คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1694-1695/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยแย่งการครอบครองที่มือเปล่าจากโจทก์กว่า 1 ปีเมื่อโจทก์ฟ้องอ้างว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองในที่พิพาท แต่โจทก์ไม่มีสิทธิเพราะโจทก์ขาดสิทธิเสียแล้ว ถึงแม้โจทก์จะคัดค้านว่าจำเลยไม่อ้างอายุความขึ้นต่อสู้ ศาลก็ยกฟ้อง

ย่อยาว

สำนวนที่ 1 โจทก์ฟ้องว่า เมื่อปีพ.ศ. 2492 โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอจับจองที่ดินเพื่อทำนา 1 แปลง เนื้อที่ 19 ไร่เศษ อยู่ทุ่งยางคอยเกลือตำบลป่ามะคาบ อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร คณะกรมการอำเภอได้รังวัดออกใบเหยียบย่ำให้แล้ว ปี พ.ศ. 2493 โจทก์ได้เข้าบุกร้างถางพงจนเป็นที่เตียนทั้งหมด ปี พ.ศ. 2496 โจทก์ได้ขึ้นทะเบียนไว้ต่อคณะกรมการอำเภอเมืองพิจิตร ปี พ.ศ. 2493 จำเลยได้ขออาศัยทำกินในที่ดินแปลงนี้ ปี พ.ศ. 2497 โจทก์เห็นว่าจำเลยทำนาได้ผลดีจึงขอค่าเช่าเป็นข้าวเปลือก 150 ถัง คิดเป็นเงินถังละ 6 บาท แต่ไม่ได้ทำหนังสือสัญญาเช่า เดือนกุมภาพันธ์ 2498 โจทก์ไปเก็บค่าเช่าจำเลยกลับบิดพริ้วและโต้แย้งสิทธิ จึงไม่ประสงค์ให้จำเลยทำนาและบอกให้จำเลยออกไปจำเลยไม่ยอมออก ขอให้ศาลขับไล่จำเลยและบริวาร ให้ใช้ค่าเสียหายในการที่โจทก์ไม่ได้ทำนาในพ.ศ. 2497 เป็นข้าวเปลือก 150 ถัง คิดเป็นเงิน 900 บาท

จำเลยให้การต่อสู้ว่า ที่พิพาทเป็นของจำเลย ๆ ได้บุกร้างถางป่าเข้าครอบครองมาและเสียเงินบำรุงท้องที่มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2488 ไม่มีผู้ใดเข้าเกี่ยวข้อง ไม่เคยอาศัยโจทก์หรือตกลงเช่าจากโจทก์ ๆ ไม่เคยไปเก็บค่าเช่า การเช่าไม่มีหลักฐาน ที่ดินของจำเลยมีเนื้อที่ 18 ไร่ 3 งาน 52 วาตามแผนที่ท้ายคำให้การ ปี พ.ศ.2495 โจทก์จะเอาที่นาแปลงนี้ไปขายให้นายชั้น จำเลยทราบได้ไปคัดค้านและต่อว่าโจทก์ ๆ ได้คืนเงินให้นายชั้นไป ต่อจากนั้นจำเลยได้ทำกินตลอดมา ไม่มีผู้ใดเข้าเกี่ยวข้องวันที่ 30 มีนาคม 2498 คณะกรรมการได้เรียกจำเลยไปหาว่า จำเลยบุกรุกที่โจทก์ จำเลยคัดค้านว่าเป็นที่ของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง

สำนวนที่ 2 โจทก์ฟ้องมีข้อความอย่างเดียวกับสำนวนที่ 1 แต่สำนวนนี้เป็นที่ดินของนางบุญธรรมโจทก์ โจทก์ว่าตกลงเช่ากันเป็นข้าว 2 เกวียนราคาเกวียนละ 600 บาท ไม่ได้ทำหนังสือสัญญาเช่าขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไปให้พ้นจากที่ดินโจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายในการที่โจทก์ไม่ได้ทำนาใน ปี พ.ศ. 2497 เป็นข้าวเปลือก 2 เกวียนคิดเป็นเงิน 1,200 บาท

จำเลยให้การต่อสู้คดีโจทก์ มีข้อความอย่างเดียวกับสำนวนที่ 1เนื้อที่ดินในสำนวนนี้จำนวน 41 ไร่ 1 งาน 55 วา

ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า เนื่องจากทางการจะทำประตูระบายน้ำที่ตำบลป่ามะคาบเพื่อประโยชน์ในการกสิกรรม จึงมีผู้ไปจับจองที่ดินตำบลนั้นกันมาก เมื่อ พ.ศ. 2492 โจทก์กับนายสุรพลได้เข้าจับจองที่พิพาท ๆ เป็นป่าพง เมื่อคณะกรรมการอำเภออนุญาตให้จับจองแล้ว ในปี 2493 โจทก์ได้ถางป่าพงเตียนในปีนั้น แล้วจำเลยนี้ได้มาขอทำในที่ของโจทก์และของนายสุรพล โดยตกลงกันว่า เมื่อได้ผลแล้วจึงจะคิดค่าเช่ากัน ใน พ.ศ. 2493-2494 น้ำท่วมจึงไม่ได้คิดค่าเช่ากันพ.ศ. 2495 จำเลยทำนาได้ผลดี แต่ไม่ให้ค่าเช่า พ.ศ. 2496 น้ำท่วมนาไม่ได้ผลพ.ศ. 2497 จำเลยทำนาได้ผลบ้างโจทก์ไปขอค่าเช่าแต่จำเลยไม่ให้ โดยอ้างว่าเป็นที่ของจำเลยโจทก์จึงมาฟ้อง

จำเลยนำสืบว่า นาพิพาททั้งสองแปลงเป็นของจำเลยได้บุกเบิกมาตั้งแต่ พ.ศ. 2488 และครอบครองมาจนบัดนี้ ไม่เคยมีใครมารบกวนเกี่ยวข้องเลย เมื่อ พ.ศ. 2495 โจทก์ได้นำเอานาพิพาทไปขายให้นายชั้น20,000 บาท จำเลยได้ไปต่อว่าโจทก์ ๆ ไม่ว่ากระไรต่อมา พ.ศ. 2497 โจทก์ไปร้องต่ออำเภอหาว่าจำเลยบุกรุก นายอำเภอเปรียบเทียบแต่ไม่ตกลงกัน จำเลยไม่เคยรู้จักโจทก์ทั้งสอง เพิ่งรู้จักโจทก์เมื่อนายชั้นบอกจำเลยเสียเงินบำรุงท้องที่ทุกปี และให้หลายคนเช่าที่ดินทำสัญญากันด้วย

ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีสองสำนวนรวมกัน แล้วฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้จับจองที่พิพาทและมอบให้จำเลยทำแทน โจทก์ทั้งสองมีสิทธิดีกว่าจำเลย การเช่าไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ โจทก์เรียกค่าเช่าไม่ได้พิพากษาให้จำเลยและบริวารออกจากที่พิพาททั้งสองของโจทก์

จำเลยอุทธรณ์ทั้งสองสำนวน

ศาลอุทธรณ์ปรึกษาว่า จำเลยแสดงว่านาพิพาทเป็นของจำเลยตั้งแต่ พ.ศ.2495 เป็นต้นมา เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ แสดงเจตนาเปลี่ยนลักษณะการครอบครองเพื่อจำเลยเองไม่ใช่ครอบครองแทนโจทก์โจทก์มิได้จัดการอย่างใดจนวันที่ 27 พฤษภาคม 2498 จึงได้มาฟ้องร้องโจทก์ย่อมหมดสิทธิฟ้องร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 จึงพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน

โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกา

ศาลฎีกาประชุมปรึกษาคดีแล้ว ตามหลักฐานพยานโจทก์ฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองได้จับจองที่พิพาทไว้และได้รับใบเหยียบย่ำสำหรับที่และได้ขึ้นทะเบียนไว้เป็นหลักฐานด้วย เมื่อโจทก์ได้จับจองแล้วก็ให้จำเลยเข้าอยู่อาศัยทำกินในปีนั้นเอง เมื่อที่ดินได้ผลดีแล้วโจทก์จึงจะคิดค่าเช่าจากจำเลย ๆ ได้เข้าทำกินตลอดมาได้ชื่อว่าจำเลยได้ปกครองที่พิพาทแทนโจทก์ ครั้นเมื่อเดือนมีนาคม2496 โจทก์ตกลงขายที่พิพาทให้นายชั้น 20,000 บาท แต่ไม่ตกลงกันโดยโจทก์อ้างว่าที่นายชั้นไม่ยอมซื้อ เพราะนาไม่มีโฉนด ฝ่ายจำเลยว่าเมื่อโจทก์ตกลงขายนาพิพาทให้นายชั้นนั้น จำเลยได้ไปต่อว่าโจทก์ว่าเป็นนาของจำเลย นายชั้นผู้ซื้อก็เบิกความประกอบว่า จำเลยอ้างว่าเป็นนาของจำเลย จึงพากันไปหา ร.ท.แพ สามีโจทก์ โจทก์ก็ยอมคืนเงินมัดจำ 10,000 บาทให้นายชั้นโจทก์เองก็เบิกความตอนหนึ่งว่าโจทก์ได้ไปร้องต่ออำเภอว่า จำเลยไม่ยอมให้โจทก์ขายนาโดยไปคัดค้านดังนั้นการที่โจทก์ขายนาให้นายชั้นไม่ได้ เพราะจำเลยได้โต้แย้งสิทธิครอบครองว่า นาพิพาทเป็นของจำเลยมาตั้งแต่ครั้งที่โจทก์บอกขายนาให้นายชั้นเมื่อเดือนมีนาคม 2496 และโจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2498 เกินเวลา 1 ปี โจทก์จึงหมดสิทธิฟ้องร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 ดังความเห็นของศาลอุทธรณ์

ฎีกาโจทก์คัดค้านว่า เมื่อเดือนสิงหาคม 2497 จำเลยได้ยื่นคำร้องต่อนายอำเภอว่า ที่พิพาทเป็นที่ของทางการประมง ซึ่งจำเลยมิได้อ้างว่าได้ครอบครองเพื่อตนเอง ข้อนี้เป็นเรื่องภายหลังที่โจทก์บอกขายนาแก่นายชั้น ซึ่งขณะนั้นโจทก์ย่อมรู้ว่าจำเลยได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์และอ้างสิทธิครอบครองเพื่อตนเองอยู่แล้ว โจทก์คัดค้านอีกว่าจำเลยมิได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้ ศาลอุทธรณ์จะยกขึ้นมาวินิจฉัยไม่ได้เพราะไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลนี้เห็นว่าโจทก์กล่าวหาว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองในที่พิพาทแต่ทางพิจารณาโจทก์นำสืบไม่ได้ว่า โจทก์ได้มีสิทธิครอบครองดังข้อกล่าวอ้าง แต่ปรากฏว่าโจทก์ขาดสิทธิเสียแล้ว คดีโจทก์ก็ต้องยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ชี้ขาดมาชอบแล้ว

ศาลนี้พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้นให้ยกเสีย ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายชั้นฎีกาต่างเป็นพับไป

Share