คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1240/2502

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พฤติการณ์ของผู้ตายเป็นโจรปล้นทรัพย์ทำร้ายนายเหืองจำเลยแล้วยังจะทำซ้ำอีกนายเบือง นายโหนจำเลยเข้าไปป้องกันโดยตีผู้ตายเสียก่อนเพื่อไม่ให้ผู้ตายทำร้ายนายเหืองจำเลย พรรคพวกของผู้ตาย 2 คน ยังกลับมาช่วยผู้ตายอีก ขณะนั้น เป็นเวลากลางคืน ผู้ตายกับพวกจะก่อกรรมรุนแรงอย่างใดต่อไปย่อมรู้ไม่ได้ ในที่สุดผู้ตายก็ตายลงในเวลานั้นเอง การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความจำเป็นเพื่อป้องกันชีวิตให้พ้นอันตรายซึ่งเกิดโดยผิดด้วยกฎหมาย เช่นนี้ ไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุ ไม่มีความผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยสมคบกันฆ่านายมอบตายโดยเจตนาขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๒๔๗, ๖๓
จำเลยทั้ง ๔ ปฏิเสธแต่สืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว จำเลยที่ ๑, ๒, ๓ ให้การใหม่ว่า ได้ทำร้ายผู้ตายจริง เพื่อป้องกันตัวและทรัพย์พอสมควรแก่เหตุ
ศาลชั้นต้น ฟังข้อเท็จจริงตามคำพยานจำเลย แต่เห็นว่า ตามรายงานขันสูตรพลิกศพ ผู้ตายมีบาดแผลศีรษะแตกสมองไหล กับมีบาดแผลฉกรรจ์อีกหลายแห่งแสดงว่าได้กระทำอย่างไม่ปราณี ทั้งที่ยังมีโอกาสกระทำอย่างอื่นได้ การกระทำของจำเลยที่ ๑,๒,๓ เป็นการป้องกันเกิดสมควรแก่เหตุ ส่วนจำเลยที่ ๔ ไม่ได้ทำผิดด้วย พิพากษาว่า จำเลยที่ ๑, ๒, ๓ มีความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๒๔๕ (ที่ถูกน่าจะเป็น ๒๔๙), ๕๓ จำคุกจำเลยที่ ๑ ผู้มีมีด ๒ ปี จำเลยที่ ๒ – ๓ คนละ ๑ ปี คำให้การของจำเลยทั้งสามนี้มีประโยชน์ในทางพิจารณา ลดโทษ ให้คนละ ๑ ใน ๓ ตามมาตรา ๕๙ คงจำคุกจำเลยที่ ๑ ไว้ ๑ ปี ๔ เดือน จำเลยที่ ๒ – ๓ คนละ ๘ เดือนของกลางริบ กับให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๔
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๑, ๒, ๓ ตามฟ้อง
ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงตามศาลชั้นต้น แต่เห็นว่า จำเลยทั้งสามได้ทำร้ายผู้ตายเป็นการป้องกันตัวพอสมควรแก่เหตุ ไม่มีความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๕๐ พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ ๑, ๒, ๓ ด้วย ของกลางคืนจำเลย
โจทก์ฎีกาว่า ควรจะฟังคำพยานโจทก์ ลงโทษจำเลยที่ ๑, ๒, ๓ ตามฟ้อง และถึงหากจะฟังคำพยานจำเลยก็เป็นการป้องกันตัวเกินสมควรแก่เหตุ
ศาลฎีกาเห็นว่า พฤติการณ์ของผู้ตายเป็นโจรปล้นทรัพย์ ทำร้ายนายเทืองจำเลยแล้ว ยังจะทำซ้ำอีก นายเบือง นายโหน จำเลยเข้าไปป้องกันโดยตีผู้ตายเสียก่อนไม่ให้ทำร้ายนายเทืองจำเลย พรรคพวกของผู้ตาย ๒ คน ยังกลับมาช่วยผู้ตายอีก ในขณะนั้น เป็นเวลากลางคืน ผู้ตายกับพวกจะก่อกรรมรุนแรงอย่างใดต่อไปย่อมรูไม่ได้ การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความจำเป็นเพื่อป้องกันชีวิตให้พ้นอันตราย ซึ่งเกิดโดยผิดด้วยกฎหมาย ไม่เป็นการเกินสมควรแก่เหตุ
พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์

Share