คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4139/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์จัดให้มีการเล่นแชร์ จำนวนสมาชิกวงแชร์รวมกันทั้ง 5 วง มี 35 คน ซึ่งครบองค์ประกอบความผิดแล้ว เพราะองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 6 (1) (2) ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีจำนวนวงแชร์รวมกันมากกว่า 3 วง หรือมีจำนวนสมาชิกรวมกันทุกวงมากกว่า 30 คน ส่วนบัญชีรายชื่อผู้เสียหายจำนวน 28 คน นั้น เป็นรายชื่อของสมาชิกวงแชร์ที่ถูกจำเลยฉ้อโกงในการเล่นแชร์ทั้ง 5 วง มิใช่จำนวนสมาชิกวงแชร์ทั้ง 5 วง รวมกัน ฟ้องของโจทก์จึงครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 6 (1) (2) แล้ว
โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำของจำเลยว่าได้กระทำการเป็นนายวงแชร์จัดให้มีการเล่นแชร์ถึง 5 วง นับแต่วันที่ 25 มีนาคม 2541 ถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2542 โดยมีจำนวนสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่า 30 คน อันเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ. 2534 มาตรา 6 (1) (2) แล้ว และต่อมาจำเลยยังได้กระทำความผิดฐานฉ้อโกงผู้เสียหายทั้ง 28 คน ด้วยการหลอกลวงว่ามีสมาชิกวงแชร์รายอื่นประมูลเงินทุนกองกลางโดยให้ดอกเบี้ยตอบแทนสูงกว่าผู้เสียหายแต่ละคนที่เข้าร่วมประมูล จึงต้องรวบรวมเงินทุนกองกลางไปให้แก่สมาชิกผู้นั้น และบางงวดจำเลยก็แอบอ้างชื่อสมาชิกวงแชร์บางรายเข้าประมูลเงินทุนกองกลางโดยเสนอดอกเบี้ยตอบแทนสูงกว่าผู้เสียหายที่เข้าร่วมประมูล จนกระทั่งจำเลยได้เงินทุนกองกลางไปเสียเอง การกระทำของจำเลยในส่วนนี้แยกต่างหากจากการเป็นนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ เป็นการหลอกลวงแอบอ้างสิทธิของสมาชิกวงแชร์คนอื่น เป็นการกระทำต่างฐานความผิดด้วยเจตนาที่ต่างกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันมิใช่เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องครบองค์ประกอบความผิดแต่ละฐานแล้ว ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขัดแย้งกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา ๓๔๑, ๙๑ พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๖, ๑๗ ให้จำเลยคืนเงิน ๑,๓๐๓,๕๖๐ บาท แก่ผู้เสียหายแต่ละคนตามสำนวนที่ฉ้อโกงไป
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๓๔๑ พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๖, ๑๗ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา ๙๑…
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า โจทก์ต้องบรรยายฟ้องให้ชัดเจนว่า ผู้เล่นแชร์แต่ละวงมีใครบ้าง มีรายชื่ออะไร และเมื่อรวมกันแล้วมีผู้เล่นมากกว่า ๓๐ คน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๖, ๑๗ หรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำนวนสมาชิกวงแชร์รวมกันทั้ง ๕ วง มี ๓๕ คน ซึ่งครบองค์ประกอบความผิดแล้ว เพราะองค์ประกอบความผิดตามมาตรา ๖ (๑) (๒) ห้ามมิให้บุคคลธรรมดาเป็นนายวงแชร์หรือจัดให้มีการเล่นแชร์ที่มีจำนวนวงแชร์รวมกันมากกว่า ๓ วง หรือมีจำนวนสมาชิกรวมกันทุกวงมากกว่า ๓๐ คน ส่วนบัญชีรายชื่อผู้เสียหายจำนวน ๒๘ คน นั้น เป็นรายชื่อของสมาชิกวงแชร์ที่ถูกจำเลยฉ้อโกงในการเล่นแชร์ทั้ง ๕ วง มิใช่จำนวนสมาชิกวงแชร์ทั้ง ๕ วง รวมกัน ฟ้องของโจทก์จึงครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา ๖ (๑) (๒) แล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันหรือเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำของจำเลยว่าได้กระทำการเป็นนายวงแชร์จัดให้มีการเล่นแชร์ถึง ๕ วง นับแต่วันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๔๑ ถึงวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๔๒ โดยมีจำนวนสมาชิกวงแชร์รวมกันทุกวงมากกว่า ๓๐ คน อันเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๖ (๑) (๒) แล้ว และต่อมาจำเลยยังได้กระทำความผิดฐานฉ้อโกงผู้เสียหายทั้ง ๒๘ คน ด้วยการหลอกลวงว่ามีสมาชิกวงแชร์รายอื่นประมูลเงินทุนกองกลางโดยให้ดอกเบี้ยตอบแทนสูงกว่าผู้เสียหายแต่ละคนที่เข้าร่วมประมูล จึงต้องรวบรวมเงินทุนกองกลางไปให้แก่สมาชิกผู้นั้น และบางงวดจำเลยก็แอบอ้างชื่อสมาชิกวงแชร์บางรายเข้าประมูลเงินทุนกองกลางโดยเสนอดอกเบี้ยตอบแทนสูงกว่าผู้เสียหายที่เข้าร่วมประมูล จนกระทั่งจำเลยได้เงินทุนกองกลางไปเสียเอง การกระทำของจำเลยในส่วนนี้แยกต่างหากจากการเป็นนายวงแชร์หรือผู้จัดให้มีการเล่นแชร์ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ เป็นการหลอกลวงแอบอ้างสิทธิของสมาชิกวงแชร์คนอื่น เป็นการกระทำต่างฐานความผิดด้วยเจตนาที่ต่างกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันมิใช่เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องครบองค์ประกอบความผิดแต่ละฐานแล้ว ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขัดแย้งกัน
พิพากษายืน.

Share