แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ในคดีร้องขอคืนของกลางที่ศาลสั่งริบนั้น ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามคำร้องของผู้ร้องมีเพียงว่าศาลจะสั่งคืนเรือของกลางให้แก่เจ้าของซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่เท่านั้น ส่วนประเด็นที่ว่าศาลจะสั่งริบเรือของกลางได้หรือไม่ยุติไปตามคำสั่งศาลในคดีหลักซึ่งถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องจะยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาในคำร้องขอคืนเรือของกลางต่อไปอีกไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27, 27 ทวิ, 32 พระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2521 มาตรา 6 ทวิ, 20 ทวิ, 24 ตรี พระราชบัญญัติมาตราชั่ง ตวง วัด พ.ศ.2466 มาตรา 2, 19, 31 พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 282 พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 มาตรา 4, 6, 11, 22, 23 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 32, 33 และริบของกลาง จำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพ คดีถึงที่สุดโดยศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งห้าตามฟ้อง และให้ริบของกลางทั้งหมดรวมทั้งเรือบรรทุกน้ำมันชื่อเพลย์บอย 1 จำนวน 1 ลำ
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของเรือบรรทุกน้ำมันชื่อเพลย์บอย 1 ของกลาง ขอให้ศาลมีคำสั่งคืนเรือบรรทุกน้ำมันชื่อเพลย์บอย 1 ของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้ว มีคำสั่งให้คืนเรือบรรทุกน้ำมันชื่อเพลย์บอย 1 ของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ผู้ร้องฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่าเรือของกลางมีระวาง 677 ตัน ไม่อยู่ในข่ายที่จะต้องถูกริบตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 32 ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจสั่งริบเรือของกลางตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 ขัดกฎหมายศุลกากรไม่ได้นั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่าประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามคำร้องของผู้ร้องมีเพียงว่า ศาลจะสั่งคืนเรือของกลางให้แก่เจ้าของซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยทั้งห้าหรือไม่เท่านั้น ส่วนประเด็นที่ว่าศาลชั้นต้นสั่งริบเรือของกลางได้หรือไม่ยุติไปตามคำสั่งศาลชั้นต้นในคดีหลักซึ่งถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องจะยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาในคำร้องขอคืนเรือของกลางต่อไปอีกไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในลำดับต่อไปมีว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของเรือของกลางและมิได้ร่วมรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยทั้งห้าหรือไม่ ทางไต่สวนผู้ร้องนำสืบว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของเรือบรรทุกน้ำมันชื่อเพลย์บอย 1 จดทะเบียนที่ประเทศสาธารณรัฐฮอนดูรัส หมายเลขทะเบียน แอล-1324326 มีความจุของเรือรวมบรรทุก 677 ตัน ตามใบรับรองความจุของเรือระหว่างชาติ (พ.ศ.2512) ใบรับรองการจดทะเบียน ใบรับรองการยกเว้นและใบรับรองการป้องกันมลภาวะเป็นพิษของน้ำมันระหว่างชาติพร้อมคำแปลเอกสารหมาย ร.3 และ ร.4 ผู้ร้องเป็นชาวต่างประเทศ สัญชาติสิงคโปร์ มีภูมิลำเนาอยู่ที่ 25 ฟิชเชอรีพอร์ต ประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ ผู้ร้องมอบอำนาจให้นายสมยศเป็นผู้ดำเนินคดีแทน เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2537 ผู้ร้องให้บริษัทเจ.เจ. โอเวอร์ซีคอร์ป เช่าเรือของผู้ร้องไปเพื่อใช้บรรทุกขนส่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมสะอาด โดยมีข้อตกลงเรื่องพิสัยการเดินเรือระหว่างเมืองฮ่องกงกับประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์มีกำหนดเวลา 3 ปี ในอัตราค่าเช่าเดือนละ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ ตามสัญญาเช่าเวลาเรือขนส่งพร้อมคำแปล เอกสารหมาย ร.5 และ ร.6 ต่อมาเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2540 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งห้ากับพวกในข้อหาลักลอบนำสินค้าน้ำมันหลบหนีภาษีศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรไทย และยึดเรือของผู้ร้องเป็นของกลาง เมื่อผู้ร้องทราบเรื่องจึงมอบอำนาจให้นายสมยศไปติดต่อขอให้พนักงานสอบสวนคืนเรือแก่ผู้ร้อง แต่พนักงานสอบสวนไม่คืนให้และต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาให้ริบเรือของผู้ร้อง ผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยทั้งห้า
โจทก์ไม่สืบพยาน
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า นายสมยศผู้รับมอบอำนาจจากผู้ร้องติดต่อขอรับเรือของกลางคืนจากพนักงานสอบสวนในนามของผู้ร้องเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2540 ภายหลังวันเกิดเหตุ 1 เดือนเศษ ตามเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 4 และในวันที่ 19 กันยายน 2540 นายสมยศรับเป็นทนายความให้จำเลยทั้งห้าตามใบแต่งทนายความของจำเลยทั้งห้าในสำนวนคดีหมายเลขแดงที่ 188/2541 ของศาลชั้นต้น ดังนั้น นายสมยศจึงมีสถานะเป็นทั้งตัวแทนผู้ร้องและทนายความของจำเลยทั้งห้าในเวลาเดียว ระหว่างพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นนายสมยศก็ทำหน้าที่ติดต่อขอคืนเรือของกลางจากพนักงานสอบสวนแทนผู้ร้องไปพร้อมกัน และจากคำแถลงของนายสมยศตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 16 ตุลาคม 2540 คดีหมายเลขแดงที่ 188/2541 ของศาลชั้นต้น แสดงว่านายสมยศเป็นผู้ประสานงานกับบุคคลผู้เป็นนายจ้างของจำเลยทั้งห้าที่ประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์อันเป็นประเทศซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของผู้ร้องนั่นเอง ความผูกพันเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงระหว่างนายสมยศกับผู้ร้องและจำเลยทั้งห้าข้างต้นมิใช่สิ่งที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ หากแต่เป็นพฤติการณ์ที่บ่งชี้ว่านายสมยศคือผู้ติดต่อเชื่อมโยงระหว่างผู้ร้องกับจำเลยทั้งห้า ข้อเท็จจริงในการพิจารณาคดีทั้งหมดย่อมถ่ายทอดถึงผู้ร้องด้วย เช่นนี้ที่ผู้ร้องฎีกาอ้างว่าผู้ร้องไม่รู้จักไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับจำเลยทั้งห้าตลอดจนข้อที่ผู้ร้องอ้างว่าไม่มีลูกจ้างหรือตัวแทนอยู่ในเรือของกลางเพราะผู้เช่าเป็นผู้จัดหาเองทั้งหมดจึงรับฟังไม่ได้ และเมื่อตรวจข้อมูลเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติ จำเลยที่ 1 ให้ถ้อยคำว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างนายเดวิดไม่ทราบชื่อและสกุลอายุ 40 ปีเศษ ชาวสิงคโปร์ เชื้อสายจีน และนายเดวิดนายจ้างนี้จะเป็นคนเดียวกับนายเดวิดเจ้าของเรือหรือไม่จำเลยที่ 1 ไม่ทราบสำหรับข้อมูลเกี่ยวกับเรือของกลาง นายอรรถสาสน์ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทเจ.เจ. โอเวอร์ซีคอร์ป ให้ถ้อยคำว่า บริษัทเจ. เจ. โอเวอร์ซีคอร์ป (สาขาสิงคโปร์) มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศปานามา มีนายลูอิสเป็นผู้จัดการผู้มีอำนาจดำเนินกิจการต่าง ๆ ในประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ นายลูอิสมีสัญชาติสิงคโปร์ อายุประมาณ 45 ปี นายลูอิสมีชื่อเรียกกันทั่ว ๆ ไป ว่า “เดวิด” ขณะที่ผู้ร้องมีชื่อท้ายว่าเดวิดมีสัญชาติสิงคโปร์สอดคล้องตรงกับถ้อยคำของจำเลยที่ 1 ที่ให้ไว้ต่อพนักงานคุมประพฤติ นอกจากนี้รายงานการสอบสวนเอกสารหมาย ค.1 มีข้อความเกี่ยวกับคำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ว่า นายเดวิดซึ่งเป็นเจ้าของเรือของกลางเป็นนายจ้างจ่ายค่าจ้างให้จำเลยที่ 1 สำหรับคำเบิกความของจำเลยที่ 1 พยานผู้ร้องนั้นเป็นพิรุธ เช่น จำเลยที่ 1 ตอบทนายผู้ร้องว่า รู้จักผู้ร้อง เมื่อทนายผู้ร้องถามย้ำในคำถามเดิม จำเลยที่ 1 จึงบ่ายเบี่ยงเป็นว่า นายเดวิดที่รู้จักจะเป็นเจ้าของเรือของกลางหรือไม่จำเลยที่ 1 ไม่ทราบ และจะเป็นคนเดียวกับผู้ร้องหรือไม่จำเลยที่ 1 ไม่ทราบเช่นกัน ซึ่งไม่สอดคล้องตรงกับที่ให้การรับสารภาพกับพนักงานสอบสวน จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ส่วนคำเบิกความของพันตำรวจโทสมพรที่ว่าผู้ร้องมิได้ร่วมกระทำความผิดเป็นเพียงความเห็นของพยานซึ่งเลื่อนลอย รับฟังไม่ได้ เช่นเดียวกับนายอรรถสาสน์พยานผู้ร้องอีกปากหนึ่งซึ่งเบิกความตามคำบอกเล่าโดยตนมิได้รู้เห็นเอง จึงมีเหตุให้เชื่อได้ว่า ผู้ร้องคือนายจ้างของจำเลยทั้งห้า นอกจานี้อุปกรณ์ที่ติดตั้งในเรือของกลางซึ่งจำเลยทั้งห้าได้ใช้กระทำความผิด อันได้แก่เครื่องวัดปริมาตรน้ำมันเชื้อเพลิงไม่มีตราเครื่องหมายคำรับรองของเจ้าพนักงานจำนวน 4 เครื่อง วิทยุรับส่งอันเป็นวิทยุคมนาคมจำนวน 4 เครื่อง ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจมิได้ออกใบอนุญาตให้ใช้และครอบครอง หัวจ่ายน้ำมันเชื่อเพลิงพร้อมสายยาง 12 หัว แผนที่เดินเรือ รวมทั้งเอกสารเกี่ยวกับการซื้อขายน้ำมันเชื้อเพลิง 2 เล่ม ล้วนเป็นอุปกรณ์หรือเครื่องมือสำหรับใช้กระทำความผิดตามฟ้อง ดังถ้อยคำของจำเลยที่ 1 ที่ให้ไว้ต่อพนักงานคุมประพฤติ ยืนยันว่าเรือของกลางถูกใช้เพื่อการลักลอบขนถ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงโดยฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติศุลกากรและกฎหมายอื่นโดยเฉพาะ หาได้ใช้เพื่อธุรกิจขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงตามสัญญาเช่าที่ผู้ร้องอ้างไม่ ลำพังคำเบิกความของนายอรรถสาสน์ประกอบเอกสารสัญญาเช่าซึ่งไม่แน่ชัดว่าจะเป็นเอกสารที่ถูกต้องแท้จริงหรือไม่ เพราะปราศจากตัวผู้เช่ามาเบิกความรับรองต่อศาลดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแล้ว พยานหลักฐานของผู้ร้องจึงรับฟังไม่ได้ว่าผู้ร้องมิได้ร่วมรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยทั้งห้า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน