คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5616/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

องค์ประกอบเบื้องต้นในความผิดฐานลักทรัพย์ต้องได้ความว่า จำเลยเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบแต่เพียงว่า จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ร่วม นำบัตรโทรศัพท์ของโจทก์ร่วมไปให้ ร. นำไปจำหน่ายตั้งแต่เดือนมกราคม 2542 ถึงมีนาคม 2543 เป็นเงิน 1,240,000 บาท แล้วไม่นำเงินส่งคืนให้แก่โจทก์ร่วม โดยไม่ปรากฏว่าขณะที่จำเลยนำบัตรโทรศัพท์ของโจทก์ร่วมไปให้ ร. จำหน่ายนั้นจำเลยมีเจตนาทุจริตหรือสมคบกับ ร. กระทำการโดยทุจริตอย่างใด ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับผลประโยชน์อื่นใดจากการกระทำดังกล่าว จำเลยนำบัตรโทรศัพท์ของโจทก์ร่วมไปให้ใครจำหน่ายก็ได้โดยไม่จำต้องขออนุญาตโจทก์ร่วมก่อน เว้นแต่บัตรโทรศัพท์ที่นำไปจำหน่ายมีจำนวนมาก แต่ก็ไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่าจำนวนเท่าใดจึงต้องขออนุญาตโจทก์ร่วมก่อน อย่างไรก็ดี แม้จะฟังว่าการที่จำเลยนำบัตรโทรศัพท์ไปให้ ร. จำหน่ายโดยไม่ได้ขออนุญาตโจทก์ร่วม จำเลยก็เพียงแต่ปฏิบัติหน้าที่ผิดระเบียบที่โจทก์ร่วมวางไว้เท่านั้น ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาทุจริต หากโจทก์ร่วมได้รับความเสียหายเพราะเหตุที่จำเลยปฏิบัติงานไม่ถูกต้องหรือ ร. นำบัตรโทรศัพท์ไปจำหน่ายแล้วไม่ส่งเงินคืนโจทก์ร่วมก็เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมจะต้องว่ากล่าวในทางอื่นกับบุคคลทั้งสองต่อไป ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดฐานลักทรัพย์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างตำแหน่งพนักงานการตลาดของบริษัทแอดว๊านซ์ อินฟอร์เมชั่น ซิสเต็มส์ จำกัด ผู้เสียหายกับพวกที่หลบหนียังไม่ได้ตัวมาฟ้องอีก 1 คน ร่วมกันลักบัตรโทรศัพท์ใบละ 50 บาท จำนวน 9,400 ใบ เป็นเงิน 470,000 บาท และบัตรโทรศัพท์ใบละ 100 บาท จำนวน 7,700 ใบ เป็นเงิน 770,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,240,000 บาท ของผู้เสียหายไปโดยทุจริต ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 335 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 1,240,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา บริษัทแอดว๊านซ์ อินฟอร์เมชั่น ซิสเต็มส์ จำกัด ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (11) วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 83 จำคุก 4 ปี และปรับ 9,000 บาท ชั้นจับกุมจำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน และปรับ 6,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30, 30/1, 30/2, 30/3 และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 1,240,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำผิดฐานลักทรัพย์ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า องค์ประกอบเบื้องต้นในความผิดฐานลักทรัพย์ต้องได้ความว่า จำเลยเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต คดีนี้โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบแต่เพียงว่า จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ร่วมนำบัตรโทรศัพท์ของโจทก์ร่วมไปให้นายรัตติศักดิ์หรือพรมเรศนำไปจำหน่ายตั้งแต่เดือนมกราคม 2542 ถึงมีนาคม 2543 เป็นเงิน 1,240,000 บาท แล้วไม่นำเงินส่งคืนให้แก่โจทก์ร่วม โดยไม่ปรากฏว่าขณะที่จำเลยนำบัตรโทรศัพท์ของโจทก์ร่วมไปให้นายรัตติศักดิ์จำหน่ายนั้น จำเลยมีเจตนาทุจริตหรือสมคบกับนายรัตติศักดิ์กระทำการโดยทุจริตอย่างใด ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับผลประโยชน์อื่นใดจากการกระทำดังกล่าว นางสาวสมิตาผู้ช่วยสมุห์บัญชีของโจทก์ร่วม เบิกความยอมรับว่า จำเลยนำบัตรโทรศัพท์ของโจทก์ร่วมไปให้ใครจำหน่ายก็ได้ โดยไม่จำต้องขออนุญาตโจทก์ก่อน เว้นแต่บัตรโทรศัพท์ที่นำไปจำหน่ายมีจำนวนมาก แต่ก็ไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่าจำนวนเท่าใดจึงต้องขออนุญาตโจทก์ร่วมก่อน อย่างไรก็ดี แม้จะฟังว่าการที่จำเลยนำบัตรโทรศัพท์ไปให้นายรัตติศักดิ์จำหน่ายโดยไม่ได้ขออนุญาตโจทก์ร่วม จำเลยก็เพียงแต่ปฏิบัติหน้าที่ผิดระเบียบที่โจทก์ร่วมวางไว้เท่านั้น ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาทุจริต หากโจทก์ร่วมได้รับความเสียหายเพราะเหตุที่จำเลยปฏิบัติงานไม่ถูกต้องหรือนายรัตติศักดิ์นำบัตรโทรศัพท์ไปจำหน่ายแล้วไม่ส่งเงินคืนโจทก์ร่วมก็เป็นเรื่องที่โจทก์ร่วมจะต้องว่ากล่าวในทางอื่นกับบุคคลทั้งสองต่อไป พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบยังไม่เพียงพอให้รับฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดฐานลักทรัพย์ตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share