คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4308/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ร่วมร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่าจำเลยยักยอกทรัพย์ พนักงานสอบสวนสอบสวนจำเลยแล้วมีความเห็นสั่งฟ้องจำเลยในข้อหายักยอก แต่โจทก์เห็นว่าการกระทำของจำเลยตามที่พนักงานสอบสวนได้สอบสวนเป็นความผิดฐานฉ้อโกงจึงฟ้องจำเลยในข้อหาฉ้อโกง กรณีเช่นนี้เป็นเรื่องความเห็นของโจทก์กับพนักงานสอบสวนแตกต่างกันในการปรับบทกฎหมายกับการกระทำของจำเลย ถือว่าพนักงานสอบสวนได้สอบสวนในข้อหาฉ้อโกงแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 และสั่งให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 450,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนชุมชนคลองจั่น จำกัด ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ที่ถูก เป็นประมวลกฎหมายอาญา) มาตรา 352 วรรคสอง ลงโทษจำคุก 11 เดือน ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 450,000 บาท แก่โจทก์ร่วม คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลย 3,000 บาท อีกสถานหนึ่ง รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยเปิดบัญชีเงินฝากไว้แก่โจทก์ร่วมหลายบัญชี บัญชีที่เป็นเหตุคดีนี้คือบัญชีออมทรัพย์พิเศษ อพ.117 เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2540 จำเลยเบิกเงินจากบัญชีดังกล่าวจำนวนหนึ่ง ต่อมาวันที่ 16 สิงหาคม 2540 โจทก์ร่วมเปลี่ยนเลขที่บัญชีพร้อมด้วยสมุดคู่ฝากบัญชีดังกล่าวของจำเลยเป็นเลขที่ อพ.1 – 005 และเก็บสมุดคู่ฝากบัญชีเก่าไว้กับโจทก์ร่วม ต่อมาวันที่ 17 กันยายน 2540 จำเลยปิดบัญชีและรับเงินทั้งหมดในบัญชีนั้น มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมมีนายจวน และนางสาววรรณนิภาเป็นพยานเบิกความว่า จำเลยแจ้งขอถอนเงินบัญชีออมทรัพย์พิเศษเลขที่ อพ.117 จำนวนเงิน 500,000 บาท โจทก์ร่วมจึงถอนตั๋วสัญญาใช้เงินจากชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย จำกัด จำนวน 500,000 บาท เพื่อมอบให้จำเลย วันที่ 23 เมษายน 2540 จำเลยนำสมุดคู่ฝากบัญชีดังกล่าวมอบแก่พนักงานของโจทก์ร่วม นางสาววรรณนิภาบันทึกรายการช่องถอนในสมุดคู่ฝากจำนวนเงิน 500,000 บาท ลงรายการเงินคงเหลือจำนวน 1,685,000 บาท ซึ่งความจริงเหลือเพียง 1,235,000 บาท ลงรายการในทะเบียนบัญชีเงินฝากว่าถอนเงิน 50,000 บาท เงินคงเหลือ 1,685,000 บาท แล้วมอบเงินจำนวน 500,000 บาท ให้แก่จำเลยพร้อมทั้งให้จำเลยลงลายมือชื่อรับเงินในใบสำคัญจ่ายเงิน เอกสารหมาย จ.12 เห็นว่า นางสาววรรณนิภาเป็นพนักงานของโจทก์ร่วมซึ่งทำหน้าที่ถอนเงินเป็นผู้มอบเงินจำนวนที่ถอนให้แก่จำเลยและให้จำเลยลงลายมือชื่อรับเงินในใบสำคัญจ่ายเงิน เอกสารหมาย จ.12 ระบุจำนวนเงินทั้งตัวเลขและตัวอักษรห้าแสนบาท ทั้งในสมุดคู่ฝากบัญชีเลขที่ อพ.177 เอกสารหมาย จ.8 ก็ระบุจำนวนเงินที่ถอนในวันดังกล่าว 500,000 บาท เมื่อพิจารณาลายมือชื่อผู้รับเงินในใบสำคัญจ่ายเงิน เอกสารหมาย จ.12 เปรียบเทียบกับลายมือชื่อของจำเลยในใบสำคัญจ่ายเงิน เอกสารหมาย ล.3 และในคำขอเปิดบัญชีเงินฝากเอกสารหมาย จ.7 มีลักษณะที่คล้ายกันมากทั้งรูปทรงตัวอักษร การตวัดเส้นขึ้นลงและความหนักเบาของลายเส้น จึงเชื่อว่าลายมือชื่อในช่องผู้รับเงินในใบสำคัญการจ่ายเงิน เอกสารหมาย จ.12 เป็นลายมือชื่อของจำเลย เอกสารหมาย จ.12 มีข้อความชัดเจนว่าจำเลยรับเงินจำนวน 500,000 บาท ไปจากโจทก์ร่วม เมื่อพิจารณาประกอบกับสำเนาสมุดคู่ฝากบัญชีเลขที่ อพ.117 เอกสารหมาย จ.8 รายการวันที่ 23 เมษายน 2540 ช่องถอนออระบุจำนวนเงิน 500,000 บาท เมื่อจำเลยถอนเงินในวันที่ 23 เมษายน 2540 ดังกล่าวแล้วพนักงานของโจทก์ร่วมคืนสมุดคู่ฝากตามสำเนาเอกสารหมาย จ.8 แก่จำเลยโดยได้กรอกรายการถอนและจำนวนเงินคงเหลือแล้ว ตามสามัญสำนึกของคนทั่วไปเมื่อถอนเงินแล้วต้องตรวจนับเงินว่าครบถ้วนตรงตามที่ถอนหรือไม่และตรวจดูรายการถอนว่าจำนวนเงินที่ถอนตรงกับจำนวนเงินที่ได้รับหรือไม่ อันเป็นความปกติทั่วไปจำเลยต้องเห็นแล้วว่าในวันดังกล่าวจำเลยได้ถอนเงินจำนวน 500,000 บาท และได้รับเงินไปแล้ว มิเช่นนั้นจำเลยต้องโต้แย้งคัดค้านต่อโจทก์ร่วมแล้วว่าเหตุใดจำเลยถอนเงินเพียง 50,000 บาท แต่พนักงานของโจทก์ร่วมกลับกรอกรายการในสมุดคู่ฝากเอกสารหมาย จ.8 ว่าจำเลยถอนเงิน 500,000 บาท ด้วยเหตุผลดังได้วินิจฉัยมาแล้วนี้ จึงรับฟังข้อเท็จจริงว่าพนักงานของโจทก์ร่วมดำเนินการให้จำเลยถอนเงินจากบัญชีเงินฝากเลขที่ อพ.117 จำนวนเงิน 500,000 บาท แต่ลงรายการในทะเบียนบัญชีเงินฝากของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.10 ซึ่งอยู่ที่โจทก์ร่วมว่าถอนเพียง 50,000 บาท ทำให้มียอดคงเหลือเป็นเงิน 1,685,000 บาท ซึ่งทำให้จำนวนเงินเกินกว่าความเป็นจริงจำนวน 450,000 บาท ดังนั้น เมื่อจำเลยขอปิดบัญชีเงินฝากเลขที่ อพ.117 พนักงานของโจทก์ร่วมยังมิได้ตรวจพบความผิดพลาดดังกล่าวจึงปิดบัญชีนั้นและมอบเงินแก่จำเลยเกินจากเงินที่จำเลยมีสิทธิถอนจากโจทก์ร่วมจำนวน 450,000 บาท ต่อมาภายหลังโจทก์ร่วมตรวจสอบพบความผิดพลาดดังกล่าว จึงทวงถามให้จำเลยคืนเงินนั้น จำเลยไม่ยอมคืนให้โจทก์ร่วมแสดงให้เห็นว่าจำเลยเบียดบังเอาเงินจำนวนดังกล่าวเป็นของตน ที่จำเลยฎีกาว่า คดีนี้โจทก์ร่วมร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่าจำเลยยักยอกทรัพย์ พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาจำเลยว่ากระทำความผิดยักยอกและสอบสวนจำเลยในข้อหาดังกล่าว แต่โจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาฉ้อโกง โดยที่โจทก์มิได้ให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนจำเลยในข้อหาฉ้อโกง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในข้อหาฉ้อโกงนั้น เห็นว่า คดีนี้พนักงานสอบสวนได้สอบสวนจำเลยในข้อหายักยอกและมีความเห็นสั่งฟ้องจำเลยในข้อหายักยอก แต่โจทก์เห็นว่าการกระทำของจำเลยตามที่พนักงานสอบสวนได้สอบสวนแล้วนั้นเป็นความผิดฐานฉ้อโกง โจทก์จึงฟ้องจำเลยในข้อหาฉ้อโกง เป็นเรื่องความเห็นของโจทก์กับพนักงานสอบสวนแตกต่างกันในการปรับบทกฎหมายกับการกระทำของจำเลย กรณีเช่นนี้ถือได้ว่าพนักงานสอบสวนได้สอบสวนในข้อหาฉ้อโกงแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share