แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยเพียงแต่ถือมีดปลายแหลมเดินเข้าไปหยุดยืนอยู่ห่างผู้เสียหายประมาณ 2 เมตร และขณะที่ผู้เสียหายตกใจวิ่งหลบหนี จำเลยวิ่งไล่ตามไปจนทันแล้วกระชากสร้อยข้อมือที่ผู้เสียหายสวมอยู่จนขาดติดมือจำเลยไป โดยไม่ได้ใช้มีดจี้ขู่เข็ญหรือแสดงท่าทีให้เห็นว่าเป็นการขู่เข็ญว่าจะใช้มีดแทงประทุษร้ายผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายเพื่อความสะดวกในการลักทรัพย์ และการที่จำเลยกระชากสร้อยข้อมือที่ผู้เสียหายสวมอยู่เป็นเพียงการลักเอาทรัพย์สินไปจากความครอบครองของผู้เสียหายเท่านั้นไม่เป็นการใช้กำลังประทุษร้ายตามความหมายของกฎหมายแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์แต่ผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยมีอาวุธและโดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิดเท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยพามีด 1 เล่มติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร แล้วจำเลยกับพวกอีก 1 คนร่วมกันชิงทรัพย์สร้อยข้อมือทองคำหนัก2 บาท 1 เส้น ราคา 9,500 บาท ของนางสุริยา สุขพร้อม ผู้เสียหายโดยมีมีดเป็นอาวุธและใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะเพื่อกระทำผิดพาทรัพย์ไปและเพื่อให้พ้นการจับกุมจำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1023/2540 ของศาลชั้นต้น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339, 340 ตรี, 371, 83, 91 ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาสร้อยข้อมือทองคำ 9,500 บาท แก่ผู้เสียหาย และนับโทษจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1023/2540 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339วรรคสอง ประกอบมาตรา 340 ตรี, 371, 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ฐานพามีดไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุสมควร ปรับ100 บาท ฐานชิงทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยมีหรือใช้อาวุธและใช้ยานพาหนะ จำคุก15 ปี รวมจำคุก 15 ปีและปรับ 100 บาท ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาสร้อยข้อมือทองคำ9,500 บาทแก่ผู้เสียหาย ที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1023/2540 ของศาลชั้นต้นนั้น ปรากฏว่าจำเลยพ้นโทษในคดีที่ขอให้นับโทษต่อแล้ว จึงให้ยกคำขอข้อนี้เสีย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1)(7) วรรคสองประกอบมาตรา 336 ทวิ, 83 จำคุก3 ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว คงจำคุก 3 ปี และปรับ 100 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ส่วนข้อหาอื่นให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “สำหรับความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ซึ่งศาลล่างทั้งสองลงโทษปรับจำเลย 100 บาท เป็นอันถึงที่สุดไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา คงมีปัญหามาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาแต่เฉพาะข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานร่วมกับพวกชิงทรัพย์ผู้เสียหายในเวลากลางคืนโดยมีอาวุธและใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิดหรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8วินิจฉัยมาว่า ในคืนเกิดเหตุเวลาประมาณ 4 นาฬิกา ขณะที่ผู้เสียหายกำลังลำเลียงสินค้าใส่รถยนต์กระบะบรรทุกเล็กที่จอดอยู่หน้าบ้านเพื่อนำไปจำหน่ายที่ตลาดเกษตรในตัวเมืองภูเก็ต จำเลยถือมีดปลายแหลมเข้ามายืนอยู่ห่างจากผู้เสียหายประมาณ 2 เมตร เมื่อผู้เสียหายหันไปเห็นจำเลยก็ตกใจและวิ่งหนีไปทางหน้าบ้านแล้วเสียหลักล้มลง จำเลยวิ่งตามไปทันและกระชากสร้อยข้อมือทองคำหนัก 2 บาท ที่ผู้เสียหายสวมอยู่จนขาดติดมือจำเลยไป แล้วจำเลยวิ่งหลบหนีไปซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่พวกของจำเลยจอดรออยู่หลบหนีไปทางอำเภอถลาง โดยมิได้ใช้กำลังประทุษร้ายหรือใช้วาจาขู่เข็ญผู้เสียหายเห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคแรกบัญญัติว่า “ผู้ใดลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ
(1) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไป
(2) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น ฯลฯ
ผู้นั้นกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ ฯลฯ”เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยเพียงแต่ถือมีดปลายแหลมเดินเข้าไปหยุดยืนอยู่ใกล้กับผู้เสียหาย และในขณะที่ผู้เสียหายวิ่งหลบหนี จำเลยได้วิ่งไล่ตามไปจนทันแล้วกระชากสร้อยข้อมือทองคำที่ผู้เสียหายสวมอยู่จนขาดติดมือจำเลยไป โดยไม่ได้ใช้มีดจี้ขู่เข็ญหรือแสดงท่าทีให้เห็นว่าเป็นการขู่เข็ญว่าจะใช้มีดแทงประทุษร้ายผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายเพื่อความสะดวกในการลักทรัพย์ตามที่โจทก์ฎีกา ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยกระชากสร้อยข้อมือทองคำที่ผู้เสียหายสวมอยู่เป็นการใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(6) นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นเพียงการลักเอาทรัพย์สินไปจากความครอบครองของผู้เสียหายเท่านั้นไม่เป็นการใช้กำลังประทุษร้ายตามความหมายของกฎหมายแต่ประการใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 เห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานร่วมกับพวกลักทรัพย์ในเวลากลางคืนโดยมีอาวุธและโดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำผิด ไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์นั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน