คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10955/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก พ.ศ.2510 มาตรา 25 กำหนดให้ผู้อำนวยการองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเป็นผู้บริหารกิจการ และตามมาตรา 26 ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ผู้อำนวยการเป็นผู้กระทำการในนามขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกและเป็นผู้กระทำการแทน สามารถมอบอำนาจให้ตัวแทนหรือบุคคลใด ๆ ปฏิบัติกิจการเฉพาะอย่างแทนก็ได้ การที่จำเลยทั้งสองยอมเปิดบัญชีเงินฝากให้แก่ ถ. ซึ่งเป็นพนักงานของโจทก์ในตำแหน่งเสมียนหน่วยการเงินโดยนำหนังสือขอเปิดบัญชีออมทรัพย์ ซึ่งออกโดยพันเอก ศ. โดยมิได้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า พันเอก ศ. เป็นตัวแทนของผู้อำนวยการของโจทก์ หรือไม่ กรณีจึงมิได้เป็นไปตาม พ.ร.บ.องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก พ.ศ.2510 ถ. นำสำเนาบัตรประจำตัวพนักงานองค์การของรัฐของพันเอก ศ. ปลอมลายมือชื่อผู้มีอำนาจสั่งจ่ายทั้งสี่ลงในสำเนาบัตร และบัตรตัวอย่างลายมือชื่อให้ไว้ต่อพนักงานของจำเลยทั้งสองเพื่อไว้ตรวจสอบลายมือชื่อ จำเลยทั้งสองตรวจสอบหนังสือขอเปิดบัญชีออมทรัพย์และเอกสารต่าง ๆ แล้วเปิดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ใช้ชื่อบัญชีว่า “โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก” โดยจำเลยทั้งสองมิได้สอบถามไปยังโจทก์ว่าขอเปิดบัญชีหรือไม่ การที่ผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเงินทั้งสี่มิได้มาลงลายมือชื่อในบัตรตัวอย่างลายมือชื่อต่อหน้าพนักงานของจำเลยทั้งสองจึงถือเป็นความบกพร่องของฝ่ายจำเลยทั้งสอง อันเป็นความประมาทเลินเล่อในขั้นตอนการเปิดบัญชีของจำเลยทั้งสอง แต่การที่ ถ. ซึ่งเป็นพนักงานของโจทก์นำเอกสารต่าง ๆ มายื่นคำขอเปิดบัญชีต่อจำเลยทั้งสองกับการที่พนักงานของจำเลยทั้งสองบกพร่องไม่ตรวจสอบให้ดีเสียก่อน ก่อนที่จะเปิดบัญชีให้แก่ ถ. นั้น การกระทำของ ถ. เป็นการจงใจทำละเมิดต่อโจทก์ถือว่าเป็นการกระทำที่ร้ายแรงมากกว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเพียงการกระทำโดยประมาทเลินเล่อเท่านั้น หลังจากที่จำเลยทั้งสองเปิดบัญชีเงินฝากให้แก่โจทก์แล้ว ถ. กระทำทุจริตนำเช็คขีดคร่อมที่ลูกค้าโจทก์สั่งจ่ายให้โจทก์เข้าฝากในบัญชีที่จำเลยทั้งสองเปิดให้โจทก์จำนวน 119 รายการ รวมเป็นเงิน 73,462,420.16 บาท รวมเวลานานถึง 5 ปีเศษ อันแสดงให้เห็นว่า ระบบการตรวจสอบภายในของโจทก์ไม่ดีพอ โจทก์ปล่อยปละละเลยจนเป็นเหตุให้ ถ. มีโอกาสทุจริตได้ง่าย หากโจทก์มีการตรวจสอบที่ดี รัดกุมและละเอียดรอบคอบ ถ. คงจะไม่ทุจริตตลอดมาเป็นระยะเวลา 5 ปีเศษ และความเสียหายคงจะไม่มากเท่านี้ ถือว่าโจทก์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง กรณีถือได้ว่า โจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่าจำเลยทั้งสอง จึงไม่อาจบังคับให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก พ.ศ.2510 มีพลเอกทสรฐ เป็นผู้อำนวยการสำนักงานกิจการโรงพิมพ์ องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก เป็นหน่วยงานกิจการพิเศษหน่วยงานหนึ่งของโจทก์ เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2543 นายถนอม ลูกจ้างโจทก์ ตำแหน่งเสมียนแผนกการเงิน สำนักงานกิจการโรงพิมพ์ได้ปลอมหนังสือที่ กห 5137/436 ลงวันที่ 20 มกราคม 2543 เรื่องขอเปิดบัญชีออมทรัพย์โดยปลอมลายมือชื่อของพันเอกศรเทพ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งกำลังบำรุง รักษาการหัวหน้าสำนักงานกิจการโรงพิมพ์ของโจทก์ และนำสำเนาบัตรประจำตัวพนักงานองค์การของรัฐของพันเอกศรเทพและของนายกวี สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของนางฐาปนี และของนายศักดิ์เกษม เอกสารทั้งหมดรับรองสำเนาถูกต้องโดยนายถนอม นายถนอมได้ลงลายมือชื่อปลอมโดยไม่ได้รับอนุญาตจากบุคคลดังกล่าวไปยื่นต่อพนักงานที่อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 เพื่อขอเปิดบัญชีเงินฝากกับจำเลยที่ 1 สาขาสนามเสือป่า โดยกำหนดผู้มีอำนาจลงนามคือ 1. พันเอกศรเทพ 2. นายกวี 3. นางฐาปนี และ 4. นายศักดิ์เกษม และกำหนดเงื่อนไขในการสั่งจ่ายว่า บุคคลในหมายเลข 1 หรือ 2 ลงลายมือชื่อร่วมกับบุคคลในหมายเลข 3 หรือ 4 จึงจะมีอำนาจสั่งจ่ายเงินได้และได้ปลอมลายมือชื่อของผู้มีอำนาจในคำขอใช้บริการเงินฝากลงในบัตรตัวอย่างลายมือชื่อให้ไว้ต่อพนักงานของจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ในความควบคุมดูแลของจำเลยที่ 2 เพื่อเก็บไว้ตรวจสอบลายมือชื่อและพนักงานของจำเลยที่ 1 ให้เปิดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์เลขที่บัญชี 046 – 2 – 33429 – 3 ชื่อบัญชีโรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ให้ ต่อมานายถนอมนำเช็คขีดคร่อมที่ผู้ว่าจ้างหรือลูกค้าของโจทก์สั่งจ่ายให้แก่โจทก์ในนามโรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกที่นายถนอมเก็บจากลูกค้าของโจทก์นำเข้าฝากในบัญชีออมทรัพย์ดังกล่าว เมื่อระหว่างวันที่ 21 มกราคม 2543 ถึงวันที่ 13 พฤษภาคม 2548 จำนวน 119 รายการ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 73,462,420.16 บาท ต่อมานายถนอมปลอมลายมือชื่อของพันเอกศรเทพ และนางฐาปนี ในใบถอนเงินธนาคารทำการเบิกเงินของโจทก์จากบัญชีดังกล่าวไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวโดยไม่ชอบหลายครั้ง รวมเป็นเงิน 73,462,420.16 บาท ซึ่งนายถนอมนำเงินมาชำระคืนแก่โจทก์บางส่วน ในส่วนคดีอาญาศาลอาญามีคำพิพากษาลงโทษนายถนอมตามคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3144/2548
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ และจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์หรือไม่เพียงใด เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก พ.ศ.2510 มาตรา 25 กำหนดให้ผู้อำนวยการองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเป็นผู้บริหารกิจการขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก (อผศ.) และตามมาตรา 26 ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ผู้อำนวยการเป็นผู้กระทำการในนามขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกและเป็นผู้กระทำการแทนองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก และผู้อำนวยการสามารถมอบอำนาจให้ตัวแทนหรือบุคคลใด ๆ ปฏิบัติกิจการเฉพาะอย่างแทนก็ได้ ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามข้อบังคับสภาทหารผ่านศึก โดยมีระเบียบองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกว่าด้วยการบริหารงานและดำเนินกิจการหน่วยงานกิจการพิเศษขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก พ.ศ.2542 ข้อ 4 แบ่งหน่วยงานกิจการพิเศษขององค์การฯ ข้อ 4.3 ได้แก่สำนักงานกิจการโรงพิมพ์ การควบคุมหน่วยงานกิจการพิเศษนั้น ตามข้อ 11 ให้มีคณะกรรมการบริหารหน่วยงานกิจการพิเศษ มีผู้อำนวยการองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเป็นประธาน รองผู้อำนวยการ ฯ เป็นรองประธาน ข้อ 24 ระบุเกี่ยวกับการเงินว่า การฝากเงินของหน่วยงานกิจการพิเศษหน่วยใด ให้เปิดบัญชีในนามหน่วยงานพิเศษนั้น การจ่ายเงินให้ประธานหรือรองประธานลงลายมือชื่อร่วมกับหัวหน้าหน่วยงานกิจการพิเศษหรือรองหัวหน้า ฯ หรือหัวหน้าการเงินของหน่วย การที่จำเลยทั้งสองยอมเปิดบัญชีให้แก่นายถนอม ตามหนังสือขอเปิดบัญชีออมทรัพย์ ออกโดยพันเอกศรเทพซึ่งเป็นเพียงผู้อำนวยการฝ่ายส่งกำลังบำรุง รักษาการหัวหน้าสำนักกิจการโรงพิมพ์ของโจทก์เท่านั้น โดยมิได้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า พันเอกศรเทพเป็นตัวแทนของผู้อำนวยการองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก หรือไม่ กรณีจึงมิได้เป็นไปตาม พระราชบัญญัติองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก พ.ศ. 2510 ตามหนังสือขอเปิดบัญชีออมทรัพย์ระบุว่า สำนักงานกิจการโรงพิมพ์ขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์ มีความประสงค์จะขอเปิดบัญชีเงินฝากธนาคาร ประเภทออมทรัพย์ ใช้ชื่อบัญชี “โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก” โดยกำหนดผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเงินดังนี้ 1. พันเอกศรเทพ 2. นายกวี 3. นางฐาปนี 4. นายศักดิ์เกษม เงื่อนไขในการสั่งจ่ายเงิน “บุคคลในหมายเลข 1 หรือ 2 ลงลายมือชื่อร่วมกับบุคคลในหมายเลข 3 หรือ 4 จึงจะมีอำนาจสั่งจ่ายเงินได้” โดยนายถนอมนำสำเนาบัตรประจำตัวพนักงานองค์การของรัฐของพันเอกศรเทพและนายกวี นำบัตรประจำตัวประชาชนของนางฐาปนี และของนายศักดิ์เกษม โดยนายถนอมได้ปลอมลายมือชื่อของบุคคลดังกล่าวลงในสำเนาบัตรของแต่ละคน และนายถนอมยังได้ปลอมลายมือชื่อของบุคคลทั้งสี่ดังกล่าวลงในบัตรตัวอย่างลายมือชื่อให้ไว้ต่อพนักงานของจำเลยทั้งสอง เพื่อเก็บไว้ตรวจสอบลายมือชื่อ พนักงานจำเลยที่ 1 สาขาสนามเสือป่า ซึ่งอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 2 จำเลยทั้งสองตรวจสอบหนังสือเรื่องขอเปิดบัญชีออมทรัพย์และเอกสารต่าง ๆ แล้วได้เปิดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ใช้ชื่อบัญชีว่า “โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก” จะเห็นได้ว่าขั้นตอนในการขอเปิดบัญชีออมทรัพย์เป็นอันสมบูรณ์ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อจำเลยทั้งสองได้รับคำขอเปิดบัญชีออมทรัพย์แล้ว จำเลยทั้งสองไม่ได้สอบถามไปยังโจทก์ว่าจะขอเปิดบัญชีหรือไม่ ซึ่งจำเลยทั้งสองอ้างว่า วิธีปฏิบัติในการเปิดบัญชีจะมีเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานนั้น ๆ มาแจ้งด้วยวาจากับธนาคารก่อนว่ามีความประสงค์จะเปิดบัญชีและจะขอแบบฟอร์มเอกสารในการเปิดบัญชีจากธนาคารคือคำขอเปิดบัญชีออมทรัพย์และบัตรตัวอย่างลายมือชื่อนำกลับไปให้ผู้มีอำนาจลงชื่อ การลงชื่อดังกล่าวจะไม่ได้ลงชื่อต่อหน้าพนักงานธนาคาร เสร็จแล้วหน่วยงานจะมอบให้พนักงานนำเอกสารทั้งหมดมาเปิดบัญชีกับธนาคารอีกครั้งหนึ่ง การที่ผู้มีอำนาจเบิกถอนเงินมิได้มาลงตัวอย่างลายมือชื่อต่อหน้าพนักงานของธนาคาร พนักงานของธนาคารจะทราบได้อย่างไรว่าเป็นลายมือชื่อของผู้มีอำนาจเบิกถอนเงินอย่างแท้จริง การที่บุคคลทั้งสี่ดังกล่าวมิได้มาลงลายมือชื่อในบัตรตัวอย่างลายมือชื่อต่อหน้าพนักงานของจำเลยทั้งสองจึงถือว่าเป็นความบกพร่องของฝ่ายจำเลยทั้งสอง อันเป็นความประมาทเลินเล่อในขั้นตอนการเปิดบัญชีของจำเลยทั้งสอง แต่จากการที่นายถนอมซึ่งเป็นพนักงานของโจทก์ในตำแหน่งเสมียนหน่วยการเงิน นำเอกสารต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวมาแล้วมายื่นคำขอเปิดบัญชีกับจำเลยทั้งสองกับการที่พนักงานของจำเลยทั้งสองบกพร่องไม่ตรวจสอบให้ดีเสียก่อน ก่อนที่จะเปิดบัญชีให้แก่นายถนอม นั้น เห็นว่า การกระทำของนายถนอมเป็นการจงใจทำละเมิดต่อโจทก์ถือว่าเป็นการกระทำที่ร้ายแรงมากกว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเพียงการกระทำโดยประมาทเลินเล่อเท่านั้น ซึ่งข้อเท็จจริงได้ความต่อมาว่าหลังจากจำเลยทั้งสองเปิดบัญชีเงินฝากให้แก่โจทก์แล้วนายถนอมได้นำเช็คขีดคร่อมที่ผู้ว่าจ้างหรือลูกค้าของโจทก์สั่งจ่ายให้แก่โจทก์ในนามของ “โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก” ที่นายถนอมเก็บจากลูกค้าของโจทก์นำเข้าฝากในบัญชีที่จำเลยทั้งสองเปิดให้โจทก์จำนวน 119 รายการ รวมเป็นเงิน 73,462,420.16 บาท ตั้งแต่เดือนมกราคม 2543 ถึงเดือนพฤษภาคม 2548 รวมระยะเวลานานถึง 5 ปีเศษ อันแสดงให้เห็นว่า ระบบการตรวจสอบภายในของโจทก์ไม่ดีพอทั้งที่มีระเบียบองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกว่าด้วยการบริหารและดำเนินกิจการหน่วยงานกิจการพิเศษขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก กำหนดไว้แล้ว ทำให้เห็นว่าโจทก์ปล่อยปละละเลยจนเป็นเหตุให้นายถนอมมีโอกาสทุจริตได้ง่าย หากโจทก์มีการตรวจสอบที่ดี รัดกุมและละเอียดรอบคอบ นายถนอมคงจะไม่ทุจริตตลอดมาเป็นระยะเวลา 5 ปีเศษ และความเสียหายคงจะไม่มากเท่านี้ ถือว่าโจทก์ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง กรณีถือได้ว่า โจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่าจำเลยทั้งสอง จึงไม่อาจบังคับให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ได้ กรณีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นต่อไป ศาลล่างทั้งสองพิพากษามาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share