั้งหกจะมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้น โจทก์ที่ 2 ก็ยกขึ้นอุทธรณ์ได้ และสำหรับโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 6 แม้จะมิได้ยกขึ้นกล่าวอ้างในอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัย ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) และมาตรา 225 วรรคสอง
โจทก์ทั้งหกเป็นผู้รับสัมปทานเข้าดำเนินกิจการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องของการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามคำชี้ขาดให้แก่จำเลยที่ 1 แทนการรถไฟแห่งประเทศไทยตามสัญญาสัมปทานโดยเข้าใจว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยมีหน้าที่ต้องชำระตามกฎหมาย เมื่อสถานีดังกล่าวได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิยึดเงินค่าภาษีไว้ โจทก์ทั้งหกมีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าภาษีที่ได้รับไว้ดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งหกได้
(วรรคแรก ประชุมใหญ่ครั้งที่ 10/2548)

ย่อยาว

คดีทั้งหกสำนวน ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งให้พิจารณาคดีรวมกัน โดยให้เรียกโจทก์สำนวนที่ 1 ถึงที่ 6 ว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 ตามลำดับ ส่วนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ทุกสำนวนเรียกว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เช่นเดิม
โจทก์ทั้งหกสำนวนฟ้องขอให้พิพากษาว่าการประเมิน ใบแจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินและใบแจ้งคำชี้ขาดไม่ถูกต้อง ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนเงินค่าภาษีแก่โจทก์ทั้งหก พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามทั้งหกสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ทั้งหกใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความสำนวนละ 10,000 บาท
โจทก์ทั้งหกอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โรงเรือนและที่ดินซึ่งเป็นสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องตามฟ้องเป็นทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทย โจทก์ทั้งหกทำสัญญาสัมปทานดำเนินกิจการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องดังกล่าวกับการรถไฟแห่งประเทศไทยโดยเสียค่าตอบแทนให้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นค่าธรรมเนียมตามอัตราที่กำหนดไว้ในการเสนอประมูล กับต้องชำระค่าภาษีต่าง ๆ และค่าธรรมเนียมตลอดจนค่าใช้จ่ายที่ผู้ประกอบการต้องชำระตามกฎหมายแทนการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งรวมถึงจำนวนเงินที่ต้องรับผิดชอบสำหรับภาษีและค่าธรรมเนียมสำหรับทรัพย์สินใด ๆ ของสถานี และต้องประกันวินาศภัยโรงเรือนที่ได้รับสัมปทานโดยการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นผู้รับประโยชน์ เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2542 จำเลยที่ 3 แจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2542 ของสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องที่โจทก์ทั้งหกได้รับสัมปทาน โดยประเมินค่ารายปีจากค่าธรรมเนียมที่โจทก์ทั้งหกแต่ละคนชำระให้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทยในปี 2541 รวมกับค่าเบี้ยประกันภัย และค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินที่โจทก์ทั้งหกจะต้องชำระแทนการรถไฟแห่งประเทศไทยตามสัญญาสัมปทาน คูณด้วย 8 แล้วหารด้วย 7 ตามแนวปฏิบัติของกรมสรรพากร และคำนวณเป็นค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินจำนวนตามฟ้อง โจทก์ทั้งหกยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ จำเลยที่ 2 ชี้ขาดยืนยันค่ารายปีและค่าภาษีตามที่จำเลยที่ 3 ประเมิน โจทก์ทั้งหกได้ชำระค่าภาษีโรงเรือนตามคำชี้ขาดดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งหกว่าจำเลยทั้งสามต้องคืนเงินภาษีแก่โจทก์ทั้งหกเพียงใดหรือไม่ โดยในเบื้องต้นสำหรับปัญหาตามข้ออ้างในอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 ที่ว่า สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องเป็นทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ใช้ในกิจการของการรถไฟโดยตรง ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดิน ตามมาตรา 9 (2) แห่ง พ.ร.บ. ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ. ภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2534 หรือไม่นั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า การดำเนินกิจการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องนี้เกี่ยวเนื่องกับระบบการขนส่งสินค้ากล่องเชื่อมต่อกับท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง เพื่อสนับสนุนกิจการนำเข้าและส่งออกของประเทศและการเติบโตของท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง โดยผู้ดำเนินการที่สถานีนี้จะทำหน้าที่ขนถ่ายและแยกสินค้าที่บรรจุมาในตู้สินค้าที่บรรทุกมาจากต่างประเทศโดยทางเรือมาที่ท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง แล้วขนขึ้นรถไฟมาที่สถานีดังกล่าวเพื่อนำส่งให้แก่ผู้นำเข้า หรือนำสินค้าที่จะต้องส่งไปต่างประเทศโดยทางเรือมาบรรจุในตู้สินค้าเพื่อขนขึ้นรถไฟไปที่ท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง โดยคิดค่าบริการจากผู้ที่ใช้บริการ การดำเนินกิจการของสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องนี้จึงเป็นการดำเนินธุรกิจอันเกี่ยวกับการขนส่งของรถไฟคือการรับขนส่งสินค้า ตามมาตรา 6 (2) และมาตรา 9 (7) แห่ง พ.ร.บ. การรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 ดังนั้น สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องตามฟ้องจึงเป็นทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ใช้ในกิจการของรถไฟโดยตรง ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 9 (2) แห่ง พ.ร.บ. ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 โจทก์ทั้งหกย่อมไม่มีหน้าที่ต้องชำระภาษีดังกล่าวแทนการรถไฟแห่งประเทศไทย การประเมินของจำเลยที่ 3 และคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องตามฟ้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาดังกล่าวแม้โจทก์ทั้งหกจะมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลภาษีอากรกลาง และโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 6 จะมิได้ยกขึ้นกล่าวอ้างในอุทธรณ์ แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน โจทก์ที่ 2 ยกขึ้นอุทธรณ์ได้ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัย ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 246, 142 (5) และมาตรา 225 วรรคสอง ส่วนในปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องที่ศาลภาษีอากรกลางยังไม่ได้วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนให้ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยก่อน ปัญหานี้เมื่อได้ความว่าโจทก์ทั้งหกเป็นผู้รับสัมปทานเข้าดำเนินกิจการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องได้ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินตามคำชี้ขาดให้แก่จำเลยที่ 1 แทนการรถไฟแห่งประเทศไทยตามสัญญาสัมปทาน โดยเข้าใจว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยมีหน้าที่ต้องชำระตามกฎหมาย เมื่อปรากฏว่าสถานีดังกล่าวได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิยึดเงินค่าภาษีจำนวนดังกล่าวไว้ โจทก์ทั้งหกย่อมมีสิทธิที่จะได้รับคืนเงินดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 และมีอำนาจฟ้องศาลบังคับให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าภาษีที่ได้รับไปให้แก่โจทก์ทั้งหกได้ ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 นั้น มิได้เป็นผู้รับเงินค่าภาษีจากโจทก์ทั้งหก ทั้งการแจ้งประเมินและการแจ้งคำชี้ขาดดังกล่าวเป็นการปฏิบัติราชการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการประเมินเรียกเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2542 สำหรับสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องที่ลาดกระบัง สถานี A ถึง F ของการรถไฟแห่งประเทศไทย และเพิกถอนคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับสถานีดังกล่าว ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินค่าภาษีให้แก่โจทก์ทั้งสามภายในสามเดือนนับแต่ฟังคำพิพากษานี้ หากไม่คืนภายในกำหนดเวลาดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ.

Share