คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9797/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การประกาศเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 26 แม้ทำให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจนำที่ดินนั้นมาใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมได้ แต่ไม่เป็นการถอนสภาพที่ดินที่มีผู้ได้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ก่อนวันที่ พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 ใช้บังคับ ดังนั้น แม้จะมีการประกาศเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมบริเวณที่ดินพิพาท แต่เมื่อจำเลยที่ 1 อ้างว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้ที่โต้แย้งสิทธิของจำเลยที่ 1 คือ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นเพียงผู้ได้รับอนุญาตให้ครอบครองทำประโยชน์ จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ของจำเลยที่ 1 และเมื่อจำเลยที่ 1 มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จึงฟังไม่ได้ว่ามีการละเมิด

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องและแก้ไขคำฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมในศาลชั้นต้นห้ามจำเลยทั้งสี่และบริวารเข้ามายุ่งเกี่ยวรบกวนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งสาม ให้จำเลยทั้งสี่และบริวารรื้อถอนโรงเรือนที่สร้างขึ้นในที่ดินของโจทก์ที่ 2 ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าต้นปาล์มน้ำมันและรั้วแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 1,286,000 บาท ชดใช้ค่าบ้านและทรัพย์สินที่ถูกทำลายแก่โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 3,353,500 บาท ชดใช้ค่าต้นปาล์มน้ำมัน หมาก มะพร้าว และกล้วยแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นเงิน 46,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินแต่ละจำนวนนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ละคน กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 เป็นรายเดือน เดือนละ 20,000 บาท และแก่โจทก์ที่ 2 เป็นรายเดือนเดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2552 จนกว่าจำเลยทั้งสี่และบริวารจะรื้อถอนโรงเรือนออกจากที่ดินพิพาทและเลิกเข้ายุ่งเกี่ยวรบกวนครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งสาม
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) เลขที่ 134 เล่ม 1 หน้า 27 ตำบล (สลุย) ทรัพย์อนันต์ อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร ห้ามจำเลยทั้งสี่และบริวารเข้ายุ่งเกี่ยวรบกวนการครอบครองที่พิพาทของโจทก์ทั้งสาม ให้จำเลยทั้งสี่และบริวารรื้อถอนโรงเรือนที่สร้างขึ้นในที่พิพาทด้านหน้าที่ดินของโจทก์ที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ร่วมกันชดใช้ค่าต้นปาล์มน้ำมันและรั้วให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 645,000 บาท ร่วมกันชดใช้ค่าบ้านและทรัพย์สินที่ถูกทำลายให้แก่โจทก์ที่ 3 เป็นเงิน 736,000 บาท และให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าต้นปาล์มน้ำมัน หมาก มะพร้าว และกล้วยให้แก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นเงิน 42,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินแต่ละจำนวน นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ละคน ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 เป็นรายเดือน เดือน ๆ ละ 6,000 บาท นับแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2552 ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 เป็นรายเดือน เดือนละ 13,000 บาทและแก่โจทก์ที่ 2 เป็นรายเดือน เดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์2552 จนกว่าจำเลยทั้งสี่และบริวารจะรื้อถอนโรงเรือนออกจากที่ดินพิพาทและเลิกเข้ายุ่งเกี่ยวรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งสาม สำหรับค่าธรรมเนียมศาลที่โจทก์ทั้งสามได้รับอนุญาตให้ยกเว้นนั้น ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ร่วมกันนำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์ทั้งสามตามทุนทรัพย์ส่วนที่โจทก์ทั้งสามชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 25,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องของโจทก์ทั้งสาม ค่าฤชาธรรมเนียม ทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 มีชื่อเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 134 หมู่ที่ 1 ตำบล (สลุย) ทรัพย์อนันต์ อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร เนื้อที่ประมาณ 25 ไร่ ซึ่งทางราชการออกให้ตั้งแต่ปี 2501 ตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เดิมที่ดินเป็นของนางเพียร ซึ่งนำแบบแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) ไปออกเอกสารสิทธิดังกล่าวเมื่อเดือนตุลาคม 2501 และมีการจดทะเบียนโอนขายให้แก่นายทรงศักดิ์ ต่อมานายทรงศักดิ์โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่พันเอกสุดสละ จากนั้นพันเอกสุดสละโอนขายต่อให้แก่จำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 1 เป็นมารดาโจทก์ที่ 3 และเป็นน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับโจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 1 ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01 ค) โจทก์ที่ 2 ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตามหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01 ค) ซึ่งสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดชุมพรออกให้เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2551 จำเลยที่ 1 นำรังวัดที่ดินพิพาทเพื่อขอออกโฉนดที่ดิน แต่โจทก์ที่ 1 คัดค้าน ที่ดินพิพาทตามแผนที่สังเขป
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามว่า โจทก์ที่ 1และที่ 2 หรือจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์ทั้งสามอ้างว่า บางส่วนเป็นที่ดินที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้รับหนังสืออนุญาตให้เข้าทำกินในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01 ค) กับมีบางส่วนที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ครอบครองด้านที่ติดถนนทางทิศใต้โดยไม่ได้ดำเนินการออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01 ค) แสดงว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2 อ้างว่ามีสิทธิในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 19 (7) บัญญัติให้คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมมีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรซึ่งจะมีสิทธิได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ทั้งนี้ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมแล้ว ที่ดินดังกล่าวย่อมตกเป็นของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นเพียงผู้ได้รับการคัดเลือกให้เข้าทำกินในเขตปฏิรูปที่ดินจึงไม่ใช่เจ้าของแท้จริงรวมตลอดถึงที่ดินบางส่วนที่อยู่ติดถนนด้านทิศใต้ที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 อ้างว่า ยังคงครอบครองทำประโยชน์นั้น เมื่อมีการดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินย่อมมีผลเป็นการเพิกถอนที่ดินสาธารณประโยชน์ที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ครอบครองซึ่งมีผลให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมเป็นเจ้าของส่วนนี้เช่นกัน ส่วนจำเลยที่ 1 ซึ่งอ้างสิทธิตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) โดยอ้างว่าบิดามารดาของนางเพียรครอบครองทำประโยชน์มาก่อนปี 2430 ก่อนที่จะมีการประกาศให้ที่ดินบริเวณดังกล่าวเป็นสาธารณประโยชน์และนางเพียรครอบครองทำประโยชน์ต่อมาตลอดจนเป็นผู้แจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) และดำเนินการออกเอกสารสิทธิหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เมื่อปี 2501 ดังนั้น ตราบใดที่ยังไม่มีการเพิกถอนเอกสารสิทธิดังกล่าวย่อมถือได้ว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท การที่มีการประกาศเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมในภายหลังตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 26 บัญญัติให้มีผลเป็นการถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน รวมทั้งมีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติ กับให้นำที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าหรือที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้ง หรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่นตามกฎหมายที่ดิน และที่ดินนั้นอยู่นอกเขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี จึงให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีอำนาจนำที่ดินนั้นมาใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมได้ แต่ทั้งนี้มิได้หมายถึงเป็นการถอนสภาพที่ดินที่มีผู้ได้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 ใช้บังคับ กับทั้งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติให้ผู้ที่ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ โดยไม่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินแจ้งการครอบครองที่ดินต่อนายอำเภอท้องที่ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาและวรรคสองบัญญัติว่า การแจ้งการครอบครองตามความในมาตรานี้ ไม่ก่อให้เกิดสิทธิขึ้นใหม่แก่ผู้แจ้งแต่ประการใด และประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 4 ยังบัญญัติว่าภายใต้บังคับมาตรา 6 บุคคลใดได้มาซึ่งสิทธิครอบครองในที่ดินก่อนวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับให้มีสิทธิครอบครองสืบไปและให้คุ้มครองตลอดถึงผู้รับโอนด้วยจากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การได้สิทธิครอบครองโดยชอบจะต้องเป็นการครอบครองโดยชอบก่อนพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ใช้บังคับ เมื่อจำเลยที่ 1 อ้างว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ออกโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้จะมีการประกาศเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมบริเวณที่ดินพิพาท ผู้ที่โต้แย้งสิทธิกับจำเลยที่ 1 คือ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นเพียงผู้ได้รับอนุญาตให้ครอบครองทำประโยชน์ จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ของจำเลยที่ 1 และเมื่อจำเลยที่ 1 มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จึงฟังไม่ได้ว่ามีการละเมิด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสามฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share