แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ได้แยกการกระทำผิดไว้หลายอย่างหลายชนิด แต่ละชนิดเป็นความผิดอยู่ในตัวเอง ไม่เกี่ยวข้องกัน
ความผิดฐานนำของต้องจำกัดที่จะต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่เข้ามาในราชอาณาจักร ไม่จำต้องมีองค์ประกอบในเรื่องมีเจตนาจะฉ้อภาษีรัฐบาล
จำเลยใช้เอกสารปลอมสั่งอาวุธปืนซึ่งเป็นของต้องจำกัดที่จะต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่เข้ามาในราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติศุลกากร จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน แม้จำเลยจะมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญาและมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ แล้วก็ตาม จำเลยก็ยังมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร มาตรา 27 อีก
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 7/2513)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำผิดกฎหมาย ร่วมกันส่งและร่วมกันนำเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ซึ่งเครื่องกระสุนปืนและอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายหลายครั้ง ของดังกล่าวเป็นของต้องห้ามมิให้นำเข้ามา เป็นการหลีกเลี่ยงข้อห้ามข้อจำกัด รวมราคาและค่าอากรเป็นเงิน 46,368 บาท 27 สตางค์ และจำเลยร่วมกับบุคคลอื่นทำใบอนุญาตให้สั่งหรือนำเข้ามาซึ่งอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนแบบ ป.2 ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมขึ้น เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นใบอนุญาตที่แท้จริง ทั้งนี้น่าจะเกิดความเสียหายแก่นายทะเบียนท้องที่อำเภอเมืองนครปฐม และทางราชการจังหวัดนครปฐม และจำเลยได้ร่วมกันนำใบอนุญาตดังกล่าวไปใช้แสดงต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรว่าเป็นใบอนุญาตอันแท้จริงเพื่อขออนุญาตขนเครื่องกระสุนปืนขึ้นบกก่อนที่จะส่งและนำเข้าเจ้าหน้าที่เก็บท่อนหนึ่งไว้ แล้วจำเลยร่วมกันนำใบอนุญาตปลอมอีกท่อนหนึ่งไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรพร้อมกับใบขนสินค้าขาเข้า เจ้าหน้าที่ศุลกากรหลงเชื่อว่าเป็นใบอนุญาตอันแท้จริง จึงอนุญาตให้ขนขึ้นบก และได้ตรวจมอบเครื่องกระสุนปืนให้จำเลย การกระทำของจำเลยน่าจะเกิดความเสียหายแก่เจ้าหน้าที่ศุลกากร จำเลยที่ 3 เป็นจำเลยคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาดำที่ 985/2507 ของศาลชั้นต้น ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 24, 72, 73 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2501 มาตรา 6 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 266, 268, 83 พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2490 มาตรา 3 พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 5, 6, 7, 8 กับขอให้จ่ายเงินรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้จับกุมตามกฎหมาย และให้นับโทษต่อจำเลยที่ 3 จากคดีอาญาที่อ้างถึง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ใบอนุญาตแบบ ป.2 เอกสาร จ.1 ถึง จ.4แบบ ป.3 เอกสาร จ.17 เป็นเอกสารปลอม แต่โจทก์ไม่มีพยานมานำสืบว่าจำเลยเป็นผู้ทำปลอมขึ้น ทั้งไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ทำปลอม ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันใช้เอกสารปลอมดังกล่าวโดยรู้อยู่แล้ว ทั้งจำเลยที่ 1ที่ 2 มีความผิดฐานสั่งอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน สำหรับการค้าโดยมิได้รับอนุญาตอีกด้วยฟังว่า จำเลยที่ 3 กระทำไปโดยสุจริต ไม่ทราบว่าเป็นเอกสารปลอม จึงไม่มีความผิดฐานใช้เอกสารปลอม ฐานสั่งอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนเข้ามา จำเลยที่ 1 ชำระอากรศุลกากรครบถ้วน จำเลยทั้งสามจึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1ที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 268, 83พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 24, 73 แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2501 มาตรา 6 แต่ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2501 มาตรา 6 ซึ่งเป็นกระทงหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้ปรับจำเลยที่ 1ผู้เป็นนิติบุคคล 5,000 บาท ให้จำคุกจำเลยที่ 2 หนึ่งปี จำเลยที่ 2 ไม่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษไว้ภายใน 3 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 โดยยึดทรัพย์สินใช้แทนเงินค่าปรับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ปรากฏว่าส่งหมายนัดกับฎีกาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่ได้ เพราะหาตัวไม่พบ
ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ตามบทมาตราที่อ้างถึง ได้แยกการกระทำผิดไว้หลายอย่างหลายชนิด แต่ละชนิดเป็นความผิดอยู่ในตัวเอง ไม่เกี่ยวข้องกัน เช่น ผู้ใดนำหรือหาของต้องจำกัด หรือต้องห้าม เข้ามาในราชอาณาจักร ก็เป็นความผิดชนิดหนึ่งในตัวเองหรือผู้ใดเกี่ยวข้องด้วยประการใด ๆ ในการหลีกเลี่ยงข้อห้ามหรือข้อจำกัดอันเกี่ยวแก่ของนั้น ก็เป็นความผิดเช่นเดียวกัน คดีนี้ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยนำอาวุธปืน กระสุนปืนเข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และอาวุธปืน กระสุนปืนนั้นเป็นของต้องจำกัดตามความหมายของบทกฎหมายที่อ้างถึงแล้วปรากฏว่า จำเลยได้กระทำผิดฐานนำ หรือพาของต้องจำกัดเข้ามาในราชอาณาจักรโดยใช้ใบอนุญาตปลอมเข้ามานั้นก็เป็นการหลีกเลี่ยงข้อห้ามข้อจำกัดอันเกี่ยวกับของนั้นด้วย แม้จำเลยจะได้ชำระภาษีศุลกากรแล้ว จำเลยก็ยังหาพ้นความผิดไปไม่ เพราะครบองค์ประกอบเกี่ยวกับความผิดฐานนำของต้องจำกัดที่จะต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ เข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่จำต้องมีเจตนาจะฉ้อภาษีรัฐบาลด้วย ส่วนการที่จำเลยเสียภาษีศุลกากรไปนั้น ก็เนื่องจากเจ้าพนักงานศุลกากรสำคัญผิดในข้อเท็จจริงว่าอาวุธปืน กระสุนปืน อันเป็นของต้องจำกัด ได้รับอนุญาตตามกฎหมายให้นำเข้าแล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงมีความผิดตามข้อกฎหมายดังที่โจทก์ฎีกา ซึ่งเป็นกรณีความผิดหลายกรรมต่างกันอีกกระทงหนึ่ง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 อีกกระทงหนึ่ง ให้ปรับจำเลยที่ 1 ที่ 2เฉพาะกระทงนี้เป็นเงิน 185,473 บาท 08 สตางค์ หากไม่ชำระเงินค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 เกี่ยวกับจำเลยที่ 1ผู้เป็นนิติบุคคล จะกักขังแทนเงินค่าปรับไม่ได้ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 แต่ประการเดียว กับให้จ่ายเงินรางวัลร้อยละ 20 ของค่าปรับ แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้จับกุม ตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 5, 6, 7, 8 นอกจากที่แก้นี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์