คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 40/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำนองเป็นสัญญาที่เอาทรัพย์สินตราไว้เป็นประกันการชำระหนี้จึงมีหนี้ที่จะต้องชำระแก่กันอันเป็นหนี้ประธาน และมีจำนองเป็นอุปกรณ์ของหนี้นั้น
การบังคับจำนองแก่ทรัพย์ซึ่งจำนองจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีการไม่ชำระหนี้อันเป็นประธานเกิดขึ้น ดังนั้น ในกรณีที่มีการบังคับจำนองโดยเอาทรัพย์สินของจำเลยซึ่งจำนองไว้ออกขายทอดตลาดเพื่อใช้เงินที่จำเลยกู้โจทก์ไป แต่ขายได้เงินสุทธิน้อยกว่าเงินที่จำเลยค้างชำระอยู่หากในสัญญาจำนองไม่ปรากฏว่าจำเลยยอมให้เอาทรัพย์อื่นนอกจากทรัพย์ที่จำนองชำระหนี้ได้อีกแล้ว จำเลยก็ไม่ต้องรับผิดในจำนวนเงินที่ขาดโจทก์จะขอให้ยึดทรัพย์อื่นของจำเลยมาชำระหนี้อีกหาได้ไม่

ย่อยาว

คดีนี้ มูลกรณีสืบเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 9 และจำเลยที่ 10 เอาที่ดินรวม 17 แปลงซึ่งเป็นของจำเลยทั้งสามจำนองไว้ต่อโจทก์เป็นการประกันการชำระหนี้รายนี้ ต่อมาโจทก์ได้ฟ้องเรียกเงินกู้และขอบังคับจำนองด้วย ศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี และได้เอาทรัพย์ซึ่งจำนองทั้งหมดออกขายทอดตลาดใช้หนี้ ได้เงินสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระโจทก์จึงขอให้ศาลดำเนินการบังคับคดีต่อไป ศาลมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์อื่นของจำเลยที่ 1 ไว้รวม 47 รายการ และประกาศขายทอดตลาดจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งถอนการยึดทรัพย์ดังกล่าวเสียอ้างว่าโจทก์ได้ยึดที่ดิน 17 แปลงซึ่งเป็นทรัพย์ที่จำนองออกขายทอดตลาด และโจทก์ได้รับชำระหนี้ไปแล้ว แม้จะน้อยกว่าจำนวนหนี้ที่ค้างชำระอยู่ก็ตาม ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ก็เป็นอันหมดไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733

โจทก์คัดค้านว่า จำเลยที่ 1 ยังต้องรับผิดชำระหนี้ตามคำพิพากษาอยู่อีก แม้จะได้ขายทรัพย์ที่จำนองไปแล้วก็ตาม

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ศาลได้ยึดและขายทอดตลาดทรัพย์ที่จำนองไปแล้ว เป็นกรณีต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733จึงมีคำสั่งให้ปล่อยทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เสีย

โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์มีสิทธิยึดทรัพย์รายนี้ได้

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า หนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เกิดขึ้นโดยสัญญากู้ มิใช่เกิดขึ้นจากการจำนอง หนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงยังคงมีอยู่จนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระครบตามคำพิพากษามิได้ระงับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733 พิพากษากลับให้ดำเนินการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 เพื่อใช้หนี้โจทก์ต่อไปจนครบตามคำพิพากษา

อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ทำความเห็นแย้งว่า ควรพิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดในจำนวนเงินที่ขาด

ปัญหามีเพียงว่า เมื่อได้เอาทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ที่ 9 และที่ 10 ซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้เงินที่จำเลยที่ 1 กู้โจทก์ไป ได้เงินสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ยังค้างชำระอยู่ โจทก์จะขอให้ยึดทรัพย์อื่นของจำเลยที่ 1 มาชำระหนี้ โดยถือว่าจำเลยที่ 1 ยังต้องรับผิดในเงินที่ยังขาดจำนวนอยู่ได้หรือไม่

ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 702, 703และ 681 จำนองเป็นสัญญาเอาทรัพย์สินตราไว้เป็นประกันการชำระหนี้โดยหนี้ที่มีจำนองเป็นประกันจะเป็นหนี้ที่มีอยู่ในขณะทำสัญญาจำนองหรือหนี้ในอนาคตก็ได้ ในกรณีจำนองจึงมีหนี้ที่จะพึงต้องชำระแก่กันเป็นหนี้ประธานและหนี้จำนองเป็นอุปกรณ์ของหนี้นั้น การบังคับจำนองโดยฟ้องศาลเพื่อให้พิพากษาสั่งให้ยึดทรัพย์สินซึ่งจำนองและให้ขายทอดตลาด จะกระทำได้ต่อเมื่อมีการไม่ชำระหนี้ที่เป็นประธานเกิดขึ้น (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 728) หรืออีกนัยหนึ่งการบังคับจำนองเป็นการบังคับแก่ทรัพย์สินซึ่งจำนองเพื่อชำระหนี้ที่เป็นประธานนั่นเอง เมื่อได้มีการบังคับด้วยการเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ ได้เงินจำนองสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่ เงินยังขาดจำนวนเท่าใด ลูกหนี้ก็ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 214 และ 733 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2478 มาตรา 5

ฉะนั้น เมื่อในสัญญาจำนองไม่ปรากฏว่าจำเลยยอมให้เอาทรัพย์อื่นนอกจากทรัพย์ที่จำนองชำระได้อีก จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้เงินกู้ จึงไม่ต้องรับผิดในจำนวนที่ยังขาดอยู่อีกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 214 และมาตรา 733 ที่แก้ไขเพิ่มเติมใหม่ โจทก์จะขอให้ยึดทรัพย์อื่นของจำเลยที่ 1 มาชำระหนี้อีกไม่ได้

พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีตามคำสั่งศาลชั้นต้น

Share