คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7125/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลเพื่อแสดงความเป็นมาอันแท้จริงว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ จำเลยเป็นเพียงผู้มีชื่อในโฉนดที่พิพาทแทนโจทก์เท่านั้น และการนำสืบเช่นนี้ยังเป็นการนำสืบถึงการเป็นตัวแทนอีกส่วนหนึ่งด้วยซึ่งไม่จำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ทั้งนี้ เพื่อให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลย จึงหาใช่เป็นการนำสืบพยานบุคคลแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อปี 2530 นางแก้ว คงแสงดาวกับนางสาคร ยิ้มย่อง บริจาคที่ดินเนื้อที่ 8 ไร่ ให้สร้างวัดโจทก์ ขณะนั้นจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพระภิกษุในวัดเป็นกรรมการผู้ดูแลวัด และจำเลยที่ 2เป็นผู้ทำบัญชีรับจ่ายของโจทก์ จำเลยที่ 1 เริ่มก่อสร้างวัดโจทก์ แต่เนื่องจากด้านหน้าโบสถ์มีพื้นที่แคบ นางสวงค์ บุญญะสิทธิ์ จึงบริจาคที่พิพาทโฉนดเลขที่ 27374 ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่3 งาน 9 ตารางวา ซึ่งอยู่ติดหน้าโบสถ์ให้แก่โจทก์ โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับบริจาคและลงชื่อในโฉนดถือกรรมสิทธิ์แทนโจทก์เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์2533 ต่อมาวันที่ 18 มีนาคม 2535 จำเลยที่ 1 ขายที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2โดยพลการ การซื้อขายจึงตกเป็นโมฆะ และวันที่ 13 ธันวาคม 2537 จำเลยที่ 2ขายที่พิพาทต่อไปให้แก่จำเลยที่ 3 การซื้อขายจึงไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายเพราะนิติกรรมการโอนที่วัดจะทำได้โดยพระราชบัญญัติเท่านั้น โจทก์ขอให้จำเลยที่ 3 โอนที่พิพาทคืนแก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 3 เพิกเฉย ขอให้พิพากษาว่านิติกรรมการซื้อขายที่พิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 และระหว่างจำเลยที่ 2กับที่ 3 เป็นโมฆะให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายทั้ง 2 ครั้ง และให้จำเลยที่ 3คืนโฉนดที่พิพาทแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ

จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ไม่ทราบว่าจำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทหรือไม่ และการซื้อขายที่พิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 เป็นโมฆะหรือไม่ จำเลยที่ 3 เป็นบุคคลภายนอกซื้อที่พิพาทจากจำเลยที่ 2 โดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนโดยสุจริตแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 27374 ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี ระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 และระหว่างจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ให้จำเลยที่ 3 คืนโฉนดที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 โจทก์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นวัดในพระพุทธศาสนาเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2531 มีพระครูโอภาสธัญญกิจเป็นเจ้าอาวาส ที่พิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 27374 ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่ 3 งาน 9 ตารางวาจำเลยที่ 1 มีชื่อในโฉนดที่ดินดังกล่าวถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับนางสวงค์ บุญญะสิทธิ์โดยมีสัดส่วนตามจำนวนเนื้อที่ที่พิพาท ต่อมามีการแบ่งแยกเฉพาะที่พิพาทออกเป็นสัดส่วน โดยมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ วันที่ 18 มีนาคม 2535จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 และวันที่ 13 ธันวาคม2537 จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนขายที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 รายละเอียดตามสารบัญจดทะเบียน มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่าการที่โจทก์นำพยานบุคคลมาสืบว่าจำเลยที่ 1 มีชื่อในโฉนดที่พิพาทเป็นการถือกรรมสิทธิ์แทนโจทก์นั้น เป็นการสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) หรือไม่ เห็นว่าการที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลดังกล่าวก็เพื่อแสดงถึงความเป็นมาอันแท้จริงว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ จำเลยที่ 1 เป็นเพียงผู้มีชื่อในโฉนดที่พิพาทแทนโจทก์เท่านั้น และการนำสืบเช่นนี้ยังเป็นการนำสืบถึงการเป็นตัวแทนอีกส่วนหนึ่งด้วยซึ่งไม่จำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงหาใช่เป็นการนำสืบพยานบุคคลแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารไม่ กรณีไม่ต้องด้วยข้อห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข) สำหรับฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 2 นั้น เป็นข้อกฎหมายที่ไม่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยทั้งมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share