แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การหยุดงานวันธรรมสวนะตามประกาศสำนักคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2499 ถือว่า เป็นวันหยุดราชการปกติประจำสัปดาห์ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าจ้างสำหรับวันหยุดทำงานตามพระราชบัญญัติแรงงาน มาตรา 25
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องเรียกค่าจ้างสำหรับวันธรรมสวนะที่ค้างจ่ายเป็นเงิน 899 บาท 56 สตางค์ พร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า ไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินค่าจ้างสำหรับวันธรรมสวนะที่หยุดงานด้วย
ศาลชั้นต้นงดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อก่อนใช้บังคับพระราชบัญญัติแรงงาน พ.ศ. 2499 โจทก์ได้เป็นลูกจ้างตั้งแต่ยังไม่มีการหยุดงานในวันธรรมสวนะ และได้มีการหยุดงานในวันธรรมสวนะขึ้นก็เพราะสำนักคณะรัฐมนตรีได้ประกาศเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2499 ข้อความในตอนท้ายประกาศระบุไว้ชัดเจนว่า “ให้แก้ไขวันหยุดราชการประจำสัปดาห์เสียใหม่ คือ วันหยุดราชการปกติประจำสัปดาห์ ให้หยุดวันธรรมสวนะและวันอาทิตย์ ฯลฯ จึงต้องถือว่า การหยุดงานในวันธรรมสวนะเป็นการหยุดตามปกติประจำสัปดาห์ ฉะนั้นในตอนก่อนใช้พระราชบัญญัติแรงงาน โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเอาค่าจ้างแรงงานสำหรับวันธรรมสวนะที่หยุดงานแต่ประการใด ส่วนในตอนหลังที่ใช้พระราชบัญญัติแรงงานแล้ว บทบังคับในพระราชบัญญัตินี้ได้ให้นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันกำหนดวันหยุดประจำสัปดาห์แต่ต้องไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 24 ชั่วโมงติดต่อกัน และให้ตกลงกันกำหนดวันหยุดงานตามประเพณีนิยม แต่ต้องไม่น้อยกว่าปีละ 13 วัน (มาตรา 10, 11) วันหยุดงานตามประเพณีนิยมเท่านั้น ลูกจ้างจึงจะมีสิทธิได้รับค่าจ้างเช่นเดียวกับวันทำงานตลอดวันที่หยุดนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การปฏิบัติระหว่างโจทก์จำเลยในการจ้างจึงต้องเป็นไปตามระเบียบแบบแผนของทางราชการดังกล่าวคือ วันหยุดตามปกติประจำสัปดาห์ ได้แก่วันอาทิตย์และวันธรรมสวนะซึ่งไม่ขัดต่อบทบังคับแห่งพระราชบัญญัติแรงงาน พ.ศ. 2499 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น แต่อย่างใดเลย
พิพากษายืน