แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
หนังสือสัญญากู้เงินมีใจความว่า ผู้กู้ยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้เป็นรายเดือนสำหรับเงินกู้ตามสัญญานี้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี หรือตามอัตราดอกเบี้ยใหม่ ซึ่งผู้ให้กู้อาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นหรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวได้ และผู้กู้ยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยใหม่ตามประกาศธนาคารของผู้ให้กู้ เป็นข้อตกลงให้โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองได้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ในระหว่างสัญญาตามประกาศกระทรวงการคลังเรื่องการกำหนดสถาบันการเงินและอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืม (ฉบับที่ 5) ฯ ที่กำหนดให้ธนาคารโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากผู้กู้ยืมได้ในอัตราสูงสุดไม่เกินร้อยละ 19 ต่อปี โดยไม่มีข้อกำหนดให้ต้องประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยแต่ประการใด ส่วนประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ซึ่งมีข้อกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ต้องประกาศอัตราดอกเบี้ยทั่วไปที่เรียกจากลูกค้า และอัตราดอกเบี้ยผิดนัดที่เรียกจากลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขและจะเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าประกาศไม่ได้นั้น ใช้บังคับเฉพาะกรณีของธนาคารที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการธนาคารพาณิชย์ตาม พ.ร.บ.ธนาคารพาณิชย์ ฯ เท่านั้น ไม่รวมถึงโจทก์ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดย พ.ร.บ.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ฯ ประกาศเรื่องกำหนดอัตราดอกเบี้ยของโจทก์จึงเป็นเพียงระเบียบบริหารงานของโจทก์ที่ประกาศให้ลูกค้าทราบเพื่อประโยชน์ในการติดต่อกับธนาคารเท่านั้น ไม่มีผลบังคับเหมือนเช่นกรณีธนาคารพาณิชย์ที่เมื่อประกาศแล้วมีผลเป็นการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมายและตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าว แม้ในทางปฏิบัติระหว่างโจทก์กับจำเลยจะปรากฏว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยในระยะเริ่มแรกเพียงอัตราร้อยละ 14 ต่อปี และปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งโดยคิดอัตราต่ำกว่าที่ระบุไว้ในสัญญากู้เงินก็เป็นข้อปฏิบัติในลักษณะที่โจทก์ให้ประโยชน์แก่จำเลยนอกเหนือจากข้อตกลงในสัญญา และเมื่อจำเลยผิดนัดชำระหนี้ โจทก์ได้กลับไปคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตามข้อตกลงในสัญญาก็เป็นสิทธิของโจทก์ที่จะไม่ยอมให้ประโยชน์แก่จำเลยอีกต่อไป การที่โจทก์เรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตามสัญญากู้เงิน โดยมิได้ประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยนี้ก่อน จึงไม่ขัดต่อกฎหมายและมีผลบังคับกันได้
สัญญากู้เงินกำหนดให้ผู้กู้ต้องจัดการเอาประกันภัยทรัพย์ที่จำนองโดยผู้ให้กู้เป็นผู้รับประโยชน์ และในกรณีที่ผู้กู้มิได้จัดทำประกันภัย แต่ผู้ให้กู้เป็นผู้จัดทำประกันภัยแทนผู้กู้ ผู้กู้ยินยอมชำระเงินค่าธรรมเนียมและเบี้ยประกันภัยคืนให้แก่ผู้ให้กู้ก่อนการชำระหนี้ตามสัญญากู้นั้น ข้อสัญญาดังกล่าวจะต้องเป็นหนี้ค่าเบี้ยประกันภัยที่ผู้ให้กู้ได้ชำระแทนไปแล้ว แต่หนี้ค่าเบี้ยประกันภัยภายหลังจากวันฟ้องนั้นเป็นหนี้ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดชำระอันเป็นหนี้ในอนาคตและจะถือว่าจำเลยละเลยไม่ชำระหนี้ของตนยังไม่ได้ กรณีจึงยังไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ระหว่างโจทก์กับจำเลย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 521,058.14 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 438,960.67 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเบี้ยประกันภัยจำนวน 1,660 บาท ทุกวันที่ 2 เมษายน ของทุกสามปี เริ่มชำระตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหรือชำระหนี้ไม่ครบถ้วน ให้ยึดห้องชุดเลขที่ 56/850 ชั้นที่ 2 อาคารเลขที่ 1 ชื่ออาคารชุดลำสาลีแมนชั้น ตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 70976 ตำบลหัวหมาก (หัวหมากใต้) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 438,960.67 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ครบถ้วน ให้ยึดห้องชุดเลขที่ 56/850 ชั้นที่ 2 อาคารเลขที่ 1 อาคารชุดลำสาลีแมนชั่น ตั้งอยู่ที่ดินโฉนดเลขที่ 70976 ตำบลหัวหมาก (หัวหมากใต้) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2541 จำเลยทั้งสองทำสัญญากู้เงินและรับเงินไปจากโจทก์จำนวน 452,000 บาท เพื่อซื้อห้องชุด ตกลงคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี หรือตามอัตราดอกเบี้ยใหม่ซึ่งโจทก์อาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นหรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ข้างต้น และจำเลยทั้งสองยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราดอกเบี้ยใหม่ตามประกาศธนาคาร ซึ่งโจทก์ไม่จำต้องแจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบล่วงหน้าโดยจำเลยทั้งสองจะชำระต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นอัตรารายเดือนไม่ต่ำกว่าเดือนละ 6,350 บาท ภายในทุกวันที่ทำสัญญากู้เงิน เริ่มชำระตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2541 เป็นต้นไปโดยชำระให้เสร็จสิ้นภายใน 15 ปี นับแต่วันทำสัญญากู้ยืม คดีมีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า ข้อตกลงที่ให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตามที่ระบุไว้ในสัญญากู้เงินตกเป็นโมฆะหรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า การคิดอัตราดอกเบี้ยของโจทก์เป็นการคิดตามข้อตกลงกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาและโดยอาศัยกฎหมายที่โจทก์มีสิทธิคิดได้ มิได้เกินกว่าประกาศธนาคารโจทก์ จึงไม่ตกเป็นโมฆะ เห็นว่า ตามหนังสือสัญญากู้เงิน ข้อ 1 วรรคสอง มีใจความว่าผู้กู้ยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้เป็นรายเดือนสำหรับเงินกู้ตามสัญญานี้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี หรือตามอัตราดอกเบี้ยใหม่ ซึ่งผู้ให้กู้อาจเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นหรือต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ข้างต้นนี้ และผู้กู้ยินยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยใหม่ตามประกาศธนาคาร สัญญาดังกล่าวเป็นข้อตกลงให้โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองได้ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ในระหว่างสัญญาโดยอนุวัตตามประกาศกระทรวงการคลังเรื่องการกำหนดสถาบันการเงินและอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืม (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2535 ที่กำหนดให้ธนาคารโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากผู้กู้ยืมได้ในอัราสูงสุดไม่เกินร้อยละ 19 ต่อปี โดยไม่มีข้อกำหนดให้ต้องประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยแต่ประการใด ส่วนประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ซึ่งมีข้อกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ต้องประกาศอัตราดอกเบี้ยทั่วไปที่เรียกจากลูกค้า และอัตราดอกเบี้ยผิดนัดที่เรียกจากลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขและจะเรียกดอกเบี้ยเกินกว่าประกาศไม่ได้นั้น ใช้บังคับเฉพาะกรณีของธนาคารที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการธนาคารพาณิชย์ตามพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ ฯ เท่านั้น ไม่รวมถึงโจทก์ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์ พ.ศ.2496 ประกาศเรื่องกำหนดอัตราดอกเบี้ยของโจทก์จึงเป็นเพียงระเบียบบริหารงานของโจทก์ที่ประกอบให้ลูกค้าทราบเพื่อประโยชน์ในการติดต่อกับธนาคารเท่านั้น ไม่มีผลบังคับเหมือนเช่นกรณีธนาคารพาณิชย์ที่เมื่อประกาศแล้วมีผลเป็นการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามกฎหมายและตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าว ดังนั้น แม้ในทางปฏิบัติระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองจะปรากฏว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยในระยะเริ่มแรกเพียงอัตราร้อยละ 14 ต่อปี และปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งโดยคิดอัตราต่ำกว่าที่ระบุไว้ในสัญญากู้เงินก็เป็นข้อปฏิบัติในลักษณะที่โจทก์ให้ประโยชน์แก่จำเลยทั้งสองนอกเหนือจากข้อตกลงในสัญญา และเมื่อจำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ โจทก์ได้กลับไปคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตามข้อตกลงในสัญญาก็เป็นสิทธิของโจทก์ที่จะไม่ยอมให้ประโยชน์แก่จำเลยทั้งสองอีกต่อไป การที่โจทก์เรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตามสัญญากู้เงินข้อ 1 วรรคสอง โดยมิได้ประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยนี้ก่อน จึงไม่ขัดต่อกฎหมายและมีผลบังคับกันได้ ดังนั้น การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองตามบัญชีเงินกู้ จึงเป็นการถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การที่โจทก์กำหนดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ตามสัญญากู้เงินข้อ 1 วรรคสอง ตกเป็นโมฆะนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น
คดีมีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ข้อสุดท้ายว่า จำเลยทั้งสองจะต้องชำระค่าเบี้ยประกันภัยภายหลังวันฟ้องแก่โจทก์หรือไม่นั้น เห็นว่า ตามสัญญากู้เงินข้อ 5 กำหนดให้ผู้กู้ต้องจัดการเอาประกันภัยทรัพย์ที่จำนองโดยผู้ให้กู้เป็นผู้รับประโยชน์ และในกรณีที่ผู้กู้มิได้จัดทำประกันภัย แต่ผู้ให้กู้เป็นผู้จัดทำประกันภัยแทนผู้กู้ ผู้กู้ยินยอมชำระเงินค่าธรรมเนียมและเบี้ยประกันภัยคืนให้แก่ผู้ให้กู้ก่อนการชำระหนี้ตามสัญญากู้นั้น กรณีดังกล่าวจะต้องเป็นหนี้ค่าเบี้ยประกันภัยที่ผู้ให้กู้ได้ชำระแทนไปแล้ว แต่ที่โจทก์ขอมาตามฟ้องเป็นหนี้ค่าเบี้ยประกันภัยภายหลังจากวันฟ้องนั้น เป็นหนี้ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดชำระอันเป็นหนี้ในอนาคตและจะถือว่าจำเลยทั้งสองละเลยไม่ชำระหนี้ของตนยังไม่ได้ กรณีจึงยังไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองตามกฎหมายที่โจทก์จะนำมาใช้เป็นข้ออ้างฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระหนี้ดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำขอส่วนนี้จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 521,058.14 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 434,960.67 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์