แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาอุทธรณ์ให้คู่ความฟังวันที่ 26 เมษายน 2549 คู่ความมีสิทธิฎีกาได้ภายใน 1 เดือน นับแต่วันอ่านคำพิพากษาซึ่งจะครบกำหนดฎีกาภายในวันที่ 26 พฤษภาคม 2549 โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกาออกไปอีก 30 วัน นับแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2549 ศาลอนุญาตตามคำร้อง ระยะเวลาที่ขอขยายเริ่มนับในวันรุ่งขึ้นจึงครบกำหนด 30 วัน ในวันที่ 23 มิถุนายน 2549
เมื่อจำเลยเห็นว่าโจทก์ยื่นฎีกาพ้นกำหนดเวลาตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว จำเลยชอบที่จะโต้แย้งเป็นประเด็นมาในคำแก้ฎีกา ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกประเด็นว่าโจทก์ยื่นฎีกาพ้นกำหนดเวลาหรือไม่มาวินิจฉัยได้ หาจำต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้รับฎีกาแยกต่างหากมาด้วยไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2541 จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 80,000 บาท ตกลงชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยมิได้กำหนดเวลาชำระต้นเงินคืน หลังจากได้รับเงินกู้แล้ว จำเลยผิดสัญญาไม่ชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์เลย โจทก์ทวงถามหลายครั้ง แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์ได้บอกเลิกสัญญากู้ยืมไปยังจำเลยแล้ว ดอกเบี้ยนับแต่วันกู้ยืมถึงวันฟ้องเป็นเวลา 34 เดือน เป็นเงิน 34,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 114,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 80,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์เพียง 50,000 บาท แต่โจทก์บังคับให้จำเลยเขียนสัญญากู้ 80,000 บาท และโจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยอัตราร้อยละ 8 ต่อเดือน เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้วโดยโจทก์เขียนหนังสือรับรองการชำระหนี้ให้แก่จำเลยไว้ด้วย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 114,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 80,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 29 พฤศจิกายน 2543) ไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้โจทก์และจำเลยฟังเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2549 คู่ความย่อมมีอำนาจฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้ภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 247 ซึ่งจะครบกำหนดฎีกาในวันที่ 26 พฤษภาคม 2549 ต่อมาวันที่ 24 พฤษภาคม 2549 ทนายโจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอขยายระยะเวลาฎีกาออกไปอีก 30 วัน นับแต่วันที่ยื่นคำร้องนี้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตตามขอ ระยะเวลาที่ขอขยายออกไปจึงให้เริ่มนับแต่วันที่ยื่นคำร้องคือวันที่ 24 พฤษภาคม 2549 โดยเริ่มนับหนึ่งตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2549 และจะครบ 30 วัน ในวันที่ 23 มิถุนายน 2549 ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้ภายในวันที่ 23 มิถุนายน 2549 แต่ปรากฏว่าโจทก์เพิ่งมายื่นคำร้องขอให้รับรองฎีกาและยื่นฎีกาต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2549 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่พ้นกำหนดระยะเวลาฎีกาแล้ว แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฎีกาของโจทก์ไว้ก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
อนึ่ง ที่จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งรับฎีกาของโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ยื่นฎีกาเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว ฎีกาของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้มีคำสั่งไม่รับฎีกานั้น เห็นว่า ในเรื่องนี้จำเลยชอบที่จะโต้แย้งเป็นประเด็นมาในคำแก้ฎีกา ซึ่งจำเลยก็ได้ตั้งประเด็นในเรื่องนี้มาในคำแก้ฎีกาแล้ว จำเลยจะมายื่นคำร้องแยกต่างหากขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งรับฎีกาหาได้ไม่”
พิพากษายกฎีกาโจทก์ และให้ยกคำร้องของจำเลยเสียด้วย