คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8330/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

อุทธรณ์ของผู้ร้องที่ว่า คดีของผู้ร้องต้องอยู่ภายใต้บังคับพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 แต่ศาลชั้นต้นนำบทบัญญัติของกฎหมายที่ยกเลิกไปแล้วมาปรับใช้แก่คดี คำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกล่าวอ้างว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้ร้องจึงมีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 222
ผู้ร้องยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อคณะกรรมการอนุญาโตตุลาการและคณะกรรมการอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดในระหว่างที่พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 ยังมีผลใช้บังคับ เมื่อผู้ร้องได้ส่งสำเนาคำชี้ขาดให้ผู้คัดค้านทราบแล้ว ผู้คัดค้านไม่ปฏิบัติตามคำชี้ขาด ผู้ร้องย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดได้ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้คัดค้านได้รับสำเนาคำชี้ขาดตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530
ในระหว่างที่ผู้ร้องยังมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 23 มีพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ออกใช้บังคับโดยมาตรา 3 บัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 แต่มีบทเฉพาะกาลมาตรา 48 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์แห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการและการดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการใดที่ได้กระทำไปก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้บังคับ” และวรรคสองบัญญัติว่า “การดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการใดที่ยังมิได้กระทำและยังไม่ล่วงพ้นกำหนดเวลาที่จะต้องกระทำตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ก่อนพระราชบัญญัตินี้ ให้ดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการนั้นได้ภายในกำหนดเวลาตามพระราชบัญญัตินี้” เมื่อการยื่นคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเป็นการดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการตามความในมาตรา 48 วรรคสอง และยังไม่ล่วงกำหนดเวลาที่จะต้องกระทำตามกฎหมายที่ถูกยกเลิกไป ผู้ร้องจึงมีสิทธิร้องขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการนั้นได้ภายในกำหนดเวลาสามปีนับแต่วันที่อาจบังคับตามคำชี้ขาดได้ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 42

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลพิพากษาตามคำวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทของอนุญาโตตุลาการหมายเลขแดงที่ 5862/2544, หมายเลขแดงที่ 298/2545, หมายเลขแดงที่ 680/2545 และหมายเลขแดงที่ 851/2545 รวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยพร้อมค่าธรรมเนียมชั้นอนุญาโตตุลาการทั้ง 4 คำชี้ขาด เป็นเงิน 133,914 บาท
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่มีอำนาจร้องขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ เนื่องจากคณะกรรมการอนุญาโตตุลาการสมาคมประกันวินาศภัยได้มีคำชี้ขาดคำเสนอข้อพิพาทของผู้ร้องทั้งสี่คำเสนอข้อพิพาทแล้วเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2545 ผู้ร้องได้ส่งสำเนาคำชี้ขาดให้ลูกหนี้ทราบเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2545 ลูกหนี้ไม่ปฏิบัติตามคำชี้ขาด ผู้ร้องต้องยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจภายใน 1 ปี แต่ผู้ร้องมายื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อบังคับตามคำชี้ขาดเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2547 ผู้คัดค้านซึ่งเป็นลูกหนี้จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาคู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องประสงค์ที่จะบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการทั้ง 4 คำชี้ขาด รวมต้นเงิน ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมในชั้นอนุญาโตตุลาการเป็นจำนวนเงิน 133,914 บาท และขอให้ศาลวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเพียงประเด็นเดียวว่า คดีของผู้ร้องขาดอายุความหรือไม่
ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ผู้ร้องกับผู้คัดค้านได้ร่วมกันลงนามทำสัญญาการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการที่สมาคมประกันวินาศภัยตามเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 6 ต่อมาผู้ร้องได้เสนอข้อพิพาททางแพ่งที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านบางส่วนต่อสำนักงานอนุญาโตตุลาการสมาคมประกันวินาศภัย เพื่อให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดรวม 4 คำเสนอข้อพิพาท อนุญาโตตุลาการได้พิจารณาและมีคำชี้ขาดข้อพิพาทให้ผู้คัดค้านชำระหนี้แก่ผู้ร้องทั้ง 4 คำเสนอข้อพิพาทเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 5862/2544 มีคำวินิจฉัยชี้ขาดเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2544 และส่งสำเนาคำชี้ขาดให้แก่ผู้คัดค้านเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2545 คำชี้ขาดข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 298/2545 มีคำวินิจฉัยชี้ขาดเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2545 และส่งสำเนาคำชี้ขาดให้แก่ผู้คัดค้านเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2545 คำชี้ขาดข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 680/2545 มีคำวินิจฉัยชี้ขาดเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2545 และส่งสำเนาคำชี้ขาดให้แก่ผู้คัดค้านเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2545 และคำชี้ขาดข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 851/2545 มีคำวินิจฉัยชี้ขาดเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2545 และส่งสำเนาคำชี้ขาดให้แก่ผู้คัดค้านเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2545 ตามเอกสารหมาย ร.1 รวม 4 ฉบับ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง ซึ่งนำมาปรับใช้แก่คดีนี้แล้วพิพากษายกคำร้องของผู้ร้อง คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่าผู้ร้องอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นได้หรือไม่ ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า คดีของผู้ร้องต้องอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 แต่ศาลชั้นต้นนำบทบัญญัติของกฎหมายที่ยกเลิกไปแล้วมาปรับใช้แก่คดีนี้ คำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ของผู้ร้องเป็นกรณีที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้นนั้นฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้ร้องจึงมีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 45 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 222 ปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อมามีว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อคณะกรรมการอนุญาโตตุลาการและคณะกรรมการอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดในระหว่างที่พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 ยังมีผลใช้บังคับ เมื่อผู้ร้องได้ส่งสำเนาคำชี้ขาดให้ผู้คัดค้านทราบแล้ว ผู้คัดค้านไม่ปฏิบัติตามคำชี้ขาด ผู้ร้องย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดได้ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้คัดค้านได้รับสำเนาคำชี้ขาดตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 ซึ่งใช้บังคับแก่คดีของผู้ร้อง ต่อมาปรากฎว่าในระหว่างที่ผู้ร้องยังมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวนั้น พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ได้มีผลใช้บังคับโดยมาตรา 3 ได้บัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 และบทเฉพาะกาลมาตรา 48 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์แห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการและการดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการใดที่ได้กระทำไปก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ” และวรรคสองบัญญัติว่า “การดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการใดที่ยังมิได้กระทำและยังไม่ล่วงพ้นกำหนดเวลาที่จะต้องกระทำตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ก่อนพระราชบัญญัตินี้ ให้ดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการนั้นได้ภายในกำหนดเวลาตามพระราชบัญญัตินี้” การยื่นคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเป็นการดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการตามความในมาตรา 48 วรรคสอง และยังไม่ล่วงกำหนดเวลาที่จะต้องกระทำตามกฎหมายที่ถูกยกเลิกไปดังกล่าว ผู้ร้องจึงมีสิทธิร้องขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการนั้นภายในกำหนดเวลาสามปีนับแต่วันที่อาจบังคับตามคำชี้ขาดได้ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 42 ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อบังคับตามคำชี้ขาดทั้ง 4 คำชี้ขาดเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2547 ยังไม่พ้นกำหนดเวลา 3 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับตามคำชี้ขาด ประกอบกับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการทั้ง 4 คำชี้ขาด ไม่ใช่คำชี้ขาดเกี่ยวกับข้อพิพาทที่ไม่สามารถจะระงับโดยการอนุญาโตตุลาการและไม่ได้เป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมาย จึงให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการทั้ง 4 คำชี้ขาดตามคำร้องของผู้ร้องที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องของผู้ร้องมานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังขึ้น เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วอุทธรณ์ของผู้ร้องข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัยอีกเนื่องจากไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป”
พิพากษากลับ ให้ผู้คัดค้านชำระเงินจำนวน 109,820.94 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 32,086 บาท นับแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2543 ของต้นเงิน 49,123.70 บาท นับแต่วันที่ 27 เมษายน 2544 ของต้นเงิน 7,013 บาท นับแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2544 ของต้นเงิน 7,130 บาท นับแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2542 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share