แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้คดีว่า ที่ดินพิพาทเป็นของ ห. บิดาจำเลยที่ 1 เมื่อ ห. ถึงแก่ความตายที่ดินพิพาทจึงเป็นมรดกตกได้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งได้ครอบครองมาตั้งแต่ปี2524 ดังนี้ ตามคำให้การจำเลยที่ 1 เป็นการอ้างว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทอยู่แล้ว กรณีหาใช่การแย่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1375 ไม่ เพราะการแย่งการครอบครองจะมีได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องแย่งการครอบครอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน โดยบิดาชื่อนายหอม สพสิงห์ มารดาชื่อนางสี สพสิงห์ บิดามารดามีบุตรด้วยกันรวม 6 คนนายหอมถึงแก่ความตาย มีที่ดินเป็นมรดกตกได้แก่โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ปรากฏว่าก่อนนายหอมตาย จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันเขียนและปลอมลายมือชื่อของนายหอมจัดทำพินัยกรรมขึ้น 1 ฉบับ มีข้อความระบุยกที่ดินมรดกดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียว จากนั้นจำเลยที่ 1 คบคิดกับจำเลยที่ 2 จดทะเบียนขายที่ดินมรดกแปลงนี้ให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 120,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าความเป็นจริง การกระทำของจำเลยที่ 1เป็นการเบียดบังทรัพย์มรดกเป็นของตนเองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสองบอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองโอนทรัพย์มรดกนั้นคืนแก่โจทก์ทั้งสองและทายาทตามกฎหมายของผู้ตาย แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้พิพากษาว่าพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 5 มกราคม2521 ของนายหอม สพสิงห์ เป็นพินัยกรรมปลอม ให้กำจัดจำเลยที่ 1 มิให้รับมรดกของนายหอม ให้แบ่งที่ดินมรดกแก่ทายาทของนายหอม เว้นแต่จำเลยที่ 1 ซึ่งถูกกำจัดมิให้รับมรดกและการซื้อขายและโอนทะเบียนที่ดินดังกล่าวระหว่างจำเลยทั้งสองเป็นโมฆะให้เพิกถอน น.ส.3 ก. เลขที่ 3926 กับให้จำเลยที่ 2 และบริวารออกจากที่ดินมรดกของนายหอม
จำเลยที่ 1 ให้การว่า นายหอมทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียว โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกร้องขอแบ่งทรัพย์มรดกเกินกว่า 1 ปี นับแต่นายหอมถึงแก่ความตาย และฟ้องเกินกว่า 10 ปี นับแต่นายหอมถึงแก่ความตาย และจำเลยที่ 1 ได้ครอบครองที่ดินพิพาทเมื่อปี 2524 โจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2534 เกิน1 ปีแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ราคาที่ดินที่ซื้อขายกันเหมาะสมและสูงกว่าราคาประเมินของทางราชการเมื่อซื้อที่ดินมาแล้ว จำเลยที่ 2 ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนขายที่ดินระหว่างจำเลยทั้งสองให้จำเลยที่ 2 และบริวารออกจากที่ดินพิพาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้ฟ้องเรียกที่ดินคืนภายใน1 ปีนับแต่จำเลยที่ 1 แย่งการครอบครอง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้คดีว่า ที่ดินพิพาทเป็นมรดกนายหอมบิดาจำเลยที่ 1 เมื่อนายหอมถึงแก่ความตายที่ดินพิพาทเป็นมรดกนายหอมตกได้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทตามพินัยกรรมที่นายหอมทำไว้ จำเลยที่ 1 ได้ครอบครองตั้งแต่ปี 2524 ดังนี้ตามคำให้การจำเลยที่ 1 เป็นการอ้างว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทอยู่แล้ว กรณีหาใช่การแย่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 ไม่ เพราะการแย่งการครอบครองจะมีได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องแย่งการครอบครอง ที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทข้อนี้และวินิจฉัยมาด้วย กับศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนในประเด็นดังกล่าว จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยที่ 2 รับซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนทั้งจดทะเบียนโดยสุจริต โจทก์จึงไม่มีเหตุจะให้เพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 เห็นว่า แม้จำเลยที่ 2 จะให้การในประเด็นนี้ไว้แต่ในชั้นชี้สองสถานเมื่อศาลชั้นต้นมิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ จำเลยทั้งสองมิได้โต้แย้งคัดค้านถือว่า จำเลยทั้งสองสละประเด็นดังกล่าวแล้ว จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาจำเลยทั้งสอง