คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5333/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จะพิจารณาว่าคำให้การของจำเลยทั้งสองเป็นคำให้การที่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่จำเลยยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้มาทั้งหมด คำให้การของจำเลยที่ 1 ในข้อ 3 และคำให้การจำเลยที่ 2 ในข้อ 4 ต่อสู้ว่า รถยนต์คันพิพาทมิได้เข้าไปจอดในอาคารในช่วงที่โจทก์กล่าวอ้างว่าเกิดเหตุคดีนี้ และจำเลยทั้งสองให้การต่อไปว่า จำเลยทั้งสองไม่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบรถยนต์ที่เข้าไปจอดภายในอาคารดังกล่าว ซึ่งหมายถึงความรับผิดตามกฎหมายกรณีรถยนต์ที่จอดอยู่ภายในอาคารดังกล่าวสูญหายไป คำให้การของจำเลยทั้งสองชี้ชัดว่า จำเลยทั้งสองยกเหตุขึ้นต่อสู้ 2 ประการ คือ จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดต่อ ร. หาก ร. นำรถพิพาทเข้าไปจอดในอาคารแล้วสูญหาย และ ร. ก็มิได้นำรถพิพาทเข้าไปจอดภายในอาคาร จึงเป็นคำให้การที่ชัดแจ้ง รวมทั้งเหตุแห่งการนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง หาใช่เป็นคำให้การที่ขัดแย้งกันเองไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองคืนรถยนต์หรือชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 380,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2540 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ชำระเงินดังกล่าวไปจนชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 16,625 บาท
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้บริการให้ความสะดวกแก่เจ้าของร่วมหรือเจ้าของพื้นที่ (ผู้มีกรรมสิทธิ์) ในอาคารชำนาญ เพ็ญชาติ บิสเนสเซ็นเตอร์ ได้แก่ การจราจรในอาคารจอดรถ จัดระเบียบในการจอด โดยไม่มีหน้าที่รับผิดชอบการสูญหายของรถยนต์ในอาคาร จำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบการสูญหายในรถยนต์หรือทรัพย์สินในรถยนต์คันพิพาท และจำเลยที่ 1 หรือโจทก์หรือผู้ใดไม่สามารถรับรองได้ว่ารถยนต์คันดังกล่าวที่สูญหายได้นำเข้ามาจอดในอาคารจริงหรือไม่ จำเลยที่ 1 ไม่ทราบ จำเลยที่ 1 ไม่มีธุรกิจรับฝากหรือดูแลรักษารถยนต์ นอกจากนั้นรถยนต์คันดังกล่าวไม่มีพฤติการณ์ส่งมอบการครอบครองให้อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 และไม่ปรากฏว่าได้มาจอดในอาคารชำนาญ เพ็ญชาติ บิสเนสเซ็นเตอร์ โจทก์ฟ้องเรื่องฝากรถให้จำเลยที่ 1 รับผิดฐานไม่ระวังต้องฟ้องใน 6 เดือน นับแต่สิ้นสุดการฝาก โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เพราะไม่ปรากฏว่าผู้เอาประกันภัยได้รับชดใช้ค่าเสียหาย ทั้งไม่ปรากฏว่ามีการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทแก่โจทก์ก่อนฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับจ้างจำเลยที่ 1 ให้บุคคลในอาคารชำนาญ เพ็ญชาติ บิสเนสเซ็นเตอร์ ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดไม่ต้องรับผิดต่อการสูญหายทรัพย์สินของบุคคลใด รถยนต์คันพิพาทไม่ได้นำมาจอดในอาคารชำนาญ เพ็ญชาติ บิสเนสเซ็นเตอร์ ในระหว่างที่โจทก์อ้างว่าสูญหาย จำเลยที่ 2 ไม่ได้รับมอบการครอบครองรถคันดังกล่าวจึงไม่มีหน้าที่ต้องรับผิดตามฟ้อง จำเลยที่ 2 รับจ้างจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ผู้ประกอบการรับฝากรถ จำเลยที่ 2 จึงมิใช่ผู้รับฝากรถเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ขาดอายุความและโจทก์ฟ้องบุคคลไม่ถูกต้อง โจทก์ไม่ได้เป็นผู้รับช่วงสิทธิหรือมีการโอนสิทธิ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 9 ษ-8765 กรุงเทพมหานคร แก่โจทก์ หรือชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 396,625 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 380,000 บาท นับแต่วันที่ 14 กรกฎาคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว จำเลยทั้งสองฎีกา 3 ข้อ ด้วยกันคือ โจทก์ไม่มีเอกสารเป็นหลักฐานในการกล่าวอ้างว่ารับช่วงสิทธิจากนายรัฐวิทย์ผู้เอาประกันรถยนต์หมายเลขทะเบียน 9 ษ-8765 กรุงเทพมหานคร มาแสดงต่อศาล จึงรับฟังมิได้ว่าโจทก์รับช่วงสิทธิและมีอำนาจฟ้องคดีนี้ คดีขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 671 และคำให้การของจำเลยทั้งสองชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกฎีกาข้อสุดท้ายของจำเลยทั้งสองขึ้นวินิจฉัยเสียก่อน เห็นว่า การที่จะพิจารณาว่าคำให้การของจำเลยทั้งสองเป็นคำให้การที่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่จำเลยทั้งสองยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้มาทั้งหมด ปรากฏว่าคำให้การของจำเลยที่ 1 ในข้อ 3 และคำให้การจำเลยที่ 2 ในข้อ 4 ต่อสู้ว่า รถยนต์พิพาทมิได้เข้าไปจอดในอาคารชำนาญ เพ็ญชาติ บิสเนสเซ็นเตอร์ ในช่วงที่โจทก์กล่าวอ้างว่าเกิดเหตุคดีนี้คือระหว่างวันที่ 11 กรกฎาคม 2540 ถึงวันที่ 14 กรกฎาคม 2540 และจำเลยทั้งสองให้การต่อไปว่า จำเลยทั้งสองไม่มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบรถยนต์ที่เข้าไปจอดภายในอาคารดังกล่าว ซึ่งหมายถึงความรับผิดตามกฎหมายกรณีรถยนต์ที่จอดอยู่ภายในอาคารดังกล่าวสูญหายไป คำให้การเช่นนี้ย่อมชี้ชัดว่า จำเลยทั้งสองยกเหตุขึ้นต่อสู้ 2 ประการ คือ จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดต่อนายรัฐวิทย์หากนายรัฐวิทย์นำรถพิพาทเข้าไปจอดในอาคารแล้วสูญหายและนายรัฐวิทย์ก็มิได้นำรถพิพาทเข้าไปจอดภายในอาคารดังกล่าว จึงเป็นคำให้การที่ชัดแจ้งรวมทั้งเหตุแห่งการนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง หาใช่เป็นคำให้การที่ขัดแย้งกันเองไม่ เพราะข้อเท็จจริงเป็นเรื่องอยู่ในความรู้ฝ่ายเดียวของโจทก์ที่จะต้องมีภาระการพิสูจน์ให้ปรากฏต่อศาลและจำเลยทั้งสองย่อมมีสิทธินำสืบต่อสู้คดี ซึ่งเมื่อคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียว เห็นว่า พยานหลักฐานสำคัญที่จะบ่งชี้ถึงความรับผิดหรือไม่ในเบื้องต้นของจำเลยทั้งสองคือบัตรผ่านดังกล่าว เพราะนายรัฐวิทย์นำรถพิพาทเข้าไปจอดในอาคารชำนาญ เพ็ญชาติ บิสเนสเซ็นเตอร์ และมีผู้ใดนำรถออกไปได้โดยพนักงานของจำเลยที่ 2 ปล่อยให้รถพิพาทออกไป มิได้ขอให้ผู้ขับคืนบัตรผ่าน บัตรผ่านสำหรับรถพิพาทก็จะยังคงอยู่กับนายรัฐวิทย์ซึ่งอ้างว่านำไปมอบให้นางสาวจินตนาพร้อมกุญแจรถ แต่ปรากฏว่าโจทก์อ้างส่งเพียงสำเนาภาพถ่ายบัตรตามเอกสารหมาย จ.9 เท่านั้น โดยตัวบัตรจริงมิได้สูญหายหรือถูกทำลายโดยเหตุสุดวิสัย และโจทก์สามารถนำมาแสดงต่อศาลได้ ยิ่งไปกว่านั้นโจทก์มิได้อ้างและนำร้อยตำรวจโทดิลกมาเบิกความเพื่อให้ข้อเท็จจริงในการสอบสวนว่าได้ผลประการใด ทั้ง ๆ ที่นายรัฐวิทย์ได้กล่าวอ้างต่อโจทก์ในทำนองว่าสงสัยพนักงานขับรถของบริษัทที่อยู่ในอาคารดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.5 และ จ.6 รวมทั้งข้อเท็จจริงว่านายรัฐวิทย์ได้แสดงบัตรผ่านต่อร้อยตำรวจโทดิลกหรือไม่ นอกจากนี้โจทก์มิได้นำนางสาวจินตนามาเบิกความเกี่ยวกับการได้สติกเกอร์ติดกระจกหน้ารถพิพาท และวิธีการเก็บรักษาบัตรผ่านตลอดทั้งหากรถพิพาทจอดในอาคารซึ่งต้องจอดในช่อง 7 เอ ตามสิทธิของบริษัทเอ็นอีซี จำกัด ซึ่งนางสาวจินตนาเป็นพนักงานและรถหายไปโดยกุญแจรถและบัตรผ่านยังอยู่ที่นางสาวจินตนาตามที่นายรัฐวิทย์กล่าวอ้าง เหตุใดนางสาวจินตนาจึงไม่ทราบหรือทราบแต่วางเฉยจนนายรัฐวิทย์เพิ่งยกขึ้นเป็นเหตุในวันที่ 14 ข้อเท็จจริงต่าง ๆ เกี่ยวกับพยานหลักฐานโจทก์จึงอ่อนด้อยต่อเหตุผลอันพึงรับฟัง อีกทั้งทางนำสืบของจำเลยทั้งสองซึ่งมีนายรังษีและพันเอกเกตุเบิกความให้ข้อเท็จจริงว่า นายรังสีเป็นผู้จัดการจำเลยที่ 1 พันเอกเกตุเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่รักษาความปลอดภัยของอาคารและกำกับดูแลพนักงานรักษาความปลอดภัย จำเลยที่ 1 มีระเบียบต้องตรวจสอบรถยนต์ซึ่งจอดค้างคืนภายในอาคารโดยพนักงานรักษาความปลอดภัยจะต้องตรวจสอบทุกวันและทำรายงานบันทึกเสนอให้ทราบตามสมุดบันทึก 2 เล่ม เอกสารหมาย ล.1 เมื่อเกิดเหตุคดีนี้ขึ้น นายรังสีและพันเอกเกตุตรวจสอบสมุดบันทึกทั้งสองเล่มดังกล่าวแล้ว ปรากฏว่าในเดือนกรกฎาคม 2540 รถพิพาทจอดค้างคืนวันที่ 3 ต่อเนื่องเช้าวันที่ 4 ส่วนระหว่างวันที่ 11 ถึงวันที่ 14 ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่โจทก์กล่าวอ้างว่ารถพิพาทหายไปขณะนายรัฐวิทย์ขับไปจอดที่อาคารดังกล่าวนั้น ไม่ปรากฏรายงานของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยว่ารถพิพาทได้เข้าไปจอดค้างคืนไว้ ศาลฎีกาตรวจสมุดบันทึกทั้งสองเล่มอย่างละเอียดแล้วเห็นว่าเป็นสมุดปฏิบัติงานตามปกติของพนักงานจำเลยที่ 2 เริ่มตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2540 ถึงวันที่ 8 กรกฎาคม 2540 ในเล่มที่ 1 และเริ่มตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2540 ถึงวันที่ 26 กรกฎาคม 2540 ไม่ปรากฏข้อพิรุธใดอันจะทำให้เห็นได้ว่าเป็นการสร้างหลักฐานขึ้นมาเพื่อนำมาใช้ต่อสู้คดี นอกจากนี้พันเอกเกตุยังเบิกความให้ข้อเท็จจริงว่าบริษัทเอ็นอีซี จำกัด มีรถยนต์หลายคันที่นำเข้าจอดภายในอาคาร และบัตรผ่านซึ่งเป็นบัตรแข็งที่ได้รับมาจะรวมไว้ด้วยกันภายในบริษัท จึงเป็นการง่ายต่อการที่จะมีผู้หยิบไปใช้แสดงเพื่อนำรถผ่านออกไป ข้อเท็จจริงนี้แม้ในขั้นตอบคำถามค้านทนายความโจทก์พันเอกเกตุก็ยังคงยืนยันเช่นเดิม เพียงแต่ไม่ทราบรายละเอียดถึงขั้นว่าบัตรผ่านของรถบริษัทฯ จะรวมอยู่กับบัตรผ่านสำหรับรถของพนักงานด้วยหรือไม่เท่านั้น พยานหลักฐานจำเลยทั้งสองมีเหตุผลและน้ำหนักรับฟังดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายมีภาระการพิสูจน์ ข้อเท็จจริงยังรับฟังมิได้ว่ารถพิพาทหายไปขณะจอดอยู่ในอาคารชำนาญ เพ็ญชาติ บิสเนสเซ็นเตอร์ โดยความประมาทเลินเล่อของพนักงานจำเลยที่ 2 และไม่มีเหตุที่จะต้องพิจารณาว่าจำเลยทั้งสองต้องมีความรับผิดตามกฎหมายต่อโจทก์หรือไม่ รวมทั้งในประเด็นฎีกาข้ออื่น ๆ ของจำเลยทั้งสองอีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดต่อโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share