แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามมาตรา 7, 12, 17, 30 และ 33 แห่ง พ.ร.บ. ภาษีป้าย พ.ศ. 2510 ผู้ที่เป็นเจ้าของป้ายมีหน้าที่ต้องเสียภาษีป้ายเป็นรายปีตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยผู้เป็นเจ้าของป้ายต้องยื่นแบบแสดงรายการต่อราชการส่วนท้องถิ่นภายในเดือนมีนาคมของปี ตามแบบและวิธีการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับแบบแสดงรายการแล้วจะทำการประเมินภาษีป้ายแล้วแจ้งการประเมินไปยังเจ้าของป้าย หากเจ้าของป้ายผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีป้ายเห็นว่าการประเมินนั้นไม่ถูกต้อง ก็มีสิทธิอุทธรณ์การประเมินต่อผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้ซึ่งผู้บริหารท้องถิ่นมอบหมายได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งการประเมิน เมื่อผู้บริหารท้องถิ่นมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์แล้ว ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้อุทธรณ์ทราบ ผู้อุทธรณ์มีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าวโดยฟ้องคดีต่อศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ หากผู้อุทธรณ์ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายดังกล่าวผู้อุทธรณ์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาล
โจทก์ทำสัญญาให้สิทธิและดูแลบำรุงรักษาศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทาง รวม 250 หลัง แก่จำเลย โจทก์บอกเลิกสัญญาดังกล่าวเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2543 เป็นผลให้บรรดาวัสดุก่อสร้างและสิ่งก่อสร้างที่ดำเนินการแล้วรวมทั้งป้ายโฆษณาที่ติดตั้งไว้ที่ศาลาที่พักผู้โดยสารดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามสัญญา โจทก์จึงเป็นเจ้าของป้ายทั้งหมดนับแต่วันที่บอกเลิกสัญญาดังกล่าว เมื่อจำเลยมิได้เป็นเจ้าของป้ายพิพาทในปี 2544 จำเลยจึงไม่มีหน้าที่เสียภาษีป้ายในปีภาษี 2544 แม้จำเลยจะยื่นแบบแสดงรายการไว้ต่อเจ้าพนักงานของโจทก์ก็ตาม การที่เจ้าพนักงานของโจทก์ประเมินให้จำเลยเสียภาษีป้ายสำหรับป้ายโฆษณาดังกล่าวในปีภาษี 2544 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จำเลยจะมิได้อุทธรณ์การประเมินของเจ้าพนักงานของโจทก์ แต่คำสั่งของเจ้าพนักงานของโจทก์ที่สั่งให้จำเลยชำระภาษีป้ายตามการประเมินไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีผลให้จำเลยต้องชำระภาษีป้ายจำนวนตามฟ้อง และจำเลยสามารถยกขึ้นต่อสู้ได้ว่าการประเมินของเจ้าพนักงานเป็นการไม่ชอบได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าภาษีป้ายพร้อมเงินเพิ่มคิดถึงวันฟ้องจำนวน 179,814 บาท พร้อมเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของภาษีป้ายจำนวน 140,300 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าภาษีป้ายและเงินเพิ่มตามที่โจทก์ขอ และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติว่า โจทก์ได้ทำสัญญาให้สิทธิและดูแลบำรุงรักษาศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทางเขตพื้นที่กลุ่มบูรพาและเจ้าพระยาจำนวน 250 หลัง แก่จำเลย ตามสัญญาเลขที่ 24/2541 เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2541 เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2543 โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาดังกล่าวแก่จำเลย เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2544 และ 30 มีนาคม 2544 จำเลยได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย (ภ.ป. 1) ประจำปี 2544 ที่เขตสวนหลวงและเขตบางกะปิ พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้ประเมินภาษีป้ายและแจ้งการประเมินให้จำเลยทราบเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2544 และ 24 เมษายน 2544 คิดเป็นภาษีป้ายที่สำนักงานเขตสวนหลวงจำนวน 11,500 บาท ภาษีป้ายที่สำนักงานเขตบางกะปิ จำนวน 128,800 บาท จำเลยมิได้โต้แย้งการประเมินหรือขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2544 โจทก์ได้ทำสัญญาให้สิทธิและดูแลบำรุงรักษาศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทางในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 250 หลัง แก่บริษัทเจซีเดอโก (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทเจซีเดอโก (ประเทศไทย) จำกัด ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย (ภ.ป. 1) ประจำปี 2544 ที่สำนักงานเขตสวนหลวงเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ประเมินและแจ้งการประเมินไปยังบริษัทเจซีเดอโก (ประเทศไทย) จำกัด แล้ว บริษัทเจซีเดอโก (ประเทศไทย) จำกัด ได้ชำระค่าภาษีป้ายที่สำนักงานเขตสวนหลวงแล้ว จำนวน 9,641 บาท บริษัทเจซีเดอโก (ประเทศไทย) จำกัด ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย (ภ.ป. 1) ประจำปี 2544 ที่สำนักงานเขตบางกะปิ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2544 พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ประเมินภาษีป้ายจำนวน 2 งวด และแจ้งการประเมินไปยังบริษัทเจซีเดอโก (ประเทศไทย) จำกัด แล้ว บริษัทเจซีเดอโก (ประเทศไทย) จำกัด ได้ชำระค่าภาษีป้ายตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ประเมินแล้วจำนวน 70,862 บาท คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่าจำเลยจะต้องรับผิดชำระค่าภาษีป้ายตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด พ.ร.บ. ภาษีป้าย พ.ศ. 2510 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ให้เจ้าของป้ายมีหน้าที่เสียภาษีป้ายโดยเสียเป็นรายปี ยกเว้นป้ายที่เริ่มติดตั้งหรือแสดงในปีแรกให้เสียภาษีป้ายตั้งแต่วันที่เริ่มติดตั้งหรือแสดงจนถึงวันสิ้นปีและให้คิดภาษีป้ายเป็นรายงวด งวดละสามเดือนของปี โดยเริ่มเสียภาษีป้ายตั้งแต่งวดที่ติดตั้งป้ายจนถึงงวดสุดท้ายของปี ทั้งนี้ตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวงซึ่งต้องไม่เกินอัตราที่กำหนดในบัญชีอัตราภาษีป้ายท้ายพระราชบัญญัตินี้”
มาตรา 12 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ให้เจ้าของป้ายซึ่งจะต้องเสียภาษีป้าย ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายตามแบบและวิธีการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดภายในเดือนมีนาคมของปี”
มาตรา 17 บัญญัติว่า “ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประเมินภาษีป้ายตามหลักเกณฑ์การคำนวณภาษีป้ายที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราภาษีป้าย (6) และ (7) ท้ายพระราชบัญญัตินี้และตามอัตราภาษีป้ายที่กำหนดในกฎกระทรวงแล้วแจ้งการประเมินเป็นหนังสือไปยังเจ้าของป้าย”
มาตรา 30 วรรคหนึ่งและวรรคสอง บัญญัติว่า “ผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้ายที่ได้รับแจ้งการประเมินภาษีป้ายแล้วเห็นว่าการประเมินนั้นไม่ถูกต้อง มีสิทธิอุทธรณ์การประเมินต่อผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้ซึ่งผู้บริหารท้องถิ่นมอบหมายได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน
การอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามแบบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด”
มาตรา 33 บัญญัติว่า “ผู้อุทธรณ์มีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้ซึ่งผู้บริหารท้องถิ่นมอบหมายโดยฟ้องเป็นคดีต่อศาลภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เว้นแต่ในกรณีที่เป็นการยกอุทธรณ์ตามมาตรา 31 วรรคสอง
การฟ้องคดีตามวรรคหนึ่งจะกระทำได้ต่อเมื่อได้ปฏิบัติตามขั้นตอนดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 30 แล้ว”
บทบัญญัติดังกล่าวหมายความว่า ผู้ที่เป็นเจ้าของป้ายมีหน้าที่ต้องเสียภาษีป้ายเป็นรายปีตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวงโดยผู้เป็นเจ้าของป้ายต้องยื่นแบบแสดงรายการต่อราชการส่วนท้องถิ่นภายในเดือนมีนาคมของปีตามแบบและวิธีการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับแบบแสดงรายการแล้ว จะทำการประเมินภาษีป้ายตามหลักเกณฑ์วิธีการและอัตราภาษีป้ายตามบัญชีอัตราภาษีป้ายแล้วแจ้งการประเมินเป็นหนังสือไปยังเจ้าของป้าย หากเจ้าของป้ายผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีป้ายได้รับแจ้งการประเมินภาษีป้ายแล้วเห็นว่าการประเมินนั้นไม่ถูกต้อง ผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้ายมีสิทธิอุทธรณ์การประเมินต่อผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้ซึ่งผู้บริหารท้องถิ่นมอบหมายได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน เมื่อผู้บริหารท้องถิ่นมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์แล้ว ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้อุทธรณ์ทราบ ผู้อุทธรณ์มีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของผู้บริหารท้องถิ่นหรือผู้ซึ่งผู้บริหารท้องถิ่นมอบหมายโดยฟ้องเป็นคดีต่อศาลภาษีอากรภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ หากผู้อุทธรณ์ไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนตามกฎหมายดังกล่าว ผู้อุทธรณ์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากร เห็นว่า เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2543 โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาให้สิทธิและดูแลบำรุงรักษาศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทาง รวม 250 หลัง ที่ทำกับจำเลย เป็นผลให้บรรดาวัสดุก่อสร้างและสิ่งก่อสร้างที่ดำเนินการแล้วรวมทั้งป้ายโฆษณาที่ติดตั้งไว้ที่ศาลาที่พักผู้โดยสารดังกล่าว ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามสัญญา โจทก์จึงเป็นเจ้าของป้ายทั้งหมดนับแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2543 เมื่อจำเลยไม่ได้เป็นเจ้าของป้ายพิพาทในปี 2544 จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีป้ายในปีภาษี 2544 แม้จำเลยจะยื่นแบบแสดงรายการต่อเขตสวนหลวงและเขตบางกะปิเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2544 และวันที่ 30 มีนาคม 2544 ก็ไม่ทำให้จำเลยซึ่งไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีป้ายกลับกลายเป็นต้องเสียภาษีป้ายขึ้นมา การที่เจ้าพนักงานของโจทก์ทำการประเมินให้จำเลยเสียภาษีป้ายสำหรับปีภาษี 2544 จึงเป็นการประเมินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จำเลยจะไม่ได้อุทธรณ์การประเมินของเจ้าพนักงานของโจทก์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน แต่คำสั่งของเจ้าพนักงานของโจทก์ที่สั่งให้จำเลยชำระภาษีป้ายตามการประเมินนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีผลบังคับให้จำเลยต้องชำระภาษีป้ายตามฟ้อง จำเลยจึงสามารถยกข้อต่อสู้โจทก์ได้ว่าการประเมินของเจ้าพนักงานของโจทก์เป็นการไม่ชอบได้ เพราะการอุทธรณ์การประเมินตามมาตรา 30 นั้น ใช้บังคับเฉพาะผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้ายที่เห็นว่าการประเมินไม่ถูกต้อง เมื่อจำเลยไม่ใช่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้ายก็ไม่มีเหตุที่จำเลยจะอุทธรณ์การประเมิน ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าจำเลยไม่มีสิทธิให้การต่อสู้ว่าการประเมินของเจ้าพนักงานของโจทก์ไม่ชอบนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร เมื่อการประเมินของเจ้าพนักงานของโจทก์ที่ให้จำเลยเสียภาษีป้ายไม่ชอบด้วยกฎหมายดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น โจทก์จึงไม่สามารถบังคับให้จำเลยชำระภาษีป้ายตามฟ้องให้แก่โจทก์ได้ ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระภาษีป้ายตามฟ้อง พร้อมเงินเพิ่มให้แก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ.