คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4858/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การะกระทำความผิดฐานทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ฐานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต ฐานมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครอง และฐานมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองนั้น ลักษณะของความผิดในแต่ละข้อหาอาศัยเจตนาในการกระทำความผิดแตกต่างแยกจากกันได้ ทั้งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปกับไม้หวงห้ามแปรรูปของกลางเป็นคนละชนิดและคนละจำนวนกัน แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 และที่ 4 จะกระทำความผิดในคราวเดียวกันก็ตาม การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสามดังกล่าว ก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 กับพวกร่วมกันมีไม้นนทรี ไม้ติ้ว ไม้โมง อันยังมิได้แปรรูป รวมจำนวน 21 ท่อน ซึ่งเกินกว่า 20 ท่อน ไว้ในครอบครอง จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้การรับสารภาพ จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันมีไม้หวงห้ามดังกล่าวอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองเกิน 20 ท่อน ดังที่โจทก์ฟ้อง การกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ย่อมเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ ฯ มาตรา 69 วรรคสอง (2) ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ ฯ มาตรา 69 วรรคหนึ่ง จึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง แต่เนื่องจากโจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาจึงไม่อาจแก้ไขกำหนดอัตราโทษได้เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225 และปัญหาการปรับบทดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 และที่ 6 จะมิได้ฎีกา แต่เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาเห็นสมควรพิพากษาแก้ไขให้มีผลตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 และที่ 6 ด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบ 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งหกกับพวกอีกหนึ่งคนเป็นเยาวชนแยกดำเนินคดีต่างหากร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยทั้งหกกับพวกร่วมกันบุกรุกเข้าไปทำไม้ในป่าโสกชัน โดยการเลื่อย ตัด โค่น ไม้ติ้ว ไม้นนทรี ไม้พลวง ไม้โมง จำนวนหลายต้น ไม่ปรากฏจำนวนและปริมาตร ซึ่งไม้ดังกล่าวเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. และขึ้นอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ อันเป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ จำเลยทั้งหกกับพวกร่วมกันแปรรูปไม้พลวงภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้โดยการเลื่อยผ่าไม้พลวงจำนวนหนึ่งออกเป็นแผ่น/เหลี่ยม ได้ไม้พลวงแปรรูปจำนวน 17 แผ่น/เหลี่ยม ปริมาตรรวม 0.34 ลูกบาศก์เมตร อันเป็นการทำให้ไม้เปลี่ยนรูปและขนาดไปจากเดิม จำเลยทั้งหกกับพวกร่วมกันมีไม้นนทรี ไม้ติ้ว ไม้โมงอันยังมิได้แปรรูป โดยมีไม้นนทรีจำนวน 13 ท่อน ไม้ติ้ว จำนวน 3 ท่อน ไม้โมง จำนวน 5 ท่อน รวมจำนวน 21 ท่อน ซึ่งเกินกว่า 20 ท่อน ปริมาตรรวม 0.487 ลูกบาศก์เมตร ไว้ในครอบครองโดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขายประทับไว้ และจำเลยกับพวกพิสูจน์ไม่ได้ว่าไม้ดังกล่าวได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทั้งหกกับพวกร่วมกันมีไม้พลวงแปรรูป จำนวน 17 แผ่น/เหลี่ยม ปริมาตรรวม 0.34 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินกว่า 0.20 ลูกบาศก์เมตร ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และไม่ได้รับยกเว้นใด ๆ ตามกฎหมาย และจำเลยทั้งหกกับพวกร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์จำนวน 1 เครื่อง ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับใช้ตัดไม้หรือแปรรูปไม้ มีฟันเลื่อยติดกับโซ่ขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องจักรกลอันเป็นเลื่อยโซ่ยนต์ตามพระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์ตามกฎหมาย ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 11, 48, 69, 73, 74, 74 ทวิ, 74 จัตวา พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 4, 6, 9, 14, 31, 35 พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 3, 4, 17 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 ริบของกลางและจ่ายเงินสินบนนำจับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งหกให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งหกมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11, 48 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคหนึ่ง, 73 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 17 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ ฯ มาตรา 14, 31 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 8 เดือน ฐานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครอง จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานมีไม้แปรรูปในครอบครองจำคุกคนละ 6 เดือน ฐานมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจำคุก 6 เดือน รวมจำคุกคนละ 32 เดือน จำเลยทั้งหกให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 16 เดือน ริบของกลาง ศาลลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่มีการปรับ จึงไม่อาจสั่งจ่ายเงินสินบนนำจับได้ คำขอส่วนนี้ให้ยก
จำเลยทั้งหกอุทธรณ์
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 จำเลยที่ 5 ถึงแก่ความตาย ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะในส่วนของจำเลยที่ 5
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จำคุก (ที่ถูก จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6) คนละ 6 เดือน ฐานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก (ที่ถูก จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6) คนละ 3 เดือน ฐานมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครอง จำคุก (ที่ถูก จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6) คนละ 3 เดือน และฐานมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครอง จำคุก (ที่ถูก จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6) คนละ 3 เดือน เมื่อรวมกับโทษจำคุกในความผิดฐานมีเลื่อยโซ่ยนต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต รวมจำคุก (ที่ถูก จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6) คนละ 21 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก (ที่ถูก จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6) คนละ 10 เดือน 15 วัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ฎีกาข้อกฎหมายว่า การกระทำความผิดฐานทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ฐานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต ฐานมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครอง และฐานมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครอง เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท นั้น เห็นว่า ลักษณะของความผิดในแต่ละข้อหาอาศัยเจตนาในการกระทำความผิดแตกต่างแยกจากกันได้ ทั้งไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปกับไม้หวงห้ามแปรรูปของกลางเป็นคนละชนิดและคนละจำนวนกัน แม้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จะกระทำความผิดในคราวเดียวกันก็ตาม การกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ที่ศาลล่างทั้งสองเรียงกระทงลงโทษจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 กับพวกร่วมกันมีไม้นนทรี ไม้ติ้ว ไม้โมง อันยังมิได้แปรรูป รวมจำนวน 21 ท่อน ซึ่งเกินกว่า 20 ท่อน ไว้ในครอบครอง จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันมีไม้หวงห้ามดังกล่าวอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองเกิน 20 ท่อน ดังที่โจทก์ฟ้อง การกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ย่อมเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 69 วรรคสอง (2) ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ ฯ มาตรา 69 วรรคหนึ่ง จึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง แต่เนื่องจากโจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาจึงไม่อาจแก้ไขกำหนดอัตราโทษได้เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225 และปัญหาการปรับบทดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยที่ 1 และที่ 6 จะมิได้ฎีกา แต่เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาเห็นสมควรพิพากษาแก้ไขให้มีผลตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 และที่ 6 ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบ 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะความผิดฐานมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครอง จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 6 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 69 วรรคสอง (2) นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share