แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แบบพิมพ์ท้ายอุทธรณ์ของจำเลยมีข้อความว่า ‘ฯลฯ และรอฟังคำสั่งอยู่ ถ้าไม่รอให้ถือว่าทราบแล้ว’ เมื่อปรากฏว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ในวันที่จำเลยยื่นอุทธรณ์นั้นเอง จึงต้องถือว่าจำเลยได้ทราบคำสั่งในวันนั้นแล้ว
การที่จำเลยมิได้นำส่งสำเนาอุทธรณ์ภายในกำหนด 7 วันตามคำสั่งของศาลชั้นต้นย่อมถือว่าจำเลยทิ้งฟ้องตาม ป.วิ.พ.มาตรา 174(2).
ย่อยาว
คดีทั้งสามสำนวนนี้โจทก์ฟ้องจำเลยกับพวกให้รับผิดตามสัญญากู้และสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาเข้าด้วยกัน
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้และสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจริงแต่หนี้ดังกล่าวระงับไปแล้ว โจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกเงินหลังจากครบกำหนดตามสัญญาแล้วจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เรียกนางป่วยใช้ แซ่โล้ว ภริยาเข้าเป็นคู่ความแทน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 โดยนางป่วยใช้ แซ่โล้ว ทายาทผู้รับมรดกความและจำเลยที่ 2 ร่วมกันชำระหนี้เงินกู้เป็นเงิน214,710 บาท 14 สตางค์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 6 มีนาคม 2528) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 1 โดยนางป่วยใช้ แซ่โล้ว ทายาทผู้รับมรดกความและจำเลยที่ 2 ร่วมกันชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเป็นเงิน 102,938 บาท 77 สตางค์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17.5ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 1 โดยนางป่วยใช้ แซ่โล้ว ทายาทผู้รับมรดกความและจำเลยที่ 2ร่วมกันชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเป็นเงิน 724,542บาท 83 สตางค์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปีในต้นเงิน 695,262 บาท 82 สตางค์ นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 1 โดยนางป่วยใช้ แซ่โล้ว ทายาทผู้รับมรดกความกับจำเลยที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้สำนวนละ 600 บาท
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ทั้งสามสำนวน
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ
จำเลยที่ 2 ฎีกาทั้งสามสำนวน
ศาลฎีกาพิพากษาว่า ‘ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2529 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันเดียวกันนั้นว่า ‘รับเป็นอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 สำเนาให้โจทก์แก้โดยให้จำเลยที่ 2นำส่งสำเนาภายในกำหนด 7 วันนับแต่วันนี้ ส่งไม่ได้ให้แถลงภายในกำหนด 7 วันนับแต่วันส่งไม่ได้ มิฉะนั้นจะถือว่าทิ้งอุทธรณ์’ ต่อมาในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2529 เจ้าหน้าที่ธุรการของศาลรายงานศาลชั้นต้นว่า ศาลมีคำสั่งให้ส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่โจทก์ภายในกำหนด 7 วัน แต่จำเลยที่ 2 หาได้นำส่งภายในกำหนดไม่ ขอให้ศาลมีคำสั่ง ศาลชั้นต้นสั่งให้รวบรวมถ้อยคภสำนวนส่งศาลอุทธรณ์เพื่อสั่ง ต่อมาในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 11 กุมภาพันธ์2529 ทนายจำเลยที่ 2 ยื่นคำแถลงต่อศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 2 ยังไม่ได้วางเงินค่านำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่โจทก์ จึงขอวางเงินค่าส่งสำเนาอุทธรณ์ให้โจทก์หรือทนายโจทก์รับไปด้วย เหตุที่วางเงินล่าช้าเนื่องจากเข้าใจผิดคิดว่าทนายโจทก์รับสำเนาอุทธรณ์ไปแล้ว จำเลยที่ 2 มิได้จงใจที่จะไม่วางเงินค่าส่งอุทธรณ์แต่ประการใด ศาลชั้นต้นให้รวมส่งศาลอุทธรณ์ ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำสั่งจำหน่ายคดีเพราะเหตุที่จำเลยที่ 2 ทิ้งฟ้องอุทธรณ์ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาข้อแรกว่า จำเลยที่ 2 ยังไม่ทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นให้นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้โจทก์จะถือว่าจำเลยที่ 2 ทิ้งฟ้องไม่ได้นั้น เห็นว่าเหตุที่อ้างนี้ขัดกับคำแถลงดังกล่าวของจำเลยที่ 2 เอง ทั้งฎีกาข้อนี้ของจำเลยก็ฟังไม่ขึ้น เพราะแบบพิมพ์ท้ายอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 มีข้อความว่า ‘ฯลฯ และรอฟังคำสั่งอยู่ ถ้าไม่รอให้ถือว่าทราบแล้ว’เมื่อปรากฏว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าวในวันที่จำเลยที่ 2ยื่นอุทธรณ์นั้นเอง จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ได้ทราบคำสั่งในวันนั้นแล้ว ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า กฎหมายไม่มีเจตนารมณ์ที่จะนำบทบัญญัติในเรื่องการทิ้งฟ้องมาใช้บังคับเกี่ยวกับการอุทธรณ์ฎีกานั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าอุทธรณ์ก็เป็นคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1 (3) จำเลยที่ 2 เป็นผู้อุทธรณ์ถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นโจทก์ในชั้นอุทธรณ์เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้นำส่งสำเนาอุทธรณ์ภายในกำหนด7 วันตามคำสั่งของศาลชั้นต้นย่อมถือว่าจำเลยที่ 2 ทิ้งฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174 (2) ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 132 (1) ให้อำนาจศาลที่จะสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความได้ และบทบัญญัติในสองมาตราดังกล่าวก็นำมาใช้บังคับแก่การพิจารณาและการชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา246 ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่2 เป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์และมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน’
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ.