คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10597/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งตามมาตรา 124 แล้ว ถ้านายจ้าง ลูกจ้าง หรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายไม่พอใจคำสั่งนั้น ให้นำคดีไปสู่ศาลได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง” และวรรคสาม บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายนำคดีไปสู่ศาล นายจ้างต้องวางเงินต่อศาลตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งนั้น จึงจะฟ้องคดีได้” เมื่อปรากฏว่าจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างอันเป็นคำสั่งตามมาตรา 124 และเมื่อโจทก์ต้องการฟ้องเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวโดยอ้างว่าการส่งเอกสารของจำเลยให้แก่โจทก์เพื่อไปชี้แจงข้อเท็จจริงไม่ชอบด้วยมาตรา 143 ซึ่งไม่ว่าจะเป็นจริงและรับฟังได้ตามข้ออ้างของโจทก์หรือไม่ก็ตาม โจทก์ก็มีคำขอเพิกถอนคำสั่งของจำเลยซึ่งสั่งตามมาตรา 124 ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างจึงต้องวางเงินตามมาตรา 125 วรรคสาม ทันทีที่ยื่นฟ้อง ทั้งการที่ศาลแรงงานภาค 9 ให้เวลาโจทก์นำเงินมาวางศาลนับแต่โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2555 จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2555 นับเป็นผลดีแก่โจทก์ เมื่อโจทก์ไม่วางเงินภายในกำหนดตามที่ศาลสั่งเป็นเหตุให้ศาลแรงงานภาค 9 มีคำสั่งไม่รับฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 3/2555 ลงวันที่ 3 เมษายน 2555 และให้สอบข้อเท็จจริงฝ่ายโจทก์ใหม่
ศาลแรงงานภาค 9 มีคำสั่งว่า แม้โจทก์ฟ้องโดยอ้างสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ว่า จำเลยส่งคำสั่งที่ให้โจทก์จ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยกำหนดจ่ายแก่ลูกจ้าง ให้แก่โจทก์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่ก็มีผลเป็นการขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวของจำเลย ซึ่งโจทก์ต้องนำเงินตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายมาวางต่อศาล เมื่อพิจารณาถึงจำนวนเงินที่ถึงกำหนดจ่ายเป็นเงินจำนวนมากถึง 14,616,149 บาท แล้ว เห็นสมควรให้โจทก์นำเงินตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายดังกล่าวมาวางต่อศาลภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2555 มิฉะนั้น ศาลไม่รับคำฟ้อง
ครั้นถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2555 เจ้าหน้าที่ศาลแรงงานภาค 9 รายงานว่าจำเลยไม่วางเงินภายในกำหนด ศาลแรงงานภาค 9 มีคำสั่งว่า ผู้ฟ้องมิได้นำเงินตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายมาวางศาลภายในกำหนดระยะเวลาที่ศาลได้กำหนดไว้ จึงไม่รับคำฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าศาลแรงงานภาค 9 ต้องรับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่ได้ฟ้องเพื่อโต้แย้งคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานด้วยเหตุไม่พอใจคำสั่ง ตามมาตรา 125 อันต้องวางเงินต่อศาล แต่เป็นการฟ้องว่าพนักงานตรวจแรงงานไม่ปฏิบัติตามมาตรา 143 คำสั่งของศาลแรงงานภาค 9 ที่ไม่รับฟ้องโจทก์เนื่องจากโจทก์ไม่วางเงินต่อศาลจึงไม่ถูกต้อง นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งตามมาตรา 124 แล้ว ถ้านายจ้าง ลูกจ้าง หรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายไม่พอใจคำสั่งนั้น ให้นำคดีไปสู่ศาลได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง”และวรรคสามบัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายนำคดีไปสู่ศาล นายจ้างต้องวางเงินต่อศาลตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งนั้น จึงจะฟ้องคดีได้” เมื่อปรากฏว่าจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ต้องจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างอันเป็นคำสั่งตามมาตรา 124 และโจทก์ต้องการฟ้องเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวโดยอ้างว่าการส่งเอกสารของจำเลยให้แก่โจทก์เพื่อไปชี้แจงข้อเท็จจริงไม่ชอบด้วย มาตรา 143 ซึ่งไม่ว่าจะเป็นจริงและรับฟังได้ตามข้ออ้างของโจทก์หรือไม่ก็ตาม โจทก์ก็มีคำขอเพิกถอนคำสั่งของจำเลยซึ่งสั่งตามมาตรา 124 ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างจึงต้องวางเงินตามมาตรา 125 วรรคสาม ทันทีที่ยื่นฟ้อง ทั้งการที่ศาลแรงงานภาค 9 ให้เวลาโจทก์นำเงินมาวางศาลนับแต่โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2555 จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2555 นับเป็นผลดีแก่โจทก์ เมื่อโจทก์ไม่วางเงินภายในกำหนดตามที่ศาลสั่งเป็นเหตุให้ศาลแรงงานภาค 9 มีคำสั่งไม่รับฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share