คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6025/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้โจทก์จะมีส่วนก่อเหตุ โดยเฉพาะกับจำเลยที่เป็นพ่อตาโจทก์ที่ถูกโจทก์กระทำไม่สมควรอย่างยิ่ง แต่การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงโจทก์อันถือว่าเป็นการกระทำของจำเลยที่ร้ายแรงมากกว่าการกระทำของโจทก์ที่เป็นผู้ก่อเหตุคดีนี้ ตามข้อเท็จจริงที่รับฟังมาได้แล้วว่า การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ จึงเป็นการที่จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์แล้ว กรณีหาใช่ว่าเป็นความยินยอมของโจทก์ไม่ จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 442 ประกอบด้วยมาตรา 223

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 3,000,000 บาท และให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 400,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 682,530.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 400,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 25 มกราคม 2538) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมศาลที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถานั้น ให้จำเลยนำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์เฉพาะค่าขึ้นศาลเท่าที่โจทก์ชนะคดี
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ โดยโจทก์ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 694,414.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 44,414.50 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 25 มกราคม 2538) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความยอมรับกันให้ถือข้อเท็จจริงในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1092/2537 ของศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นคดีของศาลฎีกาตามคำพิพากษาฎีกาที่ 5864/2543 อันเป็นยุติถึงที่สุด ให้มารับฟังได้ว่าโจทก์เป็นสามีนางเนติมาบุตรจำเลย มีบุตรด้วยกัน 1 คน ชื่อเด็กชาย ธ.โจทก์มีเรื่องทะเลาะกับนางเนติมาอยู่เสมอ ขณะเกิดเหตุโจทก์อายุประมาณ 26 ปี โจทก์จึงเป็นบุตรเขย จำเลยเป็นพ่อตา เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2537 เวลากลางคืน โจทก์ไปรับเด็กชาย ธ. จากบ้านจำเลยไปฝากผู้อื่นแล้วย้อนกลับมาหานางเนติมาที่บ้านจำเลยอีกแต่ไม่พบ จำเลยออกมาจากบ้านจำเลยด้วยเพื่อตามหานางเนติมาที่ตู้โทรศัพท์สาธารณะข้างหมู่บ้าน เมื่อไม่พบนางเนติมา ระหว่างกลับบ้านจำเลยเกิดโต้เถียงกับโจทก์เรื่องนางเนติมามีชู้หรือไม่ โจทก์ต่อยเข้าที่หูซ้ายของจำเลย จำเลยได้วิ่งเข้าบ้านปิดประตูรั้วใส่กลอนและกุญแจ โจทก์เขย่าประตูตะโกนว่า “มึงหนีกูพ้นหรือ” พร้อมกับเดินไปปีนรั้ว จำเลยไปหยิบอาวุธปืนมายิงขึ้นฟ้า 1 นัด โจทก์ยังปีนข้ามรั้วเข้ามา จำเลยจึงยิงโจทก์อีก 1 นัด เช่นนี้ จำเลยย่อมต้องกลัวโจทก์ทำอันตราย เห็นได้ว่า ภยันตรายที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายเกิดขึ้นและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง แต่โจทก์ไม่มีอาวุธแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ถูกที่คอโดยมีเจตนาฆ่าดังกล่าว จึงเป็นการป้องกันที่เกินสมควรแก่เหตุ การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นเหตุให้โจทก์เป็นอัมพาต ต้องทุพพลภาพตลอดชีวิต ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ ที่จำเลยฎีกาอ้างว่า เหตุละเมิดเกิดจากการกระทำของโจทก์และโจทก์ก็ยอมรับความเสียหายแก่ตนเอง การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันนั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะมีส่วนก่อเหตุ โดยเฉพาะกับจำเลยที่เป็นพ่อตาโจทก์ที่ถูกโจทก์กระทำไม่สมควรอย่างยิ่ง แต่การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงโจทก์อันถือว่าเป็นการกระทำของจำเลยที่ร้ายแรงมากกว่าการกระทำของโจทก์ที่เป็นผู้ก่อเหตุคดีนี้ตามข้อเท็จจริงที่รับฟังมาได้แล้วว่า การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ จึงเป็นการที่จำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์แล้ว กรณีหาใช่ว่าเป็นความยินยอมของโจทก์ไม่ จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 442 ประกอบด้วยมาตรา 223 ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า จำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพียงใด ที่จำเลยฎีกาอ้างว่า โจทก์นำสืบค่าเสียหายลอย ๆ เป็นการคาดคะเนที่ไม่แน่ว่าจะได้จริงตามที่โจทก์ขอหรือไม่นั้น เห็นว่า ศาลตรวจดูค่าเสียหายจากค่ารักษาพยาบาลตามใบเสร็จรับเงินที่โจทก์นำสืบมา โดยดูจากใบเสร็จรับเงินซึ่งเป็นค่ารักษาพยาบาลที่มีชื่อโจทก์เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลนนทเวชตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2537 ถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2537 คิดได้เป็นเงิน 125,949 บาท ค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ เมื่อหักใบเสร็จรับเงินที่ซ้ำกันออกแล้วได้เป็นเงิน 30,107 บาท และค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าเป็นเงิน 21,602 บาท ซึ่งเป็นค่ารักษาพยาบาล ตามใบเสร็จรับเงิน รวมค่ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลทั้งสามแห่งดังกล่าวเป็นเงิน 177,658 บาท จึงกำหนดให้ตามที่มีหลักฐานใบเสร็จรับเงินที่คิดได้เป็นเงินรวม 177,658 บาท ส่วนค่าเสียหายที่เป็นค่าขาดประโยชน์จากรายได้ โจทก์ขอมาเดือนละ 15,000 บาท เป็นเวลา 10 ปี เป็นเงิน 1,800,000 บาท และหลังเกิดเหตุโจทก์เป็นอัมพาตต้องทุพพลภาพตลอดชีวิต โจทก์ต้องทำกายภาพบำบัดเป็นประจำและต้องมีคนคอยดูแลการทำกายภาพบำบัดนั้น อาจไปทำที่โรงพยาบาลหรือการนวดอยู่ที่บ้านโดยญาติพี่น้องหรือว่าจ้างผู้อื่นค่าเสียหายส่วนนี้โจทก์ขอมาเป็นเงิน 800,000 บาท นั้น ได้ความว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์มีรายได้จากการเป็นลูกจ้างของบริษัทสินมั่นคงประกันภัย จำกัด เดือนละ 6,558 บาท กับโบนัสปีละ 3 เท่าของเงินเดือน ตามหนังสือรับรองเงินเดือนที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าขาดประโยชน์จากรายได้เนื่องจากไม่สามารถประกอบการงานได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชน์ มาตรา 444 ประกอบด้วยมาตรา 446 และค่าเสียหายที่โจทก์เป็นอัมพาตต้องทุพพลภาพตลอดชีวิต โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันมิใช่ตัวเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 446 แต่พยานโจทก์ที่นำสืบค่าเสียหายทั้งสองส่วนมานั้นไม่ชัดเจน ที่โจทก์ขอมาทั้งสองส่วนดังกล่าวรวมเป็นเงิน 2,600,000 บาท จึงกำหนดตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดให้รวมเป็นเงิน 1,600,000 บาท โจทก์มีส่วนก่อเหตุละเมิดตามปัญหาประการแรกที่ได้วินิจฉัยและศาลล่างทั้งสองกำหนดไว้ จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์หนึ่งในสี่ส่วน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชน์ มาตรา 442 ประกอบด้วยมาตรา 223 นับว่าเป็นการกำหนดให้จำเลยต้องรับผิดเหมาะสมแล้ว เมื่อคิดแล้วค่ารักษาพยาบาลที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นเงิน 44,414.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปตามคำขอของโจทก์ ค่าขาดประโยชน์ รายได้และค่าเป็นอัมพาตต้องทุพพลภาพคิดได้เป็นเงิน 400,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งหมด 444,414.50 บาท ซึ่งจำเลยต้องรับผิดในค่าเสียหายต่อโจทก์ดังกล่าว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 444,414.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 44.414.50 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 25 มกราคม 2538) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share