คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 170/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นคำร้องขอเป็นคดีไม่มีข้อพิพาท ขอให้ศาลสั่งแสดงว่าที่ดินมีโฉนดเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยการครอบครอง
จำเลยยื่นคำคัดค้านเถียงกรรมสิทธิ์ ศาลชั้นต้นสั่งดำเนินคดีอย่างมีข้อพิพาทแย่งกรรมสิทธิ์ที่ดิน และได้เรียกค่าธรรมเนียมจากโจทก์ครบถ้วนแล้ว ดังนี้ ถือได้ว่าโจทก์ได้ฟ้องเรียกที่พิพาทจากจำเลย เมื่อศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี ศาลจะมีคำสั่งให้ขับไล่จำเลยก็ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(1) หาเป็นการเกินคำขอไม่

ย่อยาว

โจทก์ยื่นคำร้องว่า ที่ดินโฉนดที่ 7461 เดิมเป็นกรรมสิทธิ์ของนายแทนนางเทียบ นายแทนนางเทียบได้ถวายที่ดินแปลงนี้แก่โจทก์โจทก์ได้ครอบครองเป็นเจ้าของมาโดยสงบเปิดเผยเป็นเวลาประมาณ40 ปีแล้ว จึงขอให้ศาลแสดงว่าที่ดินแปลงนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์

นางแสวงยื่นคำร้องคัดค้านว่าที่ดินโฉนดที่ 7461 ไม่ใช่เป็นกรรมสิทธิ์ของนายแทนนางเทียบ ความจริงเป็นของพระยาสุรินทร์ฯพระยาสุรินทร์ฯ รับซื้อฝากจากนายแทนนางเทียนแล้วพระยาสุรินทร์ฯขายให้นายเข่งบิดาผู้ร้องคัดค้าน นายเข่งได้เข้าครอบครองโดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ เมื่อผู้ร้องคัดค้านอายุได้ 8 ปีนายเข่งบิดาได้ยกที่ดินแปลงนี้ให้ผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านจึงเข้าครอบครองโดยสงบและเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ และปลูกบ้านในที่นี้หนึ่งหลัง ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้องเสีย

ศาลชั้นต้นดำเนินคดีอย่างคดีมีข้อพิพาท เรียกผู้ร้องว่าโจทก์ผู้คัดค้านว่าจำเลย และฟังข้อเท็จจริงว่า นายแทนนางเทียบได้ยกที่พิพาทให้โจทก์ โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์โดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมากว่า 10 ปีแล้ว ที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์จำเลยปลูกเรือนอยู่ในฐานะอาศัยโจทก์ พิพากษาว่าที่ดินโฉนดที่ 7461 เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ให้จำเลยออกจากที่พิพาท ห้ามมิให้จำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องต่อไป

จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาเกินคำขอของโจทก์ คือ โจทก์ขอให้ศาลสั่งแสดงว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์เท่านั้นแต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาขับไล่จำเลยด้วย เป็นการไม่ชอบนั้นศาลฎีกาเห็นว่าคดีนี้จำเลยเถียงกรรมสิทธิ์ และศาลชั้นต้นสั่งดำเนินคดีอย่างมีข้อพิพาท แย่งกรรมสิทธิ์ที่ดิน โดยได้เรียกค่าธรรมเนียมจากโจทก์ครบถ้วนแล้ว จึงถือได้ว่าโจทก์ได้ฟ้องเรียกที่พิพาทจากจำเลย เมื่อศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี ศาลจะมีคำสั่งให้ขับไล่จำเลยก็ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(1) คำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share