คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4334/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เปิดเผยความลับในสำนวนการสอบสวนทางวินัยโจทก์ให้ผู้อื่นล่วงรู้ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย นั้น เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานของการสื่อสารแห่งประเทศไทย หากมีการกระทำของจำเลยที่ 1 ดังฟ้อง ก็เป็นเรื่องที่อาจจะเป็นการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ให้ผู้อื่นล่วงรู้ความลับของการสื่อสารแห่งประเทศไทย การสื่อสารแห่งประเทศไทยย่อมเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำดังกล่าว โจทก์มิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 ในข้อหาดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นพนักงานการสื่อสารแห่งประเทศไทยตำแหน่งผู้อำนวยการกองวิทยุบริการ จำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้ว่าการการสื่อสารแห่งประเทศไทย ได้แต่งตั้งจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ เป็นคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยโจทก์ จำเลยที่ ๒ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองพาณิชย์ ได้บันทึกข้อความเท็จเสนอจำเลยที่ ๑ ส่วนจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ในฐานะกรรมการสอบสวนทางวินัยได้ให้ความเห็นว่าโจทก์กระทำผิด เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย แล้วจำเลยที่ ๑ ซึ่งมีหน้าที่เสนอสำนวนการสอบสวนทางวินัยโจทก์ซึ่งเป็นความลับของทางราชการต่อคณะกรรมการบริหารบุคคลของการสื่อสารแห่งประเทศไทย กลับนำเสนอต่อคณะกรรมการที่ปรึกษาทางวินัย ที่จำเลยที่ ๑ ตั้งขึ้นโดยมิชอบ เป็นการเปิดเผยให้ผู้อื่นล่วงรู้ความลับ กับจำเลยที่ ๖ ได้ดูหมิ่นโจทก์ โดยเสนอความเท็จว่าโจทก์ปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบอันเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับโทษทางวินัย จำเลยที่ ๑ นำความเท็จเสนอต่อคณะกรรมการการสื่อสารแห่งประเทศไทยว่าโจทก์ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ควรให้ออกจากงาน ทั้งที่จำเลยที่ ๑ ทราบว่าคณะกรรมการบริหารงานบุคคลมีมติให้ว่ากล่าวตักเตือนโจทก์เท่านั้น และหลังจากจำเลยที่ ๑ มีคำสั่งตัดเงินเดือนโจทก์ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ มีกำหนด ๒ เดือน โจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการสื่อสารแห่งประเทศไทย จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ได้ร่วมกันไม่ส่งอุทธรณ์โจทก์ภายในเวลาที่กำหนด และนำความเท็จเสนอกรรมการว่า อุทธรณ์โจทก์ไม่มีข้อเท็จจริงเพิ่มเติมที่จะหักล้างข้อวินิจฉัยของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยได้ ซึ่งไม่เป็นความจริง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗, ๑๖๔, ๑๖๕, ๑๓๖, ๘๓, ๘๖, ๙๑
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีโจทก์ไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกา โจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา ศาลฎีกามีคำสั่งให้รับฎีกาโจทก์เฉพาะสำหรับจำเลยที่ ๑ ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๖๔
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ เปิดเผยความลับในสำนวนการสอบสวนทางวินัยโจทก์ให้ผู้อื่นล่วงรู้ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำของจำเลยที่ ๑ ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าพนักงานของการสื่อสารแห่งประเทศไทย หากมีการกระทำของจำเลยที่ ๑ ดังฟ้อง ก็เป็นเรื่องที่อาจจะเป็นการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ให้ผู้อื่นล่วงรู้ความลับของการสื่อสารแห่งประเทศไทย การสื่อสารแห่งประเทศไทยย่อมเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำดังกล่าว ส่วนโจทก์มิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยเนื่องจากการกระทำของจำเลย ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ ๑ ในข้อหาดังกล่าว
พิพากษายืน

Share