คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2591/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นวันชี้สองสถานไว้ 2 ข้อคือ จำเลยผิดสัญญาไม่ชำระเงิน 12,800 บาท ตามที่ตกลงกันต่อหน้าศาลหรือไม่และโจทก์เสียหายเพียงใด เมื่อสืบพยานเสร็จ ศาลชั้นต้นกำหนด ประเด็นขึ้น 4 ข้อแล้วพิพากษาไปในวันนั้น คือ
1. จำเลยผิดสัญญาไม่ชำระเงิน 12,800 บาท ตามที่ตกลงกับโจทก์ในวันที่ 1 กันยายนหรือไม่
2. โจทก์มีสิทธิเลิกสัญญาโดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อนหรือไม่
3. โจทก์ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงโอนที่ดินให้จำเลยตามฟ้องแย้งของจำเลยหรือไม่
4. โจทก์เสียหายหรือไม่ เพียงใด ดังนี้ประเด็นข้อ 1 เป็นการเน้นให้ชัดลงไปว่าจำเลยผิดสัญญาในวันที่ 1 กันยายน 2524 หรือไม่เพราะประเด็นเดิมกล่าวไว้กว้าง ๆ ว่าผิดสัญญาตามที่ตกลงกันต่อหน้าศาลหรือไม่ ซึ่งการนัดชำระราคาหลังจากตกลงกันที่ศาลแล้วมีครั้งเดียวคือวันที่ 1 กันยายน 2524 เท่านั้นจึงไม่ถือว่าเป็นการกำหนดขึ้นใหม่
โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินนัดจำเลยไปรับโอนที่ดินที่ซื้อในวันที่ 1 กันยายน 2524 โดยเจ้าพนักงานที่ดินออกหนังสือเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2524 เจ้าหน้าที่ส่งหนังสือนั้นแก่จำเลยวันถัดมา โจทก์จึงมิได้เป็นผู้แจ้งให้จำเลยปฏิบัติการชำระหนี้เอง จะถือว่าเจ้าพนักงานที่ดินเป็นตัวแทนหาได้ไม่ กำหนดเวลาที่ให้จำเลยชำระหนี้เพียง 4 วัน นับว่ากระชั้นชิดเกินไปไม่ใช่ระยะเวลาพอสมควรตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 387 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การบอกกล่าวแจ้งให้จำเลยชำระหนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ยังไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาซื้อขายกับจำเลยและยังไม่มีอำนาจฟ้อง
ประเด็นข้อ 3 ที่ศาลชั้นต้นกำหนดเพิ่มเติม ไม่ขัดต่อวิธีพิจารณาเพราะรวมอยู่ในประเด็นแรกที่กำหนดไว้แต่เดิมแล้ว คือหากจำเลยไม่ผิดสัญญาย่อมมีประเด็นตามมาว่า โจทก์ต้องโอนที่ดินให้จำเลยตามฟ้องแย้งหรือไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๒๓ จำเลยตกลงซื้อที่ดินของโจทก์เฉพาะส่วนทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของที่ดินในราคา ๘๐,๐๐๐ บาท จะโอนสิทธิกันเมื่อเจ้าพนักงานได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์แบ่งแยกเป็นสัดส่วนแล้ว จำเลยชำระเงินให้โจทก์ในวันทำสัญญา ๕๐,๐๐๐ บาท ที่เหลือจะชำระในวันจดทะเบียนโอนสิทธิ โจทก์มอบที่ดินให้จำเลยใช้ประโยชน์ก่อนโอน ระหว่างขอแบ่งแยก ผู้ใหญ่บ้านคัดค้านว่าที่ดินที่ซื้อขายกันบางส่วนเป็นที่สาธารณะ โจทก์จำเลยตกลงกันให้ซื้อขายที่ดินส่วนที่เหลือในราคาเดิม ในวันที่โจทก์จำเลยไปโอนสิทธิกัน จำเลยไม่ยอมชำระราคาที่เหลือ ที่สุดตกลงลดราคาเหลือ๑๘,๐๐๐ บาท เมื่อหักหนี้ที่โจทก์เป็นหนี้จำเลยอยู่แล้วคงเหลือเงินที่จำเลยต้องชำระในวันโอนสิทธิ ๑๒,๘๐๐ บาท ต่อมาวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๒๔ ซึ่งเป็นวันที่โจทก์จำเลยไปโอนสิทธิกันตามที่เจ้าพนักงานกำหนด จำเลยไม่ยอมชำระราคาที่ดินเป็นการผิดสัญญา โจทก์จึงบอกเลิกสัญญากับจำเลยห้ามจำเลยเกี่ยวข้องในที่ดินอีก จำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวยังเพิกเฉย หากโจทก์จะนำที่ดินที่ขายให้เช่าจะได้ค่าเช่าไม่ต่ำกว่าเดือนละ ๖,๐๐๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยและบริวารรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินที่ซื้อและส่งมอบที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยภายใน ๗ วันนับแต่ศาลพิพากษา ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้องอีกต่อไป ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ ๖,๐๐๐ บาท นับแต่วันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๒๔ เป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบที่ดินแก่โจทก์เสร็จ
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยตกลงซื้อที่ดินจากโจทก์และค้างชำระราคาเมื่อหักที่สาธารณะและหนี้สินกันแล้วเหลือ ๑๒,๘๐๐ บาท จริง จำเลยเคยแจ้งให้โจทก์โอนสิทธิให้เสร็จ โจทก์ขอผัดผ่อน จนเมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๒๔ โจทก์บอกกล่าวโดยกะทันหันให้จำเลยไปรับโอนที่ดิน จำเลยเตรียมตัวไม่ทันขอชำระราคาด้วยเช็ค โจทก์ไม่ยอมเลยเลื่อนโอนวันอื่น โจทก์ผัดผ่อนเรื่อยมา และใช้สิทธิโดยไม่สุจริตฟ้องจำเลย ที่พิพาทใช้ทำนาไม่ได้หากไม่เช่าจะได้ค่าเช่าอย่างสูงไม่เกินเดือนละ ๒๐๐ บาท โจทก์ไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา ขอฟ้องแย้งให้โจทก์โอนสิทธิที่ดินที่ตกลงซื้อขายกันแก่จำเลยและรับเงิน ๑๒,๘๐๐ บาท จากจำเลย หากไม่ปฏิบัติตามขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของโจทก์
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์แจ้งนัดโอนแก่จำเลยก่อนวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๒๔ เป็นเวลา ๑ อาทิตย์ วันนัดจำเลยมิได้ขอชำระหรือผัดชำระราคาที่ดิน แต่อย่างใด แล้วไม่เคยติดต่อกันโจทก์อีก ที่ดินพิพาทอยู่ในทำเลเหมาะกับการดูดทรายขาย จึงมีค่าเสียหายดังฟ้อง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาแต่โจทก์ไม่ได้กำหนดระยะเวลาอันสมควรให้จำเลยชำระหนี้ ยังไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญา โจทก์ต้องโอนสิทธิที่พิพาทให้จำเลยตามฟ้องแย้ง ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย พิพากษาให้โจทก์ไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้จำเลย และรับเงิน ๑๒,๘๐๐ บาท จากจำเลย หากโจทก์ไม่โอนให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับทั้งสองฝ่าย
โจทก์จำเลยต่างอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เป็นพับทั้งสองฝ่าย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นวันชี้สองสถานไว้ ๒ ข้อ คือ
๑. จำเลยผิดสัญญาไม่ชำระเงิน ๑๒,๘๐๐ บาท ที่ตกลงกันต่อหน้าศาลหรือไม่
๒. โจทก์เสียหายเพียงใด
เมื่อสืบพยานเสร็จแล้ว ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นขึ้น ๔ ข้อ แล้วพิพากษาไปในวันนั้น คือ
๑. จำเลยผิดสัญญาไม่ชำระเงิน ๑๒,๘๐๐ บาท ตามที่ตกลงกับโจทก์ในวันที่๑ กันยายน ๒๕๒๔ หรือไม่
๒. โจทก์มีสิทธิเลิกสัญญาโดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อนหรือไม่
๓. โจทก์ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงโอนที่ดินให้จำเลยตามฟ้องแย้งของจำเลยหรือไม่
๔. โจทก์เสียหายหรือไม่ เพียงใด
ศาลฎีกาเห็นว่าประเด็นข้อ ๑ เป็นการเน้นให้ชัดลงไปว่าจำเลยผิดสัญญาในวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๒๔ หรือไม่ เพราะประเด็นเดิมกล่าวกว้าง ๆ ว่าผิดสัญญาตามที่ตกลงกันต่อหน้าศาลหรือไม่ ซึ่งการนัดชำระราคาหลังจากตกลงกันที่ศาลแล้วมีอยู่ครั้งเดียวคือวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๒๔ เท่านั้น จึงไม่ถือว่าเป็นการกำหนดขึ้นใหม่
ประเด็นที่ว่าจำเลยผิดสัญญาหรือไม่นั้น โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินนัดจำเลยไปรับโอนที่ดินที่ซื้อในวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๒๔ โดยเจ้าพนักงานที่ดินออกหนังสือเมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๒๔ เจ้าหน้าที่ส่งหนังสือนั้นแก่จำเลยวันถัดมา แสดงว่าโจทก์มิได้เป็นผู้แจ้งให้จำเลยปฏิบัติการชำระหนี้เอง จะถือว่าเจ้าพนักงานที่ดินเป็นตัวแทนหาได้ไม่ กำหนดเวลาที่ให้จำเลยชำระหนี้เพียง ๔ วัน นับว่ากระชั้นชิดเกินไปไม่ใช่ระยะเวลาพอสมควรตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓๘๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การบอกกล่าวแจ้งให้จำเลยชำระหนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ยังไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาซื้อขายกับจำเลยและยังไม่มีอำนาจฟ้อง ไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นข้อ ๔ และ ข้อ ๒ และไม่ว่าประเด็นข้อ ๒ ที่ศาลชั้นต้นกำหนดเพิ่มเติมจะชอบหรือไม่ ก็ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
ประเด็นข้อ ๓ ที่ศาลชั้นต้นกำหนดเพิ่มเติมไม่ขัดต่อวิธีพิจารณา เพราะรวมอยู่ในประเด็นข้อแรกที่กำหนดไว้แต่เดิมแล้ว คือ หากจำเลยไม่ผิดสัญญาย่อมมีประเด็นตามมาว่าโจทก์ต้องโอนที่ดินให้จำเลยตามฟ้องแย้งหรือไม่ เมื่อจำเลยมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ก็ย่อมมีหน้าที่โอนที่ดินที่ขายให้จำเลยตามฟ้องแย้ง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share