แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สิทธิของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะเรียกเงินค่าหุ้นซึ่งยังค้างชำระจากผู้ถือหุ้นได้นั้น เป็นการให้เรียกร้องมาเป็นสินทรัพย์ของบริษัทผู้ล้มละลาย เพื่อแบ่งให้แก่เจ้าหนี้ทั้งตามส่วน ดังนั้น จะต้องเป็นผู้ถือหุ้นตามกฎหมายที่จะต้องรับผิดชำระต่อบริษัท ส่วนผู้ที่จะต้องรับผิดเพราะการแสดงออกให้เจ้าหนี้ บางคนหลงเข้าใจผิดว่าเป็นผู้ถือหุ้นประการใดนั้น เป็นเรื่องของเจ้าหนี้ผู้หลงเข้าใจผิดแต่ละรายไปหาใช่สิทธิของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่
ย่อยาว
สาขาคดีล้มละลายนี้เนื่องจากศาลแพ่งมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์บริษัทจำเลยเด็ดขาดและต่อมาพิพากษาให้ล้มละลาย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้ร้องให้ชำระเงินค่าหุ้นที่ค้าง ๑๕๗,๕๐๐ บาท ผู้ร้องปฏิเสธและยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลแพ่งว่า ผู้ร้องมิได้เป็นผู้ถือหุ้นและค้างชำระค่าหุ้น ๑๕๗,๕๐๐ บาทเลยหากจดเป็นลูกหนี้ค่าหุ้นก็เพียง ๑ หุ้นในตอนเริ่มก่อตั้งบริษัทเท่านั้น
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต่อสู้ว่า ผู้ร้องเป็นผู้ถือหุ้นตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัทเป็นจำนวน ๑๐ หุ้น คือ หมายเลขหุ้น ๑ ถึง ๑๐ และผู้ร้องยังได้รับโอนหุ้นอีก ๒๐๐ หุ้นคือ หมายเลขหุ้น ๑๒๑ ถึง ๓๒๐ ได้มีการชำระค่าหุ้นเพียง ๒๕ % หรือหุ้นละ ๒๕๐ บาท ยังค้างชำระอีกหุ้นละ ๗๕๐ บาท ผู้ร้องค้างค่าหุ้นทั้งสิ้น ๑๕๗,๕๐๐ บาท
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง ให้ผู้ร้องชำระหนี้ค่าหุ้นเป็นเงิน ๑๕๗,๕๐๐ บาท แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า สิทธิของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่จะเรียกเงินค่าหุ้นซึ่งยังค้างชำระจากผู้ถือหุ้นได้นั้น เป็นการให้เรียกร้องมาเป็นสินทรัพย์ของบริษัทผู้ล้มละลาย เพื่อแบ่งให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายตามส่วน ดังนั้น จะต้องเป็นผู้ถือหุ้นตามกฎหมายที่จะต้องรับผิดชำระต่อบริษัท ส่วนผู้ที่จะต้องรับผิดเพราะการแสดงออกให้เจ้าหนี้ บางคนหลงเข้าใจผิดว่าเป็นผู้ถือหุ้นประการใดนั้น เป็นเรื่องของเจ้าหนี้ผู้หลงเข้าใจผิดแต่ละรายไปหาใช่สิทธิของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่
เรื่องหุ้น ๑๐ หุ้น หมาย ๑ ถึง ๑๐ ที่ว่าผู้ร้องถือหุ้นตั้งแต่เริ่มตั้งบริษัทผู้ล้มละลายนั้น ผู้ร้องเบิกความรับว่า เมื่อเริ่มก่อตั้งบริษัทได้จองไว้ ๑๐ หุ้น และในชั้นฎีกาสำหรับ ๑๐ หุ้นนี้ ผู้ร้องคงเถียงคัดค้านมาแต่ว่าได้ชำระค่าหุ้นจนหมดแล้ว บริษัทไม่ได้ออกใบเสร็จและใบหุ้นให้ ข้อนี้ ตามเอกสารปรากฏมีการชำระค่าหุ้นเพียงหุ้นละ ๒๕๐ บาทเท่านั้น ทั้งในคำร้องของผู้ร้องต่อศาลก็มิได้ยกข้อนี้ขึ้นคัดค้านโดยปฏิเสธว่ามิได้มีหุ้นจำนวนใด ๆ เลย จึงไม่มีประเด็นที่ผู้ร้องจะนำสืบว่าได้ชำระค่าหุ้นหมดแล้ว
เรื่องการโอนหุ้น ๒๐๐ หุ้น หมาย ๑๒๑ ถึง ๓๒๐ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การโอนมิได้ทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๑๒๘ วรรค ๒ บัญญัติว่า การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอน มีพยานรับรองลายมือนั้น ๆ ด้วย แล้วเป็นโมฆะ ศาลฎีกาเห็นว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แสดงพยานหลักฐานฟังไม่ได้ว่า ผู้ร้องได้เป็นผู้ถือหุ้นหมายเลข ๑๒๑ ถึง ๓๒๐ ตามกฎหมายแล้ว ไม่มีสิทธิจะเรียกเงินค่าหุ้นสำหรับหุ้น ๒๐๐ หุ้นนี้จากผู้ร้องได้
พิพากษาแก้ศาลอุทธรณ์ ให้จำหน่ายชื่อผู้ร้องจากบัญชีผู้ถือหุ้นของเจ้าพนักงานพิพักษ์ทรัพย์สำหรับหุ้นเลขหมาย ๑๒๑ ถึง ๓๒๐ นั้นเสีย