แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตามกรมธรรม์ประกันภัยที่บริษัท น. จำเลยที่ 3 ออกให้แก่จำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัยมีข้อตกลงว่า บริษัทจะถือว่าบุคคลใดซึ่งขับขี่รถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง… ซึ่งแม้ข้อตกลงดังกล่าวจะแตกต่างกับ ป.พ.พ. มาตรา 887 ซึ่งผู้รับประกันภัยตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่งและซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวมิใช่กฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงไม่เป็นโมฆะและใช้บังคับได้ตามกฎหมาย แม้ว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยจะไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ขับขี่รถยนต์ต่อโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ที่เอาประกันภัยชนกับรถของโจทก์โดยละเมิดซึ่งจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์และนั่งมาในรถยนต์ด้วย จึงฟังว่าจำเลยที่ 1 ได้รับความยินยอมของจำเลยที่ 2 ให้ขับรถยนต์ที่เอาประกันภัย จึงต้องถือเสมือนว่าจำเลยที่ 1 เป็นเสมือนผู้เอาประกันภัยตามข้อตกลงในกรมธรรม์ เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถยนต์และทำละเมิดเอง จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนจึงต้องร่วมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินค่าเสียหายจากการขับรถยนต์โดยประมาทเลินเล่อจำนวน 160,162 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 155,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า เหตุเฉี่ยวชนและความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงไม่ได้เกิดจากการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นนายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ 1 ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินจริง ค่าซ่อมแซมรถยนต์ไม่เกิน 10,000 บาท ส่วนค่าขาดประโยชน์นั้นโจทก์มิได้รับความเสียหาย หากได้รับความเสียหายก็ไม่เกินเดือนละ 3,000 บาท และสามารถซ่อมรถเสร็จได้ภายในเวลาไม่เกิน 15 วัน ค่าเสียหายส่วนนี้ไม่เกิน 1,500 บาท จำเลยที่ 2 ได้เอาประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน ก-6270 เพชรบุรี ไว้กับจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า เหตุเฉี่ยวชนจึงไม่ได้เกิดจากการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นนายจ้างลูกจ้างหรือตัวการตัวแทนกันแต่อย่างใด จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดในฐานะนายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ 1 และความเสียหายของรถยนต์ที่โจทก์เรียกร้องมานั้นสูงเกินจริง เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดในเหตุละเมิด จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 155,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 เมษายน 2541 ถึงวันที่ 17 กันยายน 2541 ซึ่งเป็นวันฟ้อง แต่ทั้งนี้ให้ไม่เกิน 5,162 บาท และให้ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 155,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 7 เมษายน 2541 ถึงวันที่ 17 กันยายน 2541 ซึ่งเป็นวันฟ้อง แต่ทั้งนี้ให้ไม่เกิน 5,162 บาท และให้ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 6 ธ-1471 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน ก-6270 เพชรบุรี จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมีวัตถุประสงค์ในการรับประกันภัยและเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์หมายเลขทะเบียน ก-6270 เพชรบุรี ไว้จากจำเลยที่ 2 ตามสัญญาประกันภัยเอกสารหมาย จ.16 จำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำละเมิดต่อโจทก์ โดยขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 โดยประมาทเป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 155,000 บาท จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาประกันภัยหรือไม่ จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัย เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ 3 ก็ไม่ต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 เห็นว่า แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 วรรคหนึ่ง จะบัญญัติว่า “อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้น คือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่งและซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ” แต่ตามกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 2.6 มีข้อตกลงว่า “บริษัทจะถือว่าบุคคลใดซึ่งขับขี่รถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง…” ซึ่งแม้จะแตกต่างกับบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว แต่มิใช่กฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงไม่เป็นโมฆะและใช้บังคับกันได้ตามกฎหมาย และแม้ว่าจำเลยที่ 2 จะไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ด้วย แต่ได้ความว่าจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ที่เอาประกันภัยชนรถยนต์ของโจทก์โดยละเมิด เมื่อจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์และนั่งมาในรถยนต์ด้วย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับความยินยอมของจำเลยที่ 2 ให้ขับรถยนต์ที่เอาประกันภัย จึงต้องถือเสมือนหนึ่งว่าจำเลยที่ 1 เป็นเสมือนผู้เอาประกันภัยตามข้อตกลงในกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 2.6 เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถยนต์และทำละเมิดเอง จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนตามสัญญาประกันภัยเอกสารหมาย จ.16 ที่อุทธรณ์พิพากษามานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน