คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6008/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 328 บัญญัติว่า “ถ้าลูกหนี้ต้องผูกพันต่อเจ้าหนี้ในอันจะกระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอย่างเดียวกันโดยมูลหนี้หลายราย และถ้าการที่ลูกหนี้ชำระหนี้นั้นไม่เพียงพอจะเปลื้องหนี้สินได้หมดทุกรายไซร้ เมื่อทำการชำระหนี้ ลูกหนี้ระบุว่าชำระหนี้สินรายใด ก็ให้หนี้สินรายนั้นเป็นอันได้เปลื้องไป ถ้าลูกหนี้ไม่ระบุ ท่านว่าหนี้สินรายใดถึงกำหนด ก็ให้รายนั้นเป็นอันได้เปลื้องไปก่อน…” แสดงว่ากฎหมายให้สิทธิแก่ลูกหนี้ที่จะระบุว่าจะชำระหนี้รายใดรายหนึ่งก็ได้ หรือไม่ระบุก็ได้ หากระบุไว้ก็ต้องชำระหนี้รายที่ระบุไว้นั้นตามความประสงค์ของลูกหนี้ เมื่อฟังว่าจำเลยออกเช็คตามใบส่งของอันเป็นการระบุโดยปริยายไว้แล้วว่าให้ชำระหนี้รายใดตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 328

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 361,657 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 355,090.42 บาท นับจากวันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยค้างชำระค่าสินค้าเพียง 24,624 บาท ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 355,090.42 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2542 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 6,566.58 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ 196,869.41 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธินำเงินตามเช็คเอกสารหมาย ล.2 ไปหักชำระหนี้อื่นที่ไม่ใช่หนี้ตามใบส่งของเอกสารหมาย จ.4 แผ่นที่ 1 ถึงที่ 3 หรือไม่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 328 บัญญัติว่า “ถ้าลูกหนี้ต้องผูกพันต่อเจ้าหนี้ในอันจะกระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอย่างเดียวกันโดยมูลหนี้หลายราย และถ้าการที่ลูกหนี้ชำระหนี้นั้นไม่เพียงพอจะเปลื้องหนี้สินได้หมดทุกรายไซร้ เมื่อทำการชำระหนี้ ลูกหนี้ระบุว่าชำระหนี้สินรายใด ก็ให้หนี้สินรายนั้นเป็นอันได้เปลื้องไป ถ้าลูกหนี้ไม่ระบุ ท่านว่าหนี้สินรายใดถึงกำหนดก็ให้รายนั้นเป็นอันได้เปลื้องไปก่อน…” แสดงว่า กฎหมายให้สิทธิแก่ลูกหนี้ที่จะระบุว่าจะชำระหนี้รายใดรายหนึ่งก็ได้ หรือไม่ระบุก็ได้ หากระบุใว้ก็ต้องชำระหนี้รายที่ระบุไว้นั้นตามความประสงค์ของลูกหนี้ สำหรับคดีนี้ พยานจำเลยคือ นายฉลองเบิกความว่า จำเลยออกเช็คเอกสารหมาย ล.2 ชำระค่าสินค้าตามใบส่งของเอกสารหมาย จ.4 แผ่นที่ 1 ถึงที่ 3 และปรากฏตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย ล.1 ว่าโจทก์ได้รับเช็คเอกสารหมาย ล.2 มีบันทึกเลขที่ใบส่งของ 3 ฉบับ ตรงตามเอกสารหมาย จ.4 แผ่นที่ 1 ถึง 3 ดังนี้ เมื่อจำเลยออกเช็คเอกสารหมาย ล.2 มีจำนวนเงินตรงกับจำนวนเงินในใบส่งของเอกสารหมาย จ.4 แผ่นที่ 1 ถึงที่ 3 และก่อนหน้านี้จำเลยก็เคยออกเช็คชำระหนี้ให้โจทก์ตามเอกสารหมาย ล.3 จำนวนเงิน 183,096.48 บาท ตรงกับจำนวนเงินในใบส่งของเอกสารหมาย จ.10 มาแล้ว ทั้งเมื่อคำนึงถึงทางปฏิบัติของจำเลยซึ่งเป็นบริษัทจำกัด การเสนอให้ผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเช็คลงชื่อสั่งจ่ายเช็ค พนักงานของจำเลยย่อมจะต้องเสนอใบส่งของให้ผู้สั่งจ่ายเช็คพิจารณาประกอบด้วย รูปคดีมีเหตุผลฟังได้ว่า จำเลยออกเช็คเอกสารหมาย ล.2 เพื่อชำระค่าสินค้าตามใบส่งของเอกสารหมาย จ.4 แผ่นที่ 1 ถึงที่ 3 อันเป็นการระบุโดยปริยายไว้แล้วว่าให้ชำระหนี้รายใดตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 328 ที่โจทก์ฎีกาว่าตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย ล.4 ระบุว่าจะนำเช็คไปชำระหนี้รายเก่าก่อนนั้น ปรากฏว่าเอกสารหมาย ล.4 ไม่ใช่ใบรับเช็คเอกสารหมาย ล.2 ฉะนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธินำเงินตามเช็คเอกสารหมาย ล.2 ไปหักชำระหนี้รายอื่น ซึ่งเมื่อนำจำนวนเงินตามเช็คเอกสารหมาย ล.2 ไปหักชำระหนี้ตามเอกสารหมาย จ.4 แผ่นที่ 1 ถึง 3 แล้ว จำเลยคงเป็นหนี้ค่าสินค้าตามฟ้องตามเอกสารหมาย จ.3 แผ่นที่ 4 ถึงที่ 6 เป็นเงิน 196,869.41 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นชอบด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share