คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7519/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ก่อนคดีนี้จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 2 ปี 6 เดือน และปรับ 250,000 บาท และในความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 3 ปี ภายในระยะเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษทั้งสองคดี จำเลยกลับมากระทำผิดฐานสมคบกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและฐานกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันดังกล่าวตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคสอง กรณีมิใช่จำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 อันจะเพิ่มโทษที่จะลงแก่จำเลยอีกกึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดครั้งหลังตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 คงเพิ่มโทษได้เพียงหนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 92

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3, 4, 8, 14 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 97, 100/1 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามและกึ่งหนึ่งตามกฎหมาย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอเพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม จำคุกตลอดชีวิต และปรับ 1,000,000 บาท เมื่อวางโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้วจึงไม่อาจเพิ่มโทษจำคุกจำเลยได้อีก คงเพิ่มโทษปรับได้เพียงกึ่งหนึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 เป็นจำคุกตลอดชีวิต และปรับ 1,500,000 บาท หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 (ที่แก้ไขใหม่) กรณีต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังได้เกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง ร้อยตำรวจเอก กฤศ กับพวก นำหมายค้นของศาลชั้นต้นเข้าตรวจค้นห้องพักเลขที่ 407 จับกุมนายวรดนัย กับพวกรวม 3 คน ได้พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดสีขาวตามจำนวนในคำฟ้อง นายวรดนัยให้การรับสารภาพ ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกแล้ว ระหว่างถูกควบคุมตัวนายวรดนัยยอมรับว่าเมทแอมเฟตามีนเป็นของจำเลย โดยขณะที่จำเลยถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษพระนครศรีอยุธยา จำเลยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ติดต่อไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนายวรดนัยเพื่อชักชวนให้นายวรดนัยจำหน่ายยาเสพติด นายวรดนัยตกลงจำหน่ายยาเสพติดให้จำเลย หลังจากนั้นจำเลยโทรศัพท์ติดต่อให้นายวรดนัยขับรถยนต์ไปรับเมทแอมเฟตามีนตามจุดที่นัดหมาย นายวรดนัยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนได้แล้วจะนำเงินดังกล่าวฝากเข้าบัญชีของตน จากนั้นจำเลยจะโทรศัพท์แจ้งด้วยวาจาหรือส่งข้อความหรือส่งหมายเลขบัญชีมาทางแอปพลิเคชั่นไลน์ ให้นายวรดนัยโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร นายวรดนัยได้เงินส่วนต่างจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเกินจากราคาที่จำเลยกำหนดไว้ และได้เงินจากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่ลูกค้าของตนโดยตรง นายวรดนัยรับเมทแอมเฟตามีนมาจากจำเลยเพียงรายเดียว นายวรดนัยได้ให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวน ร้อยตำรวจโท จำนงค์ ตรวจสอบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนายวรดนัยพบว่า จำเลยได้ให้หมายเลขโทรศัพท์ของจำเลยและเลขบัญชีธนาคารต่าง ๆ ไว้ในแอปพลิเคชั่นไลน์เพื่อให้นายวรดนัยโอนเงินที่ได้จากการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนเข้าบัญชีดังกล่าว ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม 2557 ถึงวันที่ 25 ธันวาคม 2557 พบว่านายวรดนัยฝากเงินจำนวนหลายครั้งรวมประมาณ 2,000,000 บาท และโอนเงินจำนวนหลายครั้งรวมประมาณ 2,000,000 บาท ออกจากบัญชีของตนทุกวันไปเข้าบัญชีธนาคารที่จำเลยให้ไว้ทางอินเทอร์เน็ตแบงก์กว่า 100 รายการ ร้อยตำรวจโท จำนงค์ ได้ทำรายงานผลการสืบสวนขยายผลจำเลยเสนอผู้บังคับบัญชา ต่อมาเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดมีคำสั่งอนุมัติให้จับกุมจำเลย ร้อยตำรวจโท จำนงค์ ได้รับมอบหมายให้ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหาสมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและได้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน จำเลยให้การปฏิเสธ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้นายวรดนัยจะมีส่วนกระทำความผิดและให้การซัดทอดจำเลย แต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227/1 ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 หาได้ห้ามมิให้รับฟังพยานซัดทอดเลยเสียทีเดียวไม่ หากแต่ศาลพึงต้องกระทำด้วยความระมัดระวังและไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานดังกล่าวโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลย เว้นแต่จะมีเหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดี หรือมีพยานหลักฐานประกอบอื่นมาสนับสนุน ซึ่งจากคำเบิกความของนายวรดนัยดังกล่าวประกอบคำให้การชั้นสอบสวนเรียงลำดับเหตุการณ์ที่รู้จักสนิทสนมกับจำเลยมาก่อนที่จำเลยจะถูกจำคุกในคดียาเสพติดให้โทษ เป็นขั้นตอนเชื่อมโยงเหตุการณ์ได้อย่างต่อเนื่องว่านายวรดนัยติดต่อจำเลยซึ่งขณะเกิดเหตุถูกจำคุกอยู่ในเรือนจำได้อย่างไร มีรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคล สถานที่ และรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการไปรับยาเสพติด จนกระทั่งถึงการโอนเงินค่ายาเสพติดผ่านบัญชีบุคคลต่าง ๆ จำนวนหลายบัญชีตามคำสั่งของจำเลย ซึ่งนายวรดนัยให้การว่าเป็นชื่อบัญชีที่นายวรดนัย รู้จักบ้างไม่รู้จักบ้าง และให้การว่าได้โอนเงินเข้าบัญชีนางสาวขวัญชนกและนางสาวสมฤทัย ซึ่งเป็นภรรยาของจำเลยด้วย คำเบิกความของนายวรดนัยจึงมีเหตุผลอันหนักแน่น นอกจากนี้โจทก์ยังมีนางประทุม มารดาของนายวรดนัยเป็นพยานเบิกความยืนยันว่า ครอบครัวของนายวรดนัยรู้จักจำเลยตั้งแต่ปี 2552 โดยจำเลยพักอาศัยอยู่ที่บ้านภรรยาซึ่งเป็นร้านเสริมสวยอยู่ตรงกันข้ามบ้านของพยาน สามีของพยานไปรับประทานอาหารเย็นที่ร้านเสริมสวยเป็นประจำ ต่อมาพยานก็เป็นลูกค้าร้านเสริมสวยจึงรู้จักจำเลย และในปี 2554 ซึ่งเกิดน้ำท่วม นายวรดนัยกับบิดาไปพักอาศัยอยู่บ้านของจำเลย จำเลยเคยยืมเงินสามีของพยานจำนวนไม่มาก และพยานเคยให้จำเลยยืมรถใช้ อันเป็นข้อสนับสนุนว่านายวรดนัยมีความสนิทสนมกับจำเลยมาก่อนที่จำเลยจะถูกจำคุกในเรือนจำ และร้อยตำรวจโท จำนงค์ ยังได้ตรวจสอบเครื่องโทรศัพท์ของนายวรดนัยก็พบข้อมูลการติดต่อกับจำเลยโดยเฉพาะทางแอปพลิเคชั่นไลน์ มีการเรียกนายวรดนัยว่า “มี่” และเรียกจำเลยว่า “โต้ง” ซึ่งเป็นชื่อเล่นของจำเลย มีข้อความการแจ้งเลขบัญชีและเจ้าของบัญชีเพื่อให้โอนเงิน ส่วนที่จำเลยอ้างว่าจำเลยไม่ใช่เจ้าของหมายเลขโทรศัพท์ที่นายวรดนัยอ้างว่าใช้ติดต่อกับนายวรดนัย เพราะถูกคนอื่นใช้แอบอ้างนั้น ก็เป็นการง่ายแก่การกล่าวอ้าง ทั้งได้ความจากนายวรดนัยตอบโจทก์ถามติงว่า จะติดต่อพูดคุยกับจำเลยเป็นส่วนใหญ่มากกว่าติดต่อทางเฟซบุ๊กหรือทางไลน์ นายวรดนัยจึงจำเสียงจำเลยได้ อันเป็นข้อบ่งชี้ว่านายวรดนัยได้ติดต่อกับจำเลยโดยตรงตามหมายเลขโทรศัพท์ที่จำเลยให้ไว้ ไม่ใช่ผู้อื่นแอบอ้างมาติดต่อกับนายวรดนัย นายวรดนัยไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน คดีจึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่านายวรดนัยจะแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลย ดังนี้ แม้นายวรดนัยจะเป็นพยานซัดทอด แต่เมื่อมีเหตุผลหนักแน่นและรับฟังประกอบกับพยานหลักฐานอื่นดังกล่าวมาแล้ว จึงรับฟังลงโทษจำเลยได้ การที่นายวรดนัยให้การต่อพนักงานสอบสวนซัดทอดจำเลย เป็นการให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ต่อเจ้าพนักงานตำรวจหรือพนักงานสอบสวนตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 แม้นายวรดนัยจะได้รับประโยชน์จากบทกฎหมายดังกล่าวก็เป็นเรื่องที่กระทำได้โดยชอบตามกฎหมาย คำให้การของนายวรดนัยจึงเป็นพยานชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ รับฟังได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักมั่นคงให้ลงโทษจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227/1 ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ส่วนฎีกาของจำเลยในข้ออื่นไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ไม่จำต้องวินิจฉัย ข้อเท็จจริงรับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดฐานสมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและได้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันแล้ว อันเป็นการกระทำความผิดตามฟ้อง ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยปรับ 1,000,000 บาท เพิ่มโทษกึ่งหนึ่งเป็นปรับ 1,500,000 บาท นั้น เห็นว่า ก่อนคดีนี้จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกมีกำหนด 2 ปี 6 เดือน และปรับ 250,000 บาท ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 568/2552 และในความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุกมีกำหนด 3 ปี ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4146/2555 ของศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ภายในระยะเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นโทษทั้งสองคดีจำเลยกลับมากระทำผิดฐานสมคบกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และฐานกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคสอง กรณีมิใช่จำเลยกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 อันจะเพิ่มโทษที่จะลงแก่จำเลยอีกกึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดครั้งหลัง ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 คงเพิ่มโทษได้เพียงหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยและเพิ่มโทษปรับกึ่งหนึ่งมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาและเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิ่มโทษปรับหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นปรับ 1,333,333.33 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share