แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
คดีก่อนจำเลยเป็นโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโจทก์คดีนี้โดยกล่าวอ้างว่าโจทก์เลิกจ้างจำเลยโดยไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นการฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 และศาลได้พิพากษาตามยอมถึงที่สุดไปแล้ว ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกเงินสำรองจากจำเลยโดยกล่าวหาว่าจำเลยเบิกเงินสำรองจากโจทก์ไปแล้วไม่ชำระคืน เป็นการฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาหรือข้อตกลง มูลกรณีซึ่งเป็นเหตุแห่งการฟ้องเรียกและประเด็นซึ่งจะต้องวินิจฉัย จึงต่างเหตุและต่างประเด็นไม่ใช่เป็นเรื่องที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ไม่เป็นฟ้องซ้ำ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้าง คืนเงินสำรองที่เบิกไปพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำและจำเลยขนสินค้าให้โจทก์ จะได้ค่าผลประโยชน์ตอบแทนการขายมากกว่าเงินสำรองตามฟ้อง ขอให้โจทก์ชำระค่าตอบแทนการขายที่ได้หักเงินสำรองตามฟ้องแล้ว ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินพร้อมดอกเบี้ย จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความเป็นยุติว่า จำเลยเข้าทำงานเป็นลูกจ้างของโจทก์ในตำแหน่งพนักงานขายโดยมีข้อตกลงว่าจำเลยมีสิทธิเบิกเงินสำรองจากโจทก์สัปดาห์ละ1,250 บาท ปรากฏตามรายละเอียดตามเงื่อนไขและสัญญาเอกสารหมาย จ.3ในระหว่างที่จำเลยเป็นลูกจ้างของโจทก์ จำเลยได้เบิกเงินสำรองไปจากโจทก์รวมเป็นเงิน 64,123 บาท ต่อมาโจทก์ได้เลิกจ้างจำเลยจำเลยจึงฟ้องโจทก์เรียกค่าเสียหายโดยกล่าวหาว่าโจทก์เลิกจ้างจำเลยไม่เป็นธรรม โจทก์ให้การต่อสู้คดี แต่ในที่สุดโจทก์ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลย โดยยอมชำระเงินจำนวนหนึ่งให้แก่จำเลย ศาลแรงงานกลางได้พิพากษาตามยอมให้คดีเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 4050/2529 ของศาลแรงงานกลางอนึ่งในระหว่างที่จำเลยเป็นลูกจ้างของโจทก์ จำเลยได้ขายสินค้าของโจทก์ให้แก่ลูกค้าซึ่งจำเลยมีสิทธิได้รับเปอร์เซนต์การขายเป็นเงิน 8,527.20 บาท และโจทก์ยังมิได้ชำระให้แก่จำเลย
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อแรกของจำเลยว่า ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 4050/2529 ของศาลแรงงานกลางหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่จำเลยฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ในคดีก่อนโดยกล่าวอ้างว่าโจทก์เลิกจ้างจำเลยโดยไม่เป็นธรรมนั้น เป็นการฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49ส่วนคดีนี้การที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินสำรองจากจำเลยโดยกล่าวหาว่าจำเลยเบิกเงินสำรองจากโจทก์ไปแล้วไม่ชำระคืนนั้น เป็นการฟ้องโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาหรือข้อตกลง มูลกรณีซึ่งเป็นเหตุแห่งการฟ้องเรียกและประเด็นซึ่งจะต้องวินิจฉัยจึงต่างเหตุและต่างประเด็นไม่ใช่เป็นเรื่องที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน แม้ว่าในคดีก่อนจำเลยบรรยายฟ้องว่าเงินสำรองส่วนหนึ่งของค่าจ้างซึ่งโจทก์จ่ายให้แก่จำเลย แต่ในคดีก่อนโจทก์และจำเลยก็มิได้ตกลงกันว่าเงินสำรองเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง ฉะนั้นจะถือว่าปัญหาเรื่องเงินสำรองศาลได้วินิจฉัยชี้ขาดไปครั้งหนึ่ง ซึ่งมีผลผูกพันคู่ความหาได้ไม่ ฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 4050/2529 ของศาลแรงงานกลาง
ปัญหาต่อไปมีว่า เงินสำรองเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างซึ่งโจทก์ต้องจ่ายให้แก่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า ตามเงื่อนไขและสัญญาเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งกำหนดไว้ในข้อ 6 ว่า “การเบิกเงินสำรองเพื่อใช้จ่ายของผู้ขายให้เบิกได้จากค่าคอมฯ ของงานจากเช็คที่ผ่านการเก็บเรียบร้อยแล้วเท่านั้น การเบิกเงินล่วงหน้าเบิกได้อาทิตย์ละ1,250 บาท” นั้นย่อมมีความหมายอยู่ในตัวว่าโจทก์อนุญาตให้จำเลยเบิกเงินสำรองเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการขายสินค้าเป็นการชั่วคราว มิใช่อนุญาตให้จำเลยเบิกมาเป็นประโยชน์ส่วนตัวของจำเลย ทั้งตามข้อเท็จจริงซึ่งศาลแรงงานกลางฟังว่าเงินสำรองซึ่งจำเลยเบิกไปจากโจทก์นั้น ต้องหักกับผลประโยชน์ซึ่งจำเลยจะได้รับแสดงให้เห็นว่ากรณีที่จำเลยเบิกเงินสำรองไปจากโจทก์แล้ว หากจำเลยไม่มีผลประโยชน์ซึ่งจะได้รับเพื่อหักกลบลบหนี้แล้ว จำเลยมีหน้าที่ต้องคืนให้แก่โจทก์ เงินสำรองจึงมิใช่เป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง จำเลยจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่คืนแก่โจทก์หาได้ไม่”
พิพากษายืน