คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17978/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุบัญญัติไว้ชัดเจนว่า ให้คณะกรรมการ กสช. ก็ดี คณะกรรมการ กทช. ก็ดี และพนักงานสำนักงานของคณะกรรมการดังกล่าว ก็ดี เป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. แต่ในกฎหมายฉบับเดียวกัน มาตรา 49 ว่าด้วยคณะกรรมการสรรหา ที่มา และบทบาทหน้าที่ ไม่ได้กำหนดว่าคณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการโทรคมนาคมเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. เช่นเดียวกันกับคณะกรรมการ กสช. หรือ กทช. หรือพนักงานดังกล่าว เช่นนี้ ย่อมเห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าวได้ชัดเจนว่า กฎหมายไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะให้คณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการโทรคมนาคมต้องมีอำนาจหน้าที่หรือมีความรับผิดในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. จำเลยเป็นเพียงคณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการโทรคมนาคม จึงไม่ใช่เจ้าพนักงานที่จะต้องรับผิดในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 157, 158, 161 และ 162
ตำแหน่งประธานวุฒิสภา เป็นตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ ไม่ใช่ตำแหน่งเจ้าพนักงานตามความหมายในลักษณะ 2 หมวด 1 แห่ง ป.อ. การยื่นรายงานเรื่องผลการพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็น กทช. จึงไม่อาจที่จะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสิบเก้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 มาตรา 86 มาตรา 90 มาตรา 91 มาตรา 137 มาตรา 157 มาตรา 158 มาตรา 161 มาตรา 162 มาตรา 180 มาตรา 188 มาตรา 210 มาตรา 264 มาตรา 265 มาตรา 267 และมาตรา 268
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 16 ถึงแก่ความตาย ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 16
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ทางไต่สวนโจทก์นำสืบว่า เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2543 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 16 และนายกิตติ ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการสรรหามีอำนาจหน้าที่คัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอรายชื่อเป็น กทช. จำนวน 14 คน ต่อประธานวุฒิสภา เพื่อให้วุฒิสภามีมติเลือกให้เหลือ 7 คน ต่อมาวันที่ 30 ตุลาคม 2543 จำเลยที่ 17 ถึงที่ 19 ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการสรรหาแทนจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับนายกิตติตามประกาศสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีโดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 19 ได้รับค่าตอบแทนจากงบประมาณแผ่นดิน ประเภทเบี้ยประชุม จึงเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2543 คณะกรรมการสรรหาได้ประกาศรับสมัครบุคคลเพื่อคัดเลือกและเสนอรายชื่อเป็น กทช. เมื่อโจทก์ทราบจึงไปขอใบสมัครที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในประกาศรับสมัครนั้นกำหนดว่า ผู้สมัครต้องมีคุณสมบัติตามกฎหมาย เป็นผู้มีผลงานหรือเคยปฏิบัติงานที่แสดงว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ในกิจการโทรคมนาคม เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง การศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม เศรษฐกิจ ความมั่นคง กฎหมายมหาชน หรือกิจการท้องถิ่น รวม 9 ด้าน ในแบบพิมพ์ใบสมัครมีรายละเอียดให้ผู้สมัครกรอกมากกว่าตามที่ปรากฏในประกาศรับสมัคร โดยในแบบพิมพ์ใบสมัครข้อ 4 ระบุผลงานและประสบการณ์ โจทก์ได้กรอกรายละเอียดไว้ เนื่องจากใบสมัครไม่ได้ระบุให้เลือกว่าเชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ โจทก์จึงถามเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งว่าให้ระบุผลงานหรือความรู้ความสามารถด้านใดให้ระบุได้เต็มที่ ซึ่งในช่องสี่เหลี่ยมที่ระบุไว้ในข้อ 4 โจทก์ได้ระบุความเชี่ยวชาญไว้ทุกด้าน เพราะโจทก์ผ่านงานมามาก มีความรู้ดังกล่าว โดยโจทก์ไม่ทราบว่ามีการให้คะแนนในใบสมัครด้วย ในข้อ 5 ได้ระบุแนวคิดในการบริหารกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติโดยสรุป หากได้รับคัดเลือก ซึ่งโจทก์ได้ระบุแนวคิดไว้ โดยไม่ทราบว่าคณะกรรมการสรรหาจะยึดข้อ 5 เป็นวิสัยทัศน์ของผู้สมัครที่จะนำไปพิจารณาให้คะแนนส่วนข้อ 6 ให้ระบุประวัติการศึกษา การฝึกอบรม และการดูงานทั่วไป และข้อ 7 เรื่องคุณสมบัติต้องห้ามตามมาตรา 8 การรับสมัครในครั้งนี้ไม่ได้ระบุให้ผู้สมัครต้องส่งใบรับรองแพทย์หรือเอกสารที่รับรองว่าผู้สมัครมีสัญชาติไทยโดยการเกิดด้วย เมื่อโจทก์กรอกใบสมัครเสร็จได้ยื่นสมัครไว้ มีผู้สมัครรวม 72 คน ต่อมาคณะกรรมการสรรหา เรียกโจทก์เข้าสัมภาษณ์ในหัวข้อว่า ผลงานและประสบการณ์ของโจทก์จะเป็นประโยชน์ต่อกิจการโทรคมนาคมด้านใด และหากได้รับเลือกแล้ว เห็นว่างานใดเป็นงานสำคัญที่จะทำเป็นอย่างแรก ต่อมาเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2543 มีการประกาศรายชื่อบุคคลที่จะถูกเสนอชื่อให้เป็น กทช. จำนวน 14 คน โดยไม่มีชื่อโจทก์ โจทก์ไม่ทราบมาก่อนว่าคณะกรรมการสรรหาได้แบ่งกลุ่มการให้คะแนนในการเขียนใบสมัครและแบ่งกลุ่มความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านอย่างไรบ้าง แต่ทราบภายหลังว่ามีการให้คะแนนในใบสมัครและมีการแบ่งกลุ่มความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านออกจากกัน โดยมีการตั้งอนุกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัคร และคณะกรรมการสรรหาได้แบ่งสาขาความเชี่ยวชาญของผู้สมัครเป็น 7 กลุ่มตามรายงานการประชุมครั้งที่ 2/2543 เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2543 ซึ่งผิดจากกฎหมายกำหนดที่ให้แบ่งเป็น 9 กลุ่ม โดยมีการรวมศาสนาและวัฒนธรรมเป็นหนึ่งกลุ่ม และรวมกฎหมายมหาชนกับกิจการท้องถิ่นเป็นหนึ่งกลุ่ม อันฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 มาตรา 47 และมาตรา 10 ซึ่งทำให้ผู้สมัครในกลุ่มนั้นเสียเปรียบเพราะทำให้ต้องมีความเชี่ยวชาญทั้งสองด้าน ทั้งไม่มีเหตุผลที่จะต้องรวมกัน และกลุ่มกฎหมายมหาชนกับกิจการท้องถิ่นมีลักษณะที่ไม่สามารถรวมกันได้ ต่อมาคณะกรรมการสรรหาได้แบ่งกลุ่มผู้สมัครจำนวน 72 คน ลงตาม 7 กลุ่ม ที่กำหนดขึ้นใหม่ ดังปรากฏในการประชุมครั้งที่ 4/2543 วันที่ 6 กันยายน 2543 แล้วจัดผู้สมัครลงใน 7 กลุ่ม ดังกล่าว โดยโจทก์ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่ 5 ด้านความมั่นคง ส่วนนายวุฒิพร ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มที่ 6 ด้านศาสนาและวัฒนธรรม และนายเลอสรร ถูกจัดให้อยู่กลุ่มที่ 7 ด้านกฎหมายมหาชนและกิจการท้องถิ่น ดังปรากฏในรายงานหน้า 158 ทั้งยังกำหนดการให้คะแนนในเรื่องความรู้ความสามารถ เกียรติประวัติ วิสัยทัศน์ และให้กรรมการเป็นผู้ตรวจเพียง 6 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 2 คน ดังปรากฏในหน้า 159 และ 160 ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้ช่วยเหลือพวกพ้องให้ได้รับการคัดเลือก คณะกรรมการสรรหามีมติให้คัดเลือก 3 รอบ รอบแรกจะคัดเลือกให้เหลือกลุ่มละ 8 คนรอบที่สองให้เหลือกลุ่มละ 4 คน และรอบที่สามให้เหลือกลุ่มละ 2 คน ดังปรากฏในหน้า 150 ซึ่งตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 มาตรา 49 คณะกรรมการสรรหา 17 คน จะต้องคัดเลือกผู้สมัคร 72 คน ด้วยตนเอง แต่ปรากฏว่าคณะกรรมการสรรหา 17 คน ได้มอบให้อนุกรรมการสรรหาจำนวน 8 คน เป็นผู้คัดเลือกแทน โดยอนุกรรมการสรรหา 8 คน ดังกล่าวเป็นชุดเดียวกับอนุกรรมการสรรหาที่ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัคร แต่ปรากฏว่าอนุกรรมการสรรหา 8 คน ไม่ได้เป็นผู้คัดเลือกโดยมอบให้อนุกรรมการสรรหาเพียง 6 คน เป็นผู้คัดเลือกแทน แต่ในอนุกรรมการสรรหาทั้งหกคนไม่ได้ร่วมกันคัดเลือก กลับแบ่งเป็น 3 กลุ่มย่อย กลุ่มละ 2 คน โดยแต่ละกลุ่มแบ่งกันว่าจะให้คะแนนในใบสมัครข้อใดบ้าง การสรรหาของอนุกรรมการกลุ่มต่าง ๆ ดังกล่าว รวมคะแนนแล้วเสนอต่อคณะกรรมการสรรหา 17 คน เพื่อให้ความเห็นชอบทั้งที่ตามรายงานการประชุมไม่ได้กำหนดให้อนุกรรมการเป็นผู้ให้คะแนน แสดงว่าคณะกรรมการสรรหาไม่ได้เห็นหรือตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครด้วยตนเอง การแบ่งกลุ่มละ 8 คนดังกล่าว เวลาปฏิบัติจริงอนุกรรมการกลับคัดเลือกจากผู้สมัครที่ได้ 60 คะแนน ขึ้นไปทำให้เหลือผู้สมัครเพียง 46 คน แทนที่จะเป็น 56 คน ตามที่แบ่งไว้เดิม จึงไม่เป็นการแบ่งตามกลุ่มจริงเพราะใช้คะแนนเป็นเกณฑ์ การแบ่งกลุ่มรอบที่สอง กำหนดให้เหลือกลุ่มละ 4 คน ก็ไม่ได้แบ่งตามเกณฑ์ดังกล่าว แต่ให้ทั้ง 46 คน ที่ผ่านโดยคะแนนสอบสัมภาษณ์แทน โดยให้ผู้ผ่านเกณฑ์ดังกล่าวมาสอบสัมภาษณ์ใน 2 หัวข้อ ข้อหนึ่งผลงานที่ผู้สมัครเชี่ยวชาญในด้านใด และข้อสอง หากได้รับเลือกเป็นกรรมการ กทช.เห็นว่าเรื่องใดเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องทำก่อน โจทก์ซึ่งผ่านเกณฑ์ 60 คะแนน และได้รับหนังสือให้ไปสอบสัมภาษณ์ด้วย จึงเพิ่งทราบว่าจะต้องระบุว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งใน 9 ด้าน นั้น ซึ่งโจทก์เลือกว่าเชี่ยวชาญในกิจการท้องถิ่น โดยไม่ทราบว่าคณะกรรมการได้รวมกิจการท้องถิ่นเข้ากับกฎหมายมหาชน ในการสัมภาษณ์โจทก์ทราบว่าคณะกรรมการมีมติให้กรรมการสรรหา 17 คน เข้าสัมภาษณ์ผู้สมัคร เพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้สมัคร จากการสอบสัมภาษณ์มีผู้ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 70 จำนวน 18 คนซึ่งไม่เป็นไปตามข้อกำหนดเดิมที่ให้เหลือกลุ่มละ 4 คน ซึ่งโจทก์ผ่านสัมภาษณ์เป็น 1 ใน 18 คน ด้วย ต่อมาคณะกรรมการสรรหาได้ประชุมเพื่อคัดผู้ผ่านเกณฑ์ 18 คนให้เหลือ 14 คน ตามกฎหมาย โดยคณะกรรมการสรรหาคัดจากคนที่ได้คะแนนสูงและกลุ่มสาขา 7 กลุ่ม ดังกล่าว ทำให้บางกลุ่มมีจำนวนมาก บางกลุ่มมีจำนวนน้อยและผู้ที่ผ่านเกณฑ์บางคนไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญที่ถูกจัดให้เข้ากลุ่ม แต่เพื่อให้บุคคลดังกล่าวได้รับการสรรหา ส่วนโจทก์ซึ่งอยู่ในกลุ่มกิจการท้องถิ่นได้คะแนนที่ 1 ของกลุ่ม กลับไม่ติด 1 ใน 14 คน ดังกล่าว ทำให้เสียโอกาสในกลุ่มกฎหมายมหาชนและกิจการท้องถิ่นแต่คนที่ขายโทรศัพท์เคลื่อนที่ จบวิศวกรรมศาสตร์และไม่เคยรับราชการ กลับจัดเข้ากลุ่มกฎหมายมหาชนและกิจการท้องถิ่น ในกลุ่มที่ได้รับการคัดเลือกใน 14 คน ดังกล่าวมีนายมหิดล ได้คะแนนสูงสุดเป็นอันดับ 1 ได้ถอนตัว ซึ่งควรจะเลื่อนคนที่ได้คะแนนอันดับที่ 15 คือ นายอัมมาร์ ซึ่งอยู่ในกลุ่มเศรษฐกิจขึ้นมาแทน แต่คณะกรรมการสรรหาเห็นว่าในกลุ่มเศรษฐกิจมีมากแล้ว จึงเลื่อนคนอันดับที่ 16 นายสงคราม ซึ่งทำงานอยู่ที่สภาความมั่งคงเช่นเดียวกับจำเลยที่ 5 เข้ามาแทนอยู่ในกลุ่มความมั่นคง แล้วย้ายนายเลอสรรกับนายวุฒิพรจากกลุ่มอื่นมาอยู่ในกลุ่มเดียวกับโจทก์ คือกฎหมายมหาชนและกิจการท้องถิ่น ทำให้โจทก์ตกมาอยู่ในอันดับที่ 3 แต่คณะกรรมการสรรหาต้องการให้นายเลอสรรและนายวุฒิพรได้รับการสรรหาจึงย้ายนายเลอสรรไปอยู่กลุ่มอื่น เหลือนายวุฒิพรกับโจทก์เพียง 2 คน ที่อยู่ในกลุ่มกฎหมายมหาชนและกิจการท้องถิ่น แต่เพื่อให้นายวุฒิพรได้รับคัดเลือกเพียงคนเดียวจึงจัดให้อยู่กลุ่มกฎหมายมหาชนและกิจการท้องถิ่น ทำให้นายวุฒิพรได้คะแนนสูงกว่าโจทก์ จึงได้รับการสรรหาในกลุ่มดังกล่าว ทั้งที่นายวุฒิพรไม่มีความรู้ในด้านกฎหมายมหาชนและกิจการท้องถิ่นทั้งในใบสมัครของนายวุฒิพรตาม ระบุผลงานหรือประสบการณ์ในกิจการท้องถิ่นไว้ข้อที่ 8 (5) ว่า ให้ส่งเอกสารที่แสดงให้เห็นถึงผลงานหรือประสบการณ์ดังกล่าวด้วย แต่นายวุฒิพรไม่ได้แนบส่งผลงานหรือประสบการณ์ใดๆ มาพร้อมใบสมัครซึ่งโดยหลักแล้วไม่ควรรับสมัครเพราะไม่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การสมัคร หรือรับสมัครก็ไม่สมควรได้คะแนนในการตรวจใบสมัครเนื่องจากไม่ได้แนบเอกสารผลงาน หากดูตามเกณฑ์การให้คะแนนในใบสมัครที่คณะกรรมการสรรหาเป็นผู้กำหนดตามที่อนุกรรมการเสนอนายวุฒิพรไม่ควรได้คะแนนในใบสมัครเนื่องจากมีหลายรายการที่ไม่กรอกข้อความหรือกรอกข้อความไม่ชัดและไม่มีการแนบเอกสารตามที่กำหนด แต่คณะกรรมการสรรหาให้คะแนนแก่นายวุฒิพรสูงตามผลการให้คะแนน นอกจากนี้ในใบสมัครของนายวุฒิพรเป็นการพิมพ์ข้อความ แต่มีการเขียนเติมข้อความเช่นในข้อ 1.5 โดยไม่มีลายมือชื่อกำกับ แสดงว่าคณะกรรมการสรรหามุ่งช่วยให้นายวุฒิพรผ่านการสรรหา โจทก์เป็นผู้ผ่านการคัดเลือก 1 ใน 18 คนโดยอยู่อันดับที่ 18 และได้คะแนนเป็นที่ 1 ของด้านกิจการท้องถิ่น เพราะโจทก์เรียนจบรัฐศาสตร์ปกครองชั้นปริญญาตรีและปริญญาโท ทำงานเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นกรุงเทพมหานครเป็นเวลา 7 ปี 8 เดือน และมีส่วนร่วมในการจัดตั้งสภาตำบลในปี 2517 อันเป็นกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการท้องถิ่นโดยตรง ซึ่งผู้สมัครคนอื่นไม่มีคุณสมบัติดังกล่าวต่อมาคณะกรรมาธิการวุฒิสภาได้ทำการตรวจสอบและทำรายงานผลการสรรหาดังกล่าวโดยมีความเห็นว่าเป็นการสรรหาไม่ชอบและไม่สุจริต และได้ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของคณะกรรมการสรรหากับผู้สมัครบางคนซึ่งอยู่ในสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยเห็นได้ว่าบุคคลกลุ่มนี้มีการช่วยเหลือให้กลุ่มของตนผ่านการสรรหาอันเป็นวิธีการที่ไม่เปิดกว้างและไม่โปร่งใส ตามรายงานการพิจารณา คณะกรรมการสรรหาชุดนี้มาจากหน่วยราชการ 5 หน่วย ปรากฏว่า พลเอกธีระเดช ปลัดกระทรวงกลาโหมส่งจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชามาเป็นคณะกรรมการสรรหา โดยพลเอกธีระเดชสมัครเข้ารับการสรรหาด้วย ทั้งที่ประชุมของคณะกรรมการสรรหายังอนุมัติให้มีการเพิ่มวุฒิการศึกษาให้แก่พลเอกธีระเดชได้ ตามรายงานการประชุมครั้งที่ 4/2543 การยอมให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมวุฒิการศึกษาได้น่าจะทำให้ผู้สมัครได้รับคะแนนเกี่ยวกับวุฒิการศึกษาเพิ่มขึ้น นายวุฒิพรซึ่งเป็นอุปนายกของสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยเป็นผู้สมัครและได้รับการสรรหาด้วย จำเลยที่ 10 กรรมการสรรหาก็เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับสมาคมดังกล่าว ซึ่งตามรายงานของคณะกรรมาธิการวุฒิสภาระบุว่าจำเลยที่ 10 เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสรรหาครั้งนี้ ต่อมาวุฒิสภามีมติไม่รับรายชื่อบุคคลที่ได้รับการสรรหาทั้งสิบสี่คนดังกล่าวตามความเห็นของคณะกรรมาธิการวุฒิสภา โจทก์จึงฟ้องต่อศาลปกครองกลางขอให้เพิกถอนรายชื่อผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นกรรมการ กทช. ทั้งสิบสี่คน คณะกรรมการสรรหาได้ยื่นคำให้การ ต่อมาศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาว่ากระบวนพิจารณาสรรหาดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย คณะกรรมการสรรหาไม่เคารพหลักเกณฑ์ที่ตั้งขึ้นเองและใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบ จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับการสรรหาทั้งสิบสี่คน คณะกรรมการสรรหาได้ยื่นอุทธรณ์ ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืน โดยวินิจฉัยด้วยว่า คณะกรรมการสรรหามีเจตนาที่จะเลือกนายเลอสรรและนายวุฒิพรให้ได้รับการคัดเลือกมีรายชื่อใน 14 คน ต่อมาคณะกรรมการสรรหาทั้งสิบเจ็ดคนได้ลาออก ตามรายงานการประชุม มีการประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2543 เวลา 9.30 นาฬิกา ได้เลือกนายกิตติ เป็นประธานกรรมการและเลือกจำเลยที่ 6 เป็นเลขานุการ และมีการประกาศรับสมัครผู้ที่จะเป็นกรรมการ กทช. ตามประกาศคณะกรรมการสรรหา โดยไม่มีการประกาศให้ผู้สมัครทราบว่าคณะกรรมการสรรหาจะมีเกณฑ์การคัดเลือกหรือให้คะแนนอย่างไร คณะกรรมการ กทช. ชุดแรก ซึ่งจะดำรงตำแหน่งเป็นระยะเวลา 6 ปี แต่ต้องจับฉลากออกครึ่งหนึ่งเมื่อครบระยะเวลา 3 ปี กรรมการชุดแรกจะมีความสำคัญกว่ากรรมการชุดต่อ ๆ มา เนื่องจากจะเป็นผู้วางนโยบายจัดสรรคลื่นความถี่และเป็นผู้ออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมเพราะกิจการโทรคมนาคมซึ่งเป็นสมบัติของชาติมีมูลค่าหลายแสนล้านบาท และมีความสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศ ฉะนั้นเมื่อคณะกรรมการ กทช. ชุดแรกมีความสำคัญมาก จึงมีความพยายามให้พวกพ้องของตนได้เข้าเป็นกรรมการในชุดแรก ต่อมาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมีหนังสือลงวันที่ 15 มิถุนายน 2544 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้พิจารณาและให้ความเห็นในปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการสรรหาในครั้งนี้ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้จำเลยที่ 1 ที่ 6 และที่ 8 เข้าชี้แจงเกี่ยวกับการสรรหา การแบ่งกลุ่ม และการให้คะแนน ตามบันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพบว่า กรรมการสรรหาชี้แจงไม่ตรงกับความจริง ครั้งแรกที่มีการแบ่งกลุ่มนั้นเนื่องจากเข้าใจว่าจะมีผู้สมัครมาก แต่เมื่อปิดรับสมัครแล้วมีผู้สมัครไม่กี่คน จึงน่าจะให้คะแนนตามเกณฑ์ร้อยละ 60 ไม่ว่าจะอยู่ในกลุ่มใด โดยเรียงจากมากไปหาน้อย เหตุใดคณะกรรมการสรรหาไม่ให้คะแนนแก่ผู้สมัครจากใบสมัครโดยตรง แต่มีการตั้งอนุกรรมการเป็นผู้ให้คะแนน ซึ่งมีการชี้แจงว่าเหตุที่ไม่มีการให้คะแนนผู้สมัครจากคณะกรรมการสรรหาเองเนื่องจากเห็นว่าผู้สมัครมีจำนวนมาก การให้คณะกรรมการให้คะแนนโดยตรงจะยุ่งยาก ซึ่งขัดกับเหตุผลในการชี้แจงเกี่ยวกับการแบ่งกลุ่มข้างต้น ซึ่งอ้างว่ามีผู้สมัครน้อย การให้คะแนนสัมภาษณ์ที่ต้องให้คณะกรรมการทั้งสิบเจ็ดคนเข้าร่วมให้คะแนนนั้น เพราะจะช่วยป้องกันการช่วยเหลือหรือกลั่นแกล้งกันได้ในระดับหนึ่ง และเป็นวิธีที่ใช้กันทั่วไป ในการให้คะแนนสัมภาษณ์นั้นคิดเป็นร้อยละ 30 ของคะแนนทั้งหมด ส่วนคะแนนอีกร้อยละ 70 มาจากคะแนนใบสมัคร แทนที่คณะกรรมการสรรหาทั้งสิบเจ็ดคนจะให้คะแนนเอง แต่กลับตั้งอนุกรรมการมาให้คะแนนแทน เป็นการเปิดโอกาสให้ช่วยเหลือผู้สมัครและกลั่นแกล้งกันได้ มีการแบ่งสัมภาษณ์ผู้สมัครเป็น 5 ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งจะต้องมีคณะกรรมการสรรหาทั้งสิบเจ็ดคนเข้าสัมภาษณ์และให้คะแนน แต่มีการประชุมครั้งที่ 10/2543 เพียงครั้งเดียวที่คณะกรรมการสรรหาเข้าประชุมครบทั้งสิบเจ็ดคน ตามบันทึกการประชุมทั้งห้าครั้ง ในการประชุมครั้งที่ 11/2543 มีมติให้ผู้สมัครที่คะแนนร้อยละ 70 ขึ้นไปโดยแบ่งเป็น 7 กลุ่ม โจทก์อยู่กลุ่มที่ 7 อันดับ 3 ในการประชุมครั้งที่ 12/2543 มีเหตุการณ์ผิดปกติคือ นายมหิดล ได้ถอนตัวจากการสมัครเป็นกรรมการ กทช. และนายกิตติ ประธานกรรมการสรรหาได้ลาออก ทำให้ไม่มีประธานกรรมการ ที่ประชุมได้เลือกจำเลยที่ 5 เป็นประธานชั่วคราว โดยปกติประธานชั่วคราวต้องทำให้มีการคัดเลือกประธานกรรมการสรรหาตัวจริง แต่จำเลยที่ 5 ได้ประชุมต่อ โดยที่ประชุมได้ย้ายนายเลอสรรจากกลุ่มที่ 7 ด้านกฎหมายมหาชนและกิจการท้องถิ่นไปอยู่กลุ่มที่ 2 และเลื่อนนายวุฒิพรเป็นลำดับที่ 1 ในกลุ่มที่ 7 ทั้งที่นายวุฒิพรไม่มีประสบการณ์ด้านกฎหมายมหาชนและกิจการท้องถิ่นเช่นเดียวกับนายเลอสรร แต่ไม่ได้ย้ายกลุ่มนายวุฒิพรด้วย ในการประชุมครั้งที่ 13/2543 มีการเลือกจำเลยที่ 6 เป็นประธานกรรมการสรรหาและเลือกจำเลยที่ 1 เป็นเลขานุการซึ่งในการประชุมครั้งที่ 12/2543 มีการเลือกประธานกรรมการสรรหาแล้วจึงไม่อาจเลือกประธานกรรมการสรรหาอีก เมื่อมีการคัดเลือก แสดงว่าจำเลยที่ 5 ไม่ใช่ประธานกรรมการที่จะประชุมได้ตามกฎหมาย นอกจากนั้นจำเลยที่ 6 มีตำแหน่งเป็นเลขานุการ เมื่อได้รับเลือกเป็นประธานจะต้องลาออกจากเลขานุการก่อน แต่กลับไม่มีการลาออก ทำให้จำเลยที่ 6 ดำรงตำแหน่ง 2 ตำแหน่ง คือ ประธานกรรมการและเลขานุการ ดังนั้นตำแหน่งเลขานุการจึงยังไม่ว่างที่จะเลือกจำเลยที่ 1 เป็นเลขานุการแทน การที่จำเลยที่ 6 ดำรงตำแหน่ง 2 ตำแหน่ง จึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 ที่ให้มีประธาน 1 ตำแหน่ง และเลขานุการ 1 ตำแหน่ง และในการประชุมครั้งนี้จำเลยที่ 5 ไม่ได้ลาออกจากตำแหน่งประธานชั่วคราว จึงไม่สามารถเลือกจำเลยที่ 6 มาเป็นประธานแทน ทำให้การเป็นประธานของจำเลยที่ 6 และการเป็นเลขานุการของจำเลยที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลให้การประชุมครั้งนี้และครั้งต่อ ๆ ไปไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในการประชุมครั้งที่ 13/2543 วาระที่ 4 ในการคัดเลือกบุคคลจำนวน 14 คนและมีการประกาศและแจ้งให้ผู้สมัครทั้งเจ็ดสิบสองคนทราบ และมีมติให้ทำรายละเอียดของบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกทั้งสิบสี่คน และนำใบสมัครพร้อมประวัติและผลงานชุดต้นฉบับเสนอต่อประธานวุฒิสภา โดยให้ประธานกรรมการสรรหา เลขานุการ และฝ่ายธุรการร่วมดำเนินการและนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการสรรหาเพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ก่อนส่งให้ประธานวุฒิสภา ทำให้เห็นว่าคณะกรรมการสรรหาทั้งหมดมีส่วนร่วมในการจัดทำรายงานเพื่อเสนอต่อประธานวุฒิสภา เมื่อจำเลยที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 19 ส่งผลการคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ กทช. ไปยังประธานวุฒิสภาแล้ว ที่ประชุมวุฒิสภามีมติตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาตรวจสอบกระบวนการสรรหาและคุณสมบัติของผู้ผ่านการคัดเลือกเป็นคณะกรรมการ กทช. ทั้งสิบสี่คน ผลการตรวจสอบคณะกรรมการมาธิการเห็นว่ากระบวนการสรรหาไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ส่งกลับคืนไปยังสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีและไม่รับรองการสรรหา โดยวุฒิสภาเห็นด้วย ในการประชุมของคณะกรรมการสรรหาในครั้งที่ 1/2543 ครั้งที่ 3/2543 ครั้งที่ 4/2543 ครั้งที่ 5/2543 ครั้งที่ 6/2543 และครั้งที่ 13/2543 เป็นการประชุมที่ไม่ชอบ เนื่องจากคณะกรรมการสรรหาให้บุคคลภายนอกซึ่งไม่ได้เป็นกรรมการสรรหาเข้าร่วมประชุมและลงมติด้วย เมื่อกลางปี 2544 ถึงต้นปี 2545 ในชั้นพิจารณาของศาลปกครองกลาง ฝ่ายจำเลยได้อ้างรายงานที่เสนอต่อประธานวุฒิสภา ซึ่งเป็นความเท็จ และนำรายงานของคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่จำเลยที่ 1 ที่ 6 และที่ 8 ซึ่งได้รับมอบหมายจากฝ่ายจำเลยให้ไปชี้แจงต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา อันเป็นการชี้แจงข้อความอันเป็นเท็จอ้างต่อศาลปกครองกลาง จึงเป็นการอ้างพยานหลักฐานอันเป็นเท็จต่อศาลปกครองกลาง ซึ่งเป็นสาระสำคัญในคดี โดยศาลปกครองกลางได้ยกเอกสารดังกล่าวขึ้นมาวินิจฉัยด้วย เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2546 โจทก์มีหนังสือถึงสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับรายงานการประชุมคณะกรรมการสรรหาครั้งที่ 4/2543 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมีหนังสือถึงโจทก์ให้ไปรับผลการให้คะแนนสอบสัมภาษณ์ของผู้รับสมัครการสรรหา ส่วนใบให้คะแนนใบสมัครของผู้รับสมัครการสรรหา ฝ่ายจำเลยมิได้ส่งไปให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หากโจทก์ต้องการ ให้ไปขอจากประธานหรือเลขานุการคณะกรรมการสรรหา และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมีหนังสือถึงประธานและเลขานุการคณะกรรมการสรรหา แจ้งให้ทราบว่าโจทก์ได้ขอเอกสารดังกล่าวซึ่งคณะกรรมการสรรหาไม่ได้ส่งให้ และให้โจทก์ไปติดต่อกับประธานและเลขานุการคณะกรรมการสรรหาโดยตรง โจทก์จึงมีหนังสือถึงจำเลยที่ 6 ขอเอกสารดังกล่าวต่อมาจำเลยที่ 6 มีหนังสือถึงรองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีแจ้งว่าไม่มีเอกสารตามรายการที่ 1อยู่ที่จำเลยที่ 6 ต่อมาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมีหนังสือถึงโจทก์แจ้งเรื่องที่ไม่อาจส่งเอกสารการให้คะแนนใบสมัครของผู้สมัครเข้ารับการสรรหาให้แก่โจทก์ได้ จำเลยที่ 6 เป็นผู้มีบทบาทสูงที่สุด ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอนุกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครเข้ารับการสรรหา เมื่อมีการให้คะแนนผู้สมัครกรรมการที่ให้คะแนนต้องรวบรวมคะแนนส่งให้แก่จำเลยที่ 6 ในฐานะเลขานุการด้วยและเมื่อนายกิตติ ลาออก จำเลยที่ 6 เป็นประธานกรรมการแทน จำเลยที่ 6 จึงน่าจะทราบดีว่าใบให้คะแนนของผู้สมัครอยู่ที่ไหน แต่จำเลยที่ 6 กลับแจ้งต่อรองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีว่าเอกสารดังกล่าวน่าจะอยู่ที่ประธานกรรมการสรรหา ทั้งที่ขณะนั้นจำเลยที่ 6 เป็นประธานกรรมการสรรหาเอง แสดงให้เห็นว่ามีเจตนาปกปิดซ่อนเร้นเอกสารการให้คะแนนในใบสมัครของผู้สมัครเข้ารับการสรรหา ทำให้ผู้สมัครเข้ารับการสรรหาได้รับความเสียหายที่ไม่อาจตรวจสอบการให้คะแนนในใบสมัครได้ ซึ่งโจทก์ได้อ้างการให้คะแนนใบสมัครดังกล่าวต่อศาลปกครองกลาง ทำให้ศาลปกครองกลางไม่มีเอกสารประกอบการพิจารณา ซึ่งน่าจะเป็นการกระทำเพื่อปิดบัง ซ่อนเร้น เอกสารการให้คะแนน เพื่อปิดบังการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 15 และที่ 17 ถึงที่ 19 และช่วยเหลือพวกพ้องอันเป็นการไม่ชอบต่อพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และเป็นการสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดอันมีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป อันเป็นความผิดฐานซ่องโจร
พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกาว่า พยานหลักฐานโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมีน้ำหนักพอที่ศาลจะรับฟังว่าข้อหาที่โจทก์อ้างว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องมีมูลที่จะรับฟ้องไว้พิจารณาหรือไม่ ศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยฎีกาโจทก์ไปตามลำดับ เช่นเดียวกับที่ศาลล่างวินิจฉัยและโจทก์ฎีกา ดังต่อไปนี้
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยเป็นประการแรกมีตามที่โจทก์ฎีกาว่า ในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง คณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการ กทช. เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุบัญญัติไว้ชัดเจนว่า ให้คณะกรรมการ กสช. ก็ดี คณะกรรมการ กทช. ก็ดี และพนักงานของสำนักงานของคณะกรรมการดังกล่าว ก็ดี เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา แต่ในกฎหมายฉบับเดียวกันนั้นเอง มาตรา 49 ว่าด้วยคณะกรรมการสรรหา ที่มาและบทบาทหน้าที่ ไม่ได้กำหนดว่าคณะกรรมการสรรหาเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาเช่นเดียวกันกับคณะกรรมการ กสช. หรือ กทช. หรือพนักงานดังกล่าว เช่นนี้ย่อมเห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าวได้ชัดเจนว่า กฎหมายไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะให้คณะกรรมการสรรหาต้องมีอำนาจหน้าที่หรือมีความรับผิดในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ศาลจึงไม่อาจตีความเนื้อหาหรือความหมายของตัวบทกฎหมายให้คณะกรรมการสรรหาเป็นเจ้าพนักงาน เกินไปกว่าเจตนารมณ์ที่ชัดแจ้งของกฎหมายนี้ได้เพราะจะเป็นการก้าวล่วงเข้าไปทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติเสียเอง ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 15 และที่ 17 ถึงที่ 19 เป็นเพียงคณะกรรมการสรรหา จึงไม่ใช่เจ้าพนักงานที่จะต้องรับผิดในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 158, 161 และ 162 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกาว่า ตำแหน่งประธานวุฒิสภาที่มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการพิจารณาคัดเลือก กทช. ตามรายงานของคณะกรรมการสรรหาเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 15 และที่ 17 ถึงที่ 19 ในฐานะคณะกรรมการสรรหา ส่งรายงานเรื่องผลการพิจารณาคัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็น กทช. ต่อประธานวุฒิสภา โดยในรายงานดังกล่าวมีการอ้างว่ามีการประชุมครั้งที่ 1/2544 ทั้งที่ไม่มีการประชุมกันจริง การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 4 ถึงที่ 15 และที่ 17 ถึงที่ 19 จึงเป็นการแจ้งความเท็จต่อประธานวุฒิสภา โจทก์เห็นว่าเป็นการกระทำความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 เห็นว่า ตำแหน่งประธานวุฒิสภา เป็นตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ ไม่ใช่ตำแหน่งเจ้าพนักงานตามความหมายในลักษณะ 2 หมวด 1 แห่งประมวลกฎหมายอาญา การยื่นรายงานดังกล่าวจึงไม่อาจที่จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ในข้อหานี้ไม่มีมูล ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ฎีกาโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share