คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3370/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ฯ หมวด 4 การบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ส่วนที่ 1 ว่าด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ มาตรา 57 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติถึงวัตถุประสงค์ในการปรับโครงสร้างหนี้ไว้ว่า มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ โดยการแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว และเพื่อให้ลูกหนี้ที่สุจริตอยู่ในฐานะที่จะชำระหนี้ได้ภายในเวลาที่กำหนดและสามารถดำเนินกิจการเดิมหรือกิจการใหม่ได้ต่อไป และคำว่า “สินทรัพย์ด้อยคุณภาพ” ตามบทนิยามมาตรา 3 หมายถึง “สินทรัพย์ที่มีลักษณะเป็นสินทรัพย์ไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ หรือเป็นสินทรัพย์ที่สงสัยว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้…”
การที่ลูกหนี้ทั้งสี่เพิกเฉยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่ผู้ร้องซึ่งได้รับโอนสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ค้างชำระที่ลูกหนี้ทั้งสี่มีต่อเจ้าหนี้เดิม โดยมียอดหนี้ค้างชำระถึงวันยื่นคำร้องเป็นจำนวนมาก รวมเป็นเงินทั้งสิน 904,377,813.29 บาท สิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ลูกหนี้ทั้งสี่ไม่สามารถชำระหนี้ทั้งหมดได้แล้ว และลูกหนี้ทั้งสี่มีหน้าที่จะต้องให้ข้อมูลต่าง ๆ เช่น สถานะทางการเงินที่แท้จริง ความสามารถในการชำระหนี้ หรือแผนการปรับโครงสร้างหนี้ที่ชัดเจนโดยเร็วเพื่อให้ผู้ร้องนำมาประกอบการพิจารณาได้ว่าลูกหนี้ทั้งสี่สุจริต สามารถเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ได้เนื่องจากยังอยู่ในฐานะที่จะชำระหนี้ได้ภายในเวลาที่กำหนดและสามารถดำเนินกิจการเดิมหรือเริ่มกิจการใหม่ได้ต่อไป การที่ลูกหนี้ทั้งสี่มีพฤติการณ์เพิกเฉยมิได้ดำเนินการเสนอแผนปรับโครงสร้างหนี้พร้อมนำส่งเอกสารข้อมูลกิจการและทรัพย์สินส่วนบุคคลซึ่งอยู่ในความรับรู้และการครอบครองของตนภายในระยะเวลาตามที่ผู้ร้องกำหนดโดยไม่ปรากฏเหตุผลอันสมควร และทำให้การแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของลูกหนี้ทั้งสี่ล่าช้าไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ตาม พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ฯ กรณีถือได้ว่าลูกหนี้ทั้งสี่ไม่ให้ความร่วมมือกับผู้ร้องในการปรับโครงสร้างหนี้ตามที่ผู้ร้องสั่ง โดยที่ตนอยู่ในฐานะที่จะดำเนินการได้ ผู้ร้องจึงดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ทั้งสี่เด็ดขาดได้ตามมาตรา 58 วรรคสี่

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ลูกหนี้ทั้งสี่ไม่ให้ความร่วมมือกับผู้ร้องในการปรับโครงสร้างหนี้ โดยที่ลูกหนี้ทั้งสี่อยู่ในฐานะที่จะดำเนินการได้ตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 58 วรรคสี่ ขอให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ทั้งสี่เด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
ลูกหนี้ทั้งสี่ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ศาลล้มละลายกลางไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องมีว่า ลูกหนี้ทั้งสี่ไม่ให้ความร่วมมือกับผู้ร้องในการปรับโครงสร้างหนี้ โดยที่ลูกหนี้ทั้งสี่อยู่ในฐานะที่จะดำเนินการได้หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 หมวด 4 การบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพส่วนที่ 1 ว่าด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ มาตรา 57 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติถึงวัตถุประสงค์ในการปรับโครงสร้างหนี้ไว้ว่า การปรับโครงสร้างหนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ โดยการแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและเพื่อให้ลูกหนี้ที่สุจริตอยู่ในฐานะที่จะชำระหนี้ได้ภายในเวลาที่กำหนดและสามารถดำเนินกิจการเดิมหรือเริ่มกิจการใหม่ได้ต่อไป และคำว่า “สินทรัพย์ด้อยคุณภาพ” ตามบทนิยามมาตรา 3 หมายถึง “สินทรัพย์ที่มีลักษณะเป็นสินทรัพย์ไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้ หรือเป็นสินทรัพย์ที่สงสัยว่าจะไม่มีราคาหรือเรียกคืนไม่ได้…” เมื่อผู้ร้องได้รับโอนสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ค้างชำระที่ลูกหนี้ทั้งสี่มีต่อธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้เดิม และต่อมาภายหลังจากศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 6346/2546 ให้ลูกหนี้ทั้งสี่ชำระหนี้ดังกล่าวแก่ผู้ร้อง ลูกหนี้ทั้งสี่ยังคงเพิกเฉยไม่ชำระหนี้โดยมียอดหนี้ค้างชำระถึงวันยื่นคำร้องเป็นจำนวนมาก รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 904,377,813.29 บาท สิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ลูกหนี้ทั้งสี่ไม่สามารถชำระหนี้ทั้งหมดได้แล้ว และลูกหนี้ทั้งสี่มีหน้าที่จะต้องให้ข้อมูลต่าง ๆ เช่น สถานะทางการเงินที่แท้จริง ความสามารถในการชำระหนี้ หรือแผนการปรับโครงสร้างหนี้ที่ชัดเจนโดยเร็วเพื่อให้ผู้ร้องนำมาประกอบการพิจารณาได้ว่าลูกหนี้ทั้งสี่สุจริตสามารถเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ได้ เนื่องจากยังอยู่ในฐานะที่จะชำระหนี้ได้ภายในเวลาที่กำหนดและสามารถดำเนินกิจการเดิมหรือเริ่มกิจการใหม่ได้ต่อไป ตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 หมวด 4 ส่วนที่ 1 ซึ่งถ้าไม่มีการปรับโครงสร้างหนี้ดังกล่าวแล้วผู้ร้องก็อาจจะดำเนินการจำหน่ายทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันของลูกหนี้ทั้งสี่ได้ต่อไปตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 หมวด 4 ส่วนที่ 3 เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติแล้วว่า ก่อนยื่นคำร้องคดีนี้ผู้ร้องได้มีหนังสือบอกกล่าวฉบับลงวันที่ 5 กันยายน 2546 และวันที่ 15 กันยายน 2546 ให้ลูกหนี้ทั้งสี่มาเสนอข้อมูลและจัดส่งเอกสารเพื่อประกอบในการพิจารณาแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้กับผู้ร้องภายในระยะเวลาที่กำหนดจำนวน 2 ครั้ง ตามสำเนาหนังสือและใบตอบรับไปรษณีย์ และเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2546 ผู้ร้องมีหนังสือแจ้งให้ลูกหนี้ทั้งสี่ทราบว่าได้ครบกำหนดระยะเวลาตามหนังสือบอกกล่าวทั้งสองฉบับและครบกำหนดที่ลูกหนี้ทั้งสี่ขอขยายเวลาออกไปในวันที่ 20 ตุลาคม 2546 แล้ว ให้ลูกหนี้ทั้งสี่ดำเนินการจัดส่งแผนปรับโครงสร้างหนี้พร้อมเอกสารทั้งหมดภายใน 14 วัน และให้ชี้แจงผลประโยชน์ที่ลูกหนี้ทั้งสี่จะได้รับในอนาคตภายหลังการปรับโครงสร้างหนี้ให้แก่ผู้ร้อง ซึ่งเมื่อล่วงเลยกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2546 ลูกหนี้ทั้งสี่เพียงแต่มีหนังสือถึงผู้ร้องขอเสนอโอนทรัพย์สินหลักประกันแทนการชำระหนี้แล้วขอปลดภาระหนี้ส่วนที่เหลือทั้งหมดของลูกหนี้ทั้งสี่ ตามสำเนาหนังสือและใบตอบรับไปรษณีย์เอกสารหมาย ร.18 และ ร.19 โดยผู้ร้องมีนางสกุณาเจ้าหน้าที่วิเคราะห์การเงินอาวุโสและนายสมชัยนิติกรของผู้ร้องเป็นพยานเบิกความยืนยันว่าตามเอกสารหมาย ร.18 ดังกล่าวไม่มีข้อมูลและรายละเอียดที่สำคัญ เช่น รายการประเมินราคาทรัพย์สินหลักประกัน รายงานแสดงรายการทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสี่และผู้ค้ำประกัน และรายงานแสดงแหล่งที่มาและใช้ไปของเงินทุนของลูกหนี้ทั้งสี่ที่จะนำมาใช้พิจารณาในการปรับโครงสร้างหนี้ได้ และต่อมาระยะเวลาล่วงเลยมา 2 ถึง 3 ปี แล้ว ลูกหนี้ทั้งสี่ก็มิได้ไปเจรจากับผู้ร้อง และนอกจากมูลหนี้ตามคำร้องแล้วลูกหนี้ที่ 1 และที่ 4 ยังมีมูลหนี้ตามคำพิพากษาในคดีอื่นอีก 9 คดี ที่ค้างชำระแก่ผู้ร้องเป็นจำนวนมากโดยคำนวณเฉพาะต้นเงินในคดีดังกล่าวรวมกันทั้งสิ้นก็ไม่น้อยกว่า 1,680,000,000 บาท แล้ว ตามสำเนาคำพิพากษา เจือสมกับคำเบิกความของลูกหนี้ที่ 1 ที่ตอบทนายผู้ร้องถามค้านยอมรับว่า ปัจจุบันลูกหนี้ที่ 1 และบริษัทต่าง ๆ ของลูกหนี้ที่ 1 มีหนี้ค้างชำระต้นเงินและดอกเบี้ยแก่ผู้ร้องทั้งสิ้นประมาณ 10,000,000,000 บาท ส่วนทางนำสืบของลูกหนี้ทั้งสี่มีเพียงลูกหนี้ที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 เบิกความประกอบรายงานการประเมินทรัพย์สิน กล่าวอ้างว่า ลูกหนี้ทั้งสี่ได้เข้าไปพบเจ้าหน้าที่ของผู้ร้องและจัดส่งเอกสารเท่าที่มี เช่น รายงานการประเมินทรัพย์สิน ให้แก่ผู้ร้องแล้วนั้นเป็นเพียงคำเบิกความกล่าวอ้างลอย ๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานมาสนับสนุนว่าลูกหนี้ทั้งสี่ได้จัดส่งบรรดาเอกสารและข้อมูลรายการประเมินราคาทรัพย์สินหลักประกันรายงานแสดงรายการทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสี่และผู้ค้ำประกัน รายงานแสดงแหล่งที่มาและใช้ไปของเงินทุนของลูกหนี้ทั้งสี่ และแผนปรับโครงสร้างหนี้หรือเอกสารอื่นใดให้แก่ผู้ร้องแล้ว ทั้งรายงานการประเมินทรัพย์สินดังกล่าวก็เป็นเพียงรายงานราคาประเมินทรัพย์สินของบริษัทไพรมารี่ อลายด์สตีลส์ จำกัด ที่ลูกหนี้ที่ 1 เป็นกรรมการบริษัท และมีราคาประเมินมูลค่าตลาดเพียง 2,380,000 บาท ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับหนี้ค้างชำระทั้งหมดที่ลูกหนี้ทั้งสี่มีต่อผู้ร้อง พฤติการณ์ของลูกหนี้ทั้งสี่ดังกล่าวที่เพิกเฉยมิได้ดำเนินการเสนอแผนปรับโครงสร้างหนี้พร้อมนำส่งเอกสารข้อมูลกิจการและทรัพย์สินส่วนบุคคลซึ่งอยู่ในความรับรู้และการครอบครองของตนภายในระยะเวลาตามที่ผู้ร้องกำหนดโดยไม่ปรากฏเหตุผลอันสมควรและทำให้การแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของลูกหนี้ทั้งสี่ล่าช้าไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 หมวด 4 การบริหารสินทรัพย์ด้วยคุณภาพ ส่วนที่ 1 ว่าด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ กรณีถือได้ว่าลูกหนี้ทั้งสี่ไม่ให้ความร่วมมือกับผู้ร้องในการปรับโครงสร้างหนี้ตามที่ผู้ร้องสั่ง โดยที่ตนอยู่ในฐานะที่จะดำเนินการได้ตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 58 วรรคสี่ ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลาย อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ทั้งสี่เด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 ประกอบพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 58 วรรคสี่ และให้ลูกหนี้ทั้งสี่ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนผู้ร้อง โดยหักจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ทั้งสี่ เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร
??

??

??

??

2/2

Share