แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2549 จำเลยมีเมทแอมเฟตามีน 3,800 เม็ด น้ำหนัก 382.810 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ ได้ 28.483 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย กรณีจึงต้องด้วยบทกำหนดโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสาม อันเป็นคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ให้ศาลตั้งทนายความให้ อันเป็นคนละกรณีกับวรรคสองของบทมาตราดังกล่าว ซึ่งเป็นคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ที่ศาลต้องสอบถามด้วยว่าจำเลยต้องการทนายความหรือไม่ ดังนั้น ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 173 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยไม่มีทนายความ ศาลก็ต้องตั้งทนายความให้โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยต้องการทนายความหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อความคุ้มครองแก่จำเลยในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิตในการต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ แต่คดีนี้ปรากฎตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ฉบับลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2549 ท้ายคำให้การรับสารภาพของจำเลยว่าศาลชั้นต้นสอบจำเลยเรื่องทนายความแล้ว แต่จำเลยแถลงไม่ต้องการทนายความ ดังนี้ จึงเป็นการที่ศาลชั้นต้นเพียงแต่สอบถามจำเลยเรื่องทนายความโดยไม่ตั้งทนายความให้จำเลย แล้วดำเนินการสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลยไปจนเสร็จ แม้ต่อมาจำเลยจะได้แต่งทนายความเข้ามา แต่ก็เป็นการแต่งทนายความเข้ามาในภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานโจทก์จนเสร็จสิ้นแล้ว ดังนั้น ขณะที่ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานโจทก์ในคดีนี้ จำเลยยังไม่มีทนายความคอยช่วยเหลือในการดำเนินคดี อันเป็นกระบวนการพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาเห็นเป็นการจำเป็นที่จะให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 100/1, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33 ริบเมทแอมเฟตามีน รองเท้าแตะและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง จำคุก 24 ปี และปรับ 1,000,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 12 ปี และปรับ 500,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 แต่ให้กักขังแทนค่าปรับไม่เกิน 2 ปี ริบเมทแอมเฟตามีน รองเท้าแตะและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม จำคุกตลอดชีวิต และปรับ 2,000,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุก 25 ปี และปรับ 1,000,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ชอบด้วยบทบัญญัติมาตรา 173 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2549 จำเลยมีเมทแอมเฟตามีน 3,800 เม็ด น้ำหนัก 382.810 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 28.483 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย กรณีจึงต้องด้วยบทกำหนดโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 66 วรรคสาม อันเป็นคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิตซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่า มีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ให้ศาลตั้งทนายความให้ อันเป็นคนละกรณีกับวรรคสองของบทมาตราดังกล่าว ซึ่งเป็นคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ที่ศาลต้องสอบถามด้วยว่าจำเลยต้องการทนายความหรือไม่ ดังนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยไม่มีทนายความ ศาลก็ต้องตั้งทนายความให้โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยต้องการทนายความหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อความคุ้มครองแก่จำเลยในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิตในการต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ แต่คดีนี้ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2549 ท้ายคำให้การรับสารภาพของจำเลยว่า ศาลชั้นต้นสอบจำเลยเรื่องทนายความแล้ว แต่จำเลยแถลงไม่ต้องการทนายความ ดังนี้ จึงเป็นการที่ศาลชั้นต้นเพียงแต่สอบถามจำเลยเรื่องทนายความโดยไม่ตั้งทนายความให้จำเลย แล้วดำเนินการสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลยไปจนเสร็จ แม้ต่อมาจำเลยจะได้แต่งทนายความเข้ามา แต่ก็เป็นการแต่งทนายความเข้ามาในภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานโจทก์จนเสร็จสิ้นแล้ว ดังนั้น ขณะที่ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานโจทก์ในคดีนี้ จำเลยยังไม่มีทนายความคอยช่วยเหลือในการดำเนินคดี อันเป็นกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งศาลฎีกาเห็นเป็นการจำเป็นที่จะให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 วรรคหนึ่ง แล้วพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
??
??
??
??
2/2