แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หลักเกณฑ์ของคณะกรรมการปรองดองที่กำหนดให้ค่าทดแทนสำหรับค่าเช่าและเงินกินเปล่าเพราะเหตุต้องออกจากที่ดิน โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างก่อนสัญญาเช่าระงับ เฉพาะค่าเช่าและเงินกินเปล่าที่ได้จดทะเบียนกับระบุไว้ในสัญญาเช่านั้น เป็นเพียงการวางหลักเกณฑ์เพื่อพิจารณาไกล่เกลี่ยค่าทดแทนเท่านั้น มิได้ถือเป็นยุติ เมื่อตกลงกันไม่ได้ เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนส่วนที่ตนจะได้รับจากเจ้าหน้าที่เวนคืนได้ ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ข้อ 67 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 290 มีวัตถุประสงค์ดำเนินงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับทางพิเศษให้การทางพิเศษ (กทพ.) มีอำนาจดำเนินงานเกี่ยวกับทรัพย์สินใด ๆ เพื่อให้บรรลุผลในการสร้างทางพิเศษและในข้อ 17 ระบุว่าในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ผู้ว่าการเป็นผู้กระทำในนามของ กทพ. และเป็นผู้กระทำแทน กทพ. เมื่อพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ พ.ศ. 2525กำหนดให้ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ย่อมมีความหมายว่ากระทำในฐานะการทางพิเศษแห่งประเทศไทย โจทก์มีอำนาจฟ้องการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นจำเลยได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ตามพระราชกฤษฎีกาลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2525 จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 290 มีอำนาจดำเนินงานต่าง ๆ เกี่ยวกับทางพิเศษ รวมทั้งหน้าที่ในการสร้างหรือขยายทางพิเศษตลอดถึงการเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างทางหรือขยายทางนั้น เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม2525 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตบางขุนเทียน เขตยานนาวา และเขตราษฎร์บูรณะ ต่อมาวันที่ 9 ธันวาคม 2525 กระทรวงมหาดไทยออกประกาศกำหนดให้ทางพิเศษสายดาวคะนอง – ท่าเรือ มีความจำเป็นต้องสร้างโดยรีบด่วน และในการสร้างทางดังกล่าวจะต้องผ่านตึกแถวเลขที่ 435/22 ถนนสุขสวัสดิ์เขตราษฎร์บูรณะ ซึ่งโจทก์เป็นผู้ทรงสิทธิและครอบครองตามคำฟ้องโจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนและค่าเสียหายในการถูกรื้อถอนจากจำเลยทั้งสองตามความเป็นจริง จำเลยทั้งสองได้กำหนดค่าทดแทนให้โจทก์เพียงสองหมื่นบาทเศษไม่คุ้มกับความเสียหายของโจทก์ ส่วนค่าเสียหายเพราะตึกที่โจทก์ครอบครองอยู่ต้องถูกรื้อถอนไป จำเลยไม่ได้กำหนดให้ นอกจากค่าทดแทนที่จำเลยกำหนดให้แล้วโจทก์ยังมีความเสียหายอีก คือ ค่าต่อเติมอาคาร ค่าขาดประโยชน์ในช่วง 12 ปีตามสัญญาเช่าเพราะตึกต้องถูกรื้อถอนก่อนครบกำหนด ค่าตอบแทนที่โจทก์ต้องเสียให้แก่เจ้าของตึกเพื่อตอบแทนการให้เข้าทำประโยชน์ในตึกที่เช่าพร้อมทั้งเงินช่วยค่าก่อสร้าง รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 70,000 บาท โจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยทั้งสองไม่ยอมชดใช้ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสองให้การว่า นางสอาง อุปลกะลิน เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ตึกแถว โจทก์เป็นผู้เช่าและครอบครอง คณะกรรมการดังกล่าวได้มีมติว่าหากโจทก์ยินยอมออกจากตึกแถวที่เช่าภายในวันที่ 31 มกราคม2528 ก็จะจ่ายเงินทดแทนให้โจทก์เป็นเงิน 8,240 บาท มีมติจ่ายค่าทดแทนเป็นค่าโครงสร้างตึกแถวและส่วนต่อเติมภายในอาคารอันเป็นส่วนควบของตึกแถวให้นางสอาง รับไปแล้วรวมเป็นเงิน 135,412.68 บาทจำเลยไม่มีหน้าที่จ่ายให้โจทก์ซ้ำอีก ค่าเสียหายที่ผู้เช่าต้องออกจากตึกแถวก่อนสัญญาเช่าระงับ คณะกรรมการได้กำหนดให้ถือเอาค่าเช่าตลอดเวลาที่เช่าหรือเงินกินเปล่าที่จดทะเบียนไว้ในหนังสือสัญญาเช่าหรือทั้งสองอย่างรวมกันเป็นตัวตั้ง หักด้วยจำนวนเงินตามระยะเวลาที่ผู้เช่าได้ใช้ทรัพย์สินที่เช่าไปแล้วจนถึงวันที่ผู้เช่าต้องออกจากตึกที่เช่า โจทก์ได้ออกจากตึกที่เช่าวันที่ 24 เมษายน 2528เมื่อคำนวณค่าทดแทนดังกล่าวแล้ว โจทก์มีสิทธิได้รับค่าทดแทนซึ่งจำเลยยินยอมจ่ายให้เป็นเงิน 8,055 บาท โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนในการเช่าจำนวน 60,000 บาท เพราะไม่ได้จดทะเบียนหรือระบุไว้ในสัญญาเช่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง เพราะจำเลยที่ 1 ได้กระทำการในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามกฎหมายจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ส่วนจำเลยที่ 2ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ และมิได้มีหน้าที่หรือกระทำการเกี่ยวกับการกำหนดหรือต้องจ่ายค่าทำขวัญค่าทดแทนค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินให้โจทก์ 18,054 บาทพร้อม ดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้เช่าตึกแถวของนางสอาง อุปลกะลิน จดทะเบียนการเช่า 20 ปี แต่ไม่ระบุในสัญญาเช่าว่ามีเงินกินเปล่า ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตบางขุนเทียน เขตราษฎร์บูรณะ เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2525เพื่อสร้างทางพิเศษสายดาวคะนอง – ท่าเรือ ปรากฏว่าที่ดินและตึกแถวดังกล่าวจะต้องถูกเวนคืน กระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งคณะกรรมการปรองดองเพื่อพิจารณาไกล่เกลี่ยค่าทดแทนให้แก่เจ้าของทรัพย์สิน คณะกรรมการปรองดองได้กำหนดค่าทดแทนความเสียหายที่โจทก์ต้องออกจากตึกแถวที่เช่าก่อนครบกำหนดสัญญาเช่าเป็นเงิน 8,054 บาทส่วนเงินกินเปล่าไม่คิดให้
พิเคราะห์แล้ว ปัญหาข้อแรก จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า สัญญาเช่าที่โจทก์จดทะเบียนมิได้ระบุเงินกินเปล่าตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการการปรองดองกำหนดไว้จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินจำนวนนี้นั้นเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2497 ก็ดีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 295 ก็ดี ได้บัญญัติเกี่ยวกับการกำหนดค่าทดแทนให้แก่ผู้เช่าที่ดิน โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างในที่ดินที่ต้องเวนคืนไว้ว่า เงินค่าทดแทนในการเช่านี้พึงกำหนดให้เฉพาะที่ผู้เช่าได้เสียหายจริง โดยเหตุที่ต้องออกจากที่ดินโรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างก่อนสัญญาเช่าระงับ สำหรับเงินค่าเช่าและเงินกินเปล่านี้คณะกรรมการปรองดองก็ได้ถือว่าเป็นค่าเสียหายที่แท้จริง แต่วางหลักเกณฑ์เอาตามค่าเช่าและเงินกินเปล่าที่ได้จดทะเบียนกับระบุไว้ในสัญญาเช่าเท่านั้น ศาลฎีกาเห็นว่าการวางหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นเพียงเพื่อพิจารณาไกล่เกลี่ยค่าทดแทนเท่านั้นมิได้ถือเป็นยุติเมื่อตกลงกันไม่ได้ เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ย่อมมีสิทธิฟ้องร้องเรียกค่าทดแทนส่วนที่ตนจะได้รับจากเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ได้ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 295 ข้อ 67 ฉะนั้น เมื่อโจทก์สืบฟังได้ว่าโจทก์เสียเงินกินเปล่าไปจริง จำนวน 58,000 บาท สัญญาเช่ามีกำหนด20 ปี โจทก์ต้องออกจากตึกก่อนสัญญาเช่าระงับ 12 ปีเศษ โจทก์จึงได้รับความเสียหายจริง มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว เมื่อคิดค่าทดแทนตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการปรองดองว่างไว้ โจทก์มีสิทธิได้รับค่าทดแทนมากกว่า 10,000 บาทที่ศาลล่างทั้งสองให้ 10,000 บาท ตามที่โจทก์ขอจึงชอบแล้ว
ปัญหาต่อไป จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นจำเลยเพราะเป็นนิติบุคคล มิได้เป็นเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์นั้น เห็นว่า ประกาศของคณะปฎิวัติ ฉบับที่ 290 มีวัตถุประสงค์ดำเนินงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับทางพิเศษ ให้การทางพิเศษ (กทพ.) มีอำนาจดำเนินงานเกี่ยวกับทรัพย์สินใด ๆ เพื่อให้บรรลุผลในการสร้างทางพิเศษ และในข้อ 17ระบุว่าในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ผู้ว่าการเป็นผู้กระทำในนามของ กทพ. และเป็นผู้กระทำแทน กทพ. เมื่อพราะราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ฯ พ.ศ. 2525 กำหนดให้ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ย่อมมีความหมายว่ากระทำในฐานะการทางพิเศษแห่งประเทศไทย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเป็นจำเลยได้
พิพากษายืน.