แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ แต่ต่อมาจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตและให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 แล้ว ส่วนโจทก์มิได้อุทธรณ์ แม้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นย่อมเด็ดขาดเฉพาะจำเลยที่ 1 ผู้ถอนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 202 ก็ตาม แต่ในการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานเดียวกัน ถ้าศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ลงโทษจำเลยที่ 2 และเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลอุทธรณ์ยังมีอำนาจพิจารณาพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ด้วยตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 213บัญญัติให้อำนาจไว้
คำว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้นย่อมเด็ดขาดเฉพาะผู้ถอนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 202 หมายความเพียงว่าจำเลยที่ถอนอุทธรณ์แล้วจะยื่นอุทธรณ์อีกไม่ได้ หาได้ห้ามศาลอุทธรณ์ใช้อำนาจตามมาตรา 213 ไม่.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๒๘๙, ๘๓
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๘๓ ให้จำคุกคนละ ๒๐ ปี ข้อหาอื่นให้ยก
รองอธิบดีผู้พิพากษาภาค ๖ ทำความเห็นแย้งว่าพยานโจทก์ไม่เพียงพอรับฟังว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำความผิดตามฟ้อง และเห็นสมควรให้ยกฟ้องโจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ ๑ ถอนอุทธรณ์ได้ให้จำหน่ายคดีเฉพาะตัวของจำเลยที่ ๑ และให้ออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุดให้ด้วย
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้อง พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งอนุญาต และให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ ๑ แล้ว โจทก์ไม่อุทธรณ์ คำพิพากษาของศาลชั้นต้นเฉพาะจำเลยที่ ๑ ผู้ถอนย่อมเด็ดขาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๐๒ ศาลอุทธรณ์ไม่มีอำนาจพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ ๑ นั้น เห็นว่า ในการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ หากจำเลยผู้หนึ่งอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาซึ่งให้ลงโทษจำเลยหลายคนในความผิดฐานเดียวกัน ถ้าศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ลงโทษจำเลย และเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยอื่นที่มิได้อุทธรณ์ด้วยตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๒๑๓ บัญญัติให้อำนาจไว้ คำว่า คำพิพากษาของศาลชั้นต้นย่อมเด็ดขาดเฉพาะผู้ถอน หมายความเพียงว่า จำเลยที่ถอนอุทธรณ์แล้ว จะยื่นอุทธรณ์อีกไม่ได้ หาได้ห้ามศาลอุทธรณ์ใช้อำนาจตามมาตรา ๒๑๓ ไม่ และวินิจฉัยข้อเท็จจริงไม่เชื่อว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้อง
พิพากษายืน.