คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2673/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประเด็นหรือข้อเท็จจริงที่โจทก์จะยกขึ้นอุทธรณ์ได้นั้น จะต้องเป็นประเด็นหรือข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นเป็นข้ออ้างแห่งข้อหาในคำฟ้อง จะเพียงแต่ยกขึ้นกล่าวอ้างในคำคัดค้านหาได้ไม่ ดังนั้น เมื่อตามคำฟ้องโจทก์ไม่ได้กล่าวอ้างว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ถูกจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 หลอกลวงให้โอนที่ดินพิพาทให้ โจทก์จึงไม่อาจยกประเด็นหรือข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้
ปัญหาข้อกฎหมายว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการสละมรดกหรือไม่ ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ยกขึ้นอ้างในคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายซึ่งหากศาลได้วินิจฉัยให้เป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ก็จะทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะสั่งงดการพิจารณาคดีและยกปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวขึ้นพิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24 เมื่อศาลชั้นต้นมีอำนาจที่จะงดการพิจารณาคดีได้ดังกล่าว ก็ย่อมที่จะทำการพิพากษาคดีไปได้โดยไม่ต้องมีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องขอเลื่อนการไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษารวมทั้งคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 49176 ตำบลนาจอมเทียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ระหว่างจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 กับจำเลยที่ 5 และให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ยื่นคำบอกกล่าวขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต ให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ
โจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา ขอให้งดหรือระงับการทำนิติกรรมใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินพิพาท ศาลชั้นต้นมีคำสั่งนัดไต่สวน
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายในประเด็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ไม่รับมรดกที่ดินพิพาท ไม่ใช่การสละมรดก โจทก์ไม่มีสิทธิสืบมรดกในที่ดินพิพาท จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
จำเลยที่ 5 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายในประเด็นว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การสละมรดกตามกฎหมายจะต้องทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่ปรากฏจากคำฟ้องของโจทก์ว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 สละมรดกอันก่อให้เกิดสิทธิแก่ตนในการสืบมรดกในส่วนของจำเลยที่ 1 นั้น คือการที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 โดยสละไม่รับโอนในส่วนของตน ตามแบบบันทึกการสอบสวนขอจดทะเบียนโอนมรดกเอกสารท้ายคำฟ้อง เพียงเท่านั้น ไม่ปรากฏจากคำฟ้องหรือเอกสารท้ายคำฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ทำหนังสือแสดงเจตนาสละมรดกมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือทำสัญญาประนีประนอมยอมความสละมรดกไว้แต่อย่างใด ดังนี้การแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 โดยสละไม่รับในส่วนของจำเลยที่ 1 เอง ย่อมเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดก มิใช่การสละมรดกตามกฎหมาย ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิสืบมรดกในที่ดินพิพาทและมิได้มีส่วนเป็นเจ้าของที่ดิน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 3,000 บาท แทนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 และ 3,000 บาท แทนจำเลยที่ 5
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน โดยเป็นบุตรของนางชม เจ้ามรดก โจทก์เป็นบุตรของจำเลยที่ 1 นางชมถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2534 ศาลแพ่งมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนางชม เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2550 จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 49176 ตำบลนาจอมเทียน อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ 6 ไร่ 1 งาน 83 ตารางวา ให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 โดยจำเลยที่ 1 ไม่ขอรับมรดกที่ดินพิพาทในส่วนของตน ต่อมาจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 นำที่ดินพิพาทไปขายให้แก่จำเลยที่ 5 โจทก์ในฐานะผู้สืบสันดานของจำเลยที่ 1 มีความประสงค์ขอเข้ารับเอาส่วนแบ่งในที่ดินพิพาทในส่วนของจำเลยที่ 1
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์เป็นประการแรกว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ที่อุทธรณ์ว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ทรัพย์มรดก จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 หลอกลวงให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้ โดยเห็นว่าเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็น ถือเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง นั้น เป็นการชอบหรือไม่ เห็นว่า ประเด็นหรือข้อเท็จจริงที่โจทก์จะยกขึ้นอุทธรณ์ได้นั้น จะต้องเป็นประเด็นหรือข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นเป็นข้ออ้างแห่งข้อหาในคำฟ้อง จะเพียงแต่ยกขึ้นกล่าวอ้างในคำคัดค้านหาได้ไม่ ดังนั้น เมื่อตามคำฟ้องโจทก์ไม่ได้กล่าวอ้างว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ถูกจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 หลอกลวงให้โอนที่ดินพิพาทให้ โจทก์จึงไม่อาจยกประเด็นหรือข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ ส่วนที่โจทก์อ้างมาในอุทธรณ์ในทำนองว่า ผู้รับมอบอำนาจโจทก์บรรยายฟ้องไม่ตรงตามข้อเท็จจริงและความประสงค์ของโจทก์นั้น หากโจทก์ได้รับความเสียหายอย่างไรก็ต้องไปว่ากล่าวเอาแก่ผู้รับมอบอำนาจ จะมาอ้างในชั้นนี้หาได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในประเด็นดังกล่าวจึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เป็นประการต่อไปว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย โดยไม่ได้มีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องขอเลื่อนการไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา รวมทั้งมิได้มีคำสั่งในส่วนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาของโจทก์ก่อน เป็นการชอบหรือไม่ เห็นว่า ปัญหาข้อกฎหมายว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการสละมรดกหรือไม่ ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ยกขึ้นอ้างในคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้น เป็นปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งหากศาลได้วินิจฉัยให้เป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ก็จะทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะสั่งงดการพิจารณาคดีและยกปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวขึ้นพิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 เมื่อศาลชั้นต้นมีอำนาจที่จะงดการพิจารณาคดีได้ดังกล่าว ก็ย่อมที่จะทำการพิพากษาคดีไปได้โดยไม่ต้องมีคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องขอเลื่อนการไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา รวมทั้งคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำพิพากษามานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share