คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6250/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ป.วิ.อ. มาตรา 134 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในคดีที่ผู้ต้องหามีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา ก่อนเริ่มถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีให้รัฐจัดหาทนายความให้ แต่ปรากฏว่าในคดีนี้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาและสอบสวนจำเลยก่อนที่ ป.วิ.อ. มาตรา 134 ทวิ วรรคหนึ่ง มีผลใช้บังคับ พนักงานสอบสวนจึงไม่จำต้องถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ การสอบสวนคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2543 จำเลยทั้งสองกับพวกอีก 1 คน ร่วมกันผลิตเมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยแบ่งบรรจุเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่าย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 65, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58, 83 ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 65 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ขณะกระทำความผิดจำเลยทั้งสองอายุ 15 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 คนละกึ่งหนึ่ง จำคุกคนละ 15 ปี คำรับของจำเลยทั้งสองในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ เห็นสมควรลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คนละหนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 16 ปี 8 เดือน จำเลยทั้งสองกระทำความผิดเพราะความเยาว์วัย หากได้รับการอบรมขัดเกลานิสัยความประพฤติน่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยทั้งสองยิ่งกว่าจะให้ได้รับโทษจำคุก อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) จึงให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยทั้งสองไปฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดระยอง สำหรับจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 ปี นับแต่วันควบคุม ส่วนจำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาโดยให้หักวันควบคุมริบเมทแอมเฟตามีนที่เหลือจากการตรวจวิเคราะห์ กระดาษตะกั่วตัดเป็นชิ้น กระดาษตะกั่ว 1 ม้วน และกรรไกรของกลาง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง แต่ของกลางให้ริบ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การสอบสวนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ในการสอบสวนครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2543 พนักงานสอบสวนกล่าวหาจำเลยทั้งสองว่า ร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ต่อมาเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2543 พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาเพิ่มเติมแก่จำเลยทั้งสองว่า ร่วมกันผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เพื่อจำหน่าย จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แม้ก่อนการสอบสวนจำเลยทั้งสองจะมีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2542 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2542 โดยมาตรา 2 บัญญัติให้พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไปซึ่งจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 16 กันยายน 2543 และมาตรา 134 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในคดีที่ผู้ต้องหามีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา ก่อนเริ่มถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีให้รัฐจัดหาทนายความให้ ซึ่งหมายความว่าเมื่อพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2542 ใช้บังคับแล้ว พนักงานสอบสวนจะต้องปฏิบัติตามมาตรา 134 ทวิ วรรคหนึ่ง แต่ปรากฏว่าในคดีนี้การแจ้งข้อหาและการสอบสวนจำเลยทั้งสอง พนักงานสอบสวนกระทำก่อนที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 ทวิ วรรคหนึ่ง มีผลใช้บังคับ ฉะนั้นก่อนแจ้งข้อหาแก่จำเลยทั้งสอง พนักงานสอบสวนจึงไม่จำต้องถามจำเลยทั้งสองว่ามีทนายความหรือไม่ การสอบสวนคดีนี้จึงชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามา ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share