แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ร่วมที่ 2 เป็นบิดาเด็กหญิง ร. มีสิทธิเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้ก็โดยฐานะเป็นผู้จัดการแทนเด็กหญิง ร. ผู้ตายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) ต่อมาระหว่างพิจารณาของศาล โจทก์ร่วมที่ 2 ถึงแก่ความตาย ส. ภริยาโจทก์ร่วมที่ 2 หามีสิทธิเข้าดำเนินคดีต่างโจทก์ร่วมที่ 2 ตามความหมายแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 29 ไม่ เพราะโจทก์ร่วมที่ 2 เป็นเพียงผู้จัดการแทนเด็กหญิง ร. ผู้ตายเท่านั้น โจทก์ร่วมที่ 2 ไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยตรง ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ ส. เข้าดำเนินคดีต่างโจทก์ร่วมที่ 2 จึงเป็นการไม่ชอบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300, 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานายดาวบิดาของเด็กชายเฉลิม นายบุญทอมบิดาของเด็กหญิงรุ่งนภา และนางสาวดอกรักบุตรของนางสมหวังยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต่อมานายบุญทอมถึงแก่ความตาย นางสาครผู้เป็นภริยา ยื่นคำร้องขอดำเนินคดีต่างผู้ตาย ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300, 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี และปรับ 10,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยสถานเดียวโดยไม่ปรับ และไม่รอการลงโทษจำคุก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าเหตุเกิดจากความประมาทของจำเลยด้วย และพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง จำเลยไม่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยสถานหนัก ประเด็นเรื่องจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่จำเลยฎีกาว่าเหตุคดีนี้เกิดเหตุสุดวิสัย จำเลยได้ใช้ความระวังแล้วแต่ไม่อาจใช้ได้เพราะเกิดเหตุการณ์เหนือความคาดหมาย เท่ากับจำเลยปฏิเสธว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องนั้น ฎีกาจำเลยดังกล่าวจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่จำเลยฎีกาข้อต่อมาขอให้รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น เห็นว่า จำเลยขับรถยนต์โดยสารซึ่งเป็นรถขนาดใหญ่โดยไม่ชะลอความเร็วรถก่อนเข้าสี่แยกนับว่าเป็นอันตรายต่อผู้อื่นอย่างมาก และเป็นการจงใจฝ่าฝืนกฎหมายโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ร่วมใช้ทาง เป็นการกระทำโดยประมาทอย่างร้ายแรง ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตายหลายราย แม้จำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อนกับให้เงินช่วยเหลือแก่ญาติผู้ตายและผู้บาดเจ็บก็ยังไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 มีอัตราโทษปรับตั้งแต่สี่ร้อยบาทถึงหนึ่งพันบาท จึงมีอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (5) คดีนี้เหตุเกิดวันที่ 24 มกราคม 2546 โจทก์ฟ้องวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2547 เกิน 1 ปี นับแต่วันกระทำความผิด ความผิดทั้งสองข้อหาดังกล่าวจึงขาดอายุความ ชอบที่ศาลจะต้องยกฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวมาด้วย จึงเป็นการไม่ชอบ แม้คู่ความไม่ได้ฎีกาในปัญหาข้อนี้แต่ก็เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 นอกจากนี้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้นางสาคร ภริยาโจทก์ร่วมที่ 2 เข้าดำเนินคดีต่างโจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งถึงแก่ความตายนั้น เห็นว่า โจทก์ร่วมที่ 2 เป็นบิดาเด็กหญิงรุ่งนภามีสิทธิเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้ก็โดยฐานะเป็นผู้จัดการแทนเด็กหญิงรุ่งนภาผู้ตายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 (2) ต่อมาโจทก์ร่วมที่ 2 ถึงแก่ความตาย นางสาครหามีสิทธิเข้าดำเนินคดีต่างโจทก์ร่วมที่ 2 ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 29 ไม่ เพราะโจทก์ร่วมที่ 2 เป็นเพียงผู้จัดการแทนเด็กหญิงรุ่งนภาผู้ตายเท่านั้น โจทก์ร่วมที่ 2 ไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยตรง ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้นางสาครเข้าดำเนินคดีต่างโจทก์ร่วมที่ 2 จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 และพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 กับให้ยกคำร้องของนางสาครที่ขอเข้าดำเนินคดีต่างโจทก์ร่วมที่ 2 ผู้ตาย