แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พะยานผู้รับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรม์ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการทำพินัยกรรม์ พ.ศ.2475 นั้นไม่จำต้องเขียนข้อความรับรองหรือลงวันเดือนปีที่ทำพินัยกรรม์ด้วยตนเองอ้างฎีกาที่ 579/2479 แล 1036/2479 พินัยกรรม์ที่ประกอบด้วยเอกสารหลายแผ่นนั้นถ้าในแผ่นแรกมีข้อความพินัยกรรม์ ลายมือชื่อผู้ทำและลายมือชื่อพะยานอีก 2 คนก็นับว่าเป็นพินัยกรรม์สมบูรณ์แล้ว แม้จะมีพะยานเซ็นชื่อรับรองในกระดาษอีกแผ่น 1 ด้วยก็ไม่สำคัญ การขุดลบแก้ไขเพิ่มเติมในพินัยกรรม์นั้นถ้าหากมิใช่เป็นในข้อสาระสำคัญแห่งพินัยกรรม์หามีผลทำให้พินัยกรรม์นั้นเสียไปไม่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ม.13 พินัยกรรม์ที่มีข้อความยกทรัพย์ไว้เป็นกลางให้คน+แลญาติอาศัยกับให้ทำบุญนั้น ไม่เป็นการ่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมฤดกของ ง.เจ้ามฤดกเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๗ ขอให้ทำลายพินัยกรรม์โดยอ้างว่าพินัยกรรม์เป็นโมฆะตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการทำพินัยกรรม์ พ.ศ.๒๔๗๕
ได้ความว่า พินัยกรรม์รายพิพาทนี้ทำขึ้นเป็น ๔ ฉะบับ เมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายนพ.ศ.๒๔๗๖ มีข้อความอย่างเดียวกันทุกฉะบับเป็นกระดาษฟุตสแก๊ป ๒ แผ่นติดกัน ปรากฎตามพินัยกรรม์ฉะบับหมาย ข.ว่ากระดาษแผ่นแรกมีข้อความของพินัยกรรม์ทั้งหมด รวมทั้งลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรม์และพะยาน ๒ คน แผ่นที่ ๒ มีข้อความรคับรองแลลายมือชื่อของพะยาน ๒ คนลงนามรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรม์ แลปรากฎว่ามีการแก้ไขข้อความบางตอนในพินัยกรรม์ฉะบับนี้ กล่าวคือ “ทรัพย์สินของข้าพเจ้าที่กล่าวมาแล้ว…รวมทั้งสิ้นทั้งหลายของข้าพเจ้า ” ได้ขีดคำว่า “สิ้น” แก้ใหม่เป็น “สิทธิ” และที่ว่า “ถ้าผู้จัดการมฤดกคนใดไม่ยอมรับหน้าที่ก็ดี ให้ผู้ที่ยังเหลืออยู่จัดทำไประหว่าง “ก็ดี” กับ “ก็ให้” เพิ่มเติมลงไปว่า “ตายหรือหมดความสามารถก็ดี” และอีกตอนหนึ่งว่า “ข้าพเจ้าได้ลงนามไว้ต่อหน้าพะยานทั้งหลาย” แก้คำว่า “พะยาน” เป็น”ท่าน” แลอีกตอนหนึ่งได้แก้ใหม่โดยเติมคำว่า “เดือน” ลงข้างหน้า “พฤศจิกายน” ส่วนพินัยกรรม์ฉะบับอื่น ๆ ปรากฎว่าการแก้มีไม่ตรงกับฉะบับนี้บางตอน
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าตาม ม.๕ ข้อ ๔ การที่พะยานผู้รับรองลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรม์ได้ลงลายมือชื่อแต่อย่างเดียวก็ตรงกับความมุ่งหมายแห่งกฎหมายแล้ว ไม่จำต้องลงข้อความรับรองด้วยลายมือชื่อของพะยานเองและต้องลงวันเดือนปีด้วยตนเอง ส่วนข้อที่โจทก์ค้านว่าพินัยกรรม์ทำเป็นเอกสารประกอบด้วยกระดาษหลายแผ่น จำต้องให้ผู้ทำพินัยกรรม์ลงลายมือชื่อกำกับกระดาษนั้นทุกแผ่น เห็นว่าตามพินัยกรรม์ฉะบับหมาย ข.ถือได้ว่า ข้อความพินัยกรรม์ ลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรม์ และลายมือชื่อพะยาน ๒ คนอยู่ในกระดาษแผ่นเดียวกัน จึงเป็นฉะบับที่สมบูรณ์ตาม ม.๕ ข้อ ๓
ส่วนข้อที่โจทก์คัดค้านเรื่องการขูดลบแก้ไขเพิ่มเติม ก็เห็นว่ามิได้เป็นการแก้ไขในข้อความสำคัญแห่งพินัยกรรม์และไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงความประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรม์
แลข้อที่โจทก์ว่าตามพินัยกรรม์ข้อ ๒ ที่ว่ายกที่ดินที่ ๒๐๓๒ แล ๒๖๔๑ เป็นของกลางสำหรับญาติพี่น้องบ่าวไพร่นั้น เป็นคำสั่งที่เลื่อนลอยไม่แน่นอน แลว่าพินัยกรรม์นี้ขาดความแน่นอนไม่มีตัวบุคคลเป็นผู้รับมีแต่คำสั่งให้ทำบุญในทางพุทธศาสนา แลให้ทำบุญแก่เจ้ามฤดกเอง พินัยกรรม์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยเป็นโมฆะนั้น เห็นว่าคดีนี้เกิดก่อนใช้ประมวลบรรพ ๖ จึงต้องใช้กฎหมายลักษณมฤดกซึ่งไม่มีข้อความตอนใดแสดงถือว่าพินัยกรรม์อย่างคดีนี้เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย แลเห็นว่าเป็นคำสั่งที่แน่นอนแสดงถึงเจตนาอันแท้จริงของผู้ทำพินัยกรรม์ในข้อทำบุญในทางศาสนาก็สมกับศีลธรรมอันดี เพราะมีบทบัญญัติรับรองการถือศาสนาในรัฐธรรมนูญ พินัยกรรม์รายพิพาทจึงสมบูรณ์ ไม่เป็นโมฆะ จึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้องโจทก์