คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7887/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คพิพาท 7 ฉบับ ให้แก่โจทก์ เพื่อเป็นการชำระหนี้ตามกฎหมายที่มีอยู่จริง ที่เกิดจากการซื้อขายสินค้าประเภทเครื่องสำอาง คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวได้บรรยายข้อเท็จจริงแล้วว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ค่าสินค้าประเภทเครื่องสำอางอันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 แล้ว แม้โจทก์จะไม่ได้แนบเอกสารที่แสดงถึงมูลหนี้มาท้ายฟ้องด้วยก็ตาม เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่สามารถนำสืบในชั้นพิจารณา คำฟ้องโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อประมาณต้นเดือนพฤศจิกายน 2539 วันและเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาหนองคาย จำนวน 7 ฉบับ เพื่อชำระหนี้ค่าสินค้าประเภทเครื่องสำอางอันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงให้แก่โจทก์ เมื่อเช็คถึงกำหนดชำระ โจทก์นำเช็คทั้งเจ็ดฉบับไปเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ธนาคารซิตี้แบงก์ เอ็น. เอ. สำนักงานใหญ่ เพื่อให้เรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ฉบับแรกถึงฉบับที่ 5 เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2539 ฉบับที่ 6 และฉบับที่ 7 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2539 โดยให้เหตุผลว่ามีคำสั่งให้ระงับการจ่าย โจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย จำเลยมีเจตนาออกเช็คที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คหรือในขณะที่ออกเช็คไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ หรือให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คหรือถอนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนออกจากบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็คจนจำนวนเหลือไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็คได้ หรือห้ามธนาคารมิให้ให้เงินตามเช็คโดยเจตนาทุจริต เหตุเกิดที่ตำบลในเมือง อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 รวม 7 กระทง จำคุกกระทงละ 2 เดือน เรียงกระทงลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวมจำคุก 14 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีกาฟังยุติได้ว่า จำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ตำแหน่งผู้จัดการเขตจังหวัดหนองคายมาตั้งแต่ปี 2536 จนถึงวันที่จำเลยลาออกคือวันที่ 18 พฤศจิกายน 2539 ผู้จัดการเขตมีหน้าที่รับสมัครตัวแทนขายเครื่องสำอางของโจทก์หรือสาวมิสทินและตรวจสอบที่อยู่ผู้สมัครให้ตรงกับบัตรประจำตัวประชาชนแล้วส่งเอกสารให้โจทก์เพื่อตรวจสอบขึ้นทะเบียนเป็นตัวแทนขาย เมื่อเป็นตัวแทนขายแล้วมีสิทธิสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ไปขายได้ จำเลยได้แต่งตั้งตัวแทนขายแจ้งให้โจทก์ลงทะเบียนตัวแทนขายจำนวน 5 ราย คือ นางสุราง นางสุมาลี นางประทุมพร นางพิมพา และนางสาวรจนา ต่อมามีการสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์โดยระบุชื่อตัวแทนขายดังกล่าวเป็นผู้สั่งซื้อ ตามใบส่งสินค้า เมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน 2539 จำเลยลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาหนองคาย จำนวน 7 ฉบับ ฉบับแรกถึงฉบับที่ 5 ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2539 จำนวนเงิน 47,390 บาท 47,269 บาท 55,660 บาท 79,442 บาท และ 6,000 บาท ตามลำดับ ฉบับที่ 6 และฉบับที่ 7 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2539 จำนวนเงิน 162,089 บาท และ 167,360 บาท ตามลำดับ เมื่อเช็คถึงกำหนดชำระ โจทก์นำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โดยให้เหตุผลว่ามีคำสั่งให้ระงับการจ่าย ตามเช็คเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.9 และใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.10 ถึง จ. 16 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยข้อแรกว่า คำฟ้องโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ไม่ครบองค์ประกอบของความผิดเพราะมิได้ระบุข้อความว่าเป็นหนี้ที่บังคับได้ตามกฎหมาย และโจทก์ไม่ได้แนบเอกสารที่แสดงให้เห็นถึงมูลหนี้ซึ่งมีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เห็นว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องมีใจความว่า จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ 7 ฉบับ เป็นการชำระหนี้ตามกฎหมายที่มีอยู่จริง ที่เกิดจากการซื้อขายสินค้าประเภทเครื่องสำอาง คำบรรยายฟ้องของโจทก์ดังกล่าวได้บรรยายข้อเท็จจริงแล้วว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ค่าสินค้าเครื่องสำอางอันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 แล้ว แม้โจทก์จะไม่ได้แนบเอกสารที่แสดงถึงมูลหนี้มาท้ายฟ้องด้วยก็ตาม เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาคำฟ้องโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ข้อเท็จจริงตามที่ได้วินิจฉัยมาฟังได้ว่า จำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุกจำเลยสำหรับความผิดตามเช็คเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.7 กระทงละ 2 เดือน นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า หนักเกินไปเพราะจำนวนเงินตามเช็คดังกล่าวไม่มากนัก เห็นสมควรกำหนดโทษเสียใหม่ให้เหมาะสม
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับเช็คเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.6 จำคุกกระทงละ 1 เดือน รวม 4 กระทง เช็คเอกสารหมาย จ.7 จำคุก 15 วัน เมื่อรวมกับโทษจำคุกตามเช็คเอกสารหมาย จ.8 และ จ.9 กระทงละ 2 เดือน รวม 2 กระทง เข้าด้วยแล้ว เป็นจำคุก 8 เดือน 15 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4.

Share