คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5889/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่าผู้เสียหายเป็นหนี้มารดาของจำเลยและผิดนัดไม่ชำระหนี้ ก็เป็นกรณีที่มารดาของจำเลยถูกโต้แย้งสิทธิและต้องใช้สิทธิทางศาลเพื่อบังคับผู้เสียหายให้ชำระหนี้ตามที่บัญญัติในมาตรา 55 และบทบัญญัติทั้งปวงแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหาก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยในการข่มขืนใจผู้เสียหายยอมหรือจะยอมชำระหนี้นั้นไม่ และไม่ทำให้การกระทำของจำเลยที่เป็นความผิดฐานกรรโชกตาม ป.อ. มาตรา 337 กลายเป็นการกระทำที่ไม่เป็นความผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 91, 288, 337 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ และนับโทษของจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 776/2544 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคสอง, 371 (ที่ถูกต้องระบุเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91) จำเลยอายุไม่เกิน 20 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ฐานกรรโชกทรัพย์ลงโทษจำคุก 2 ปี ฐานพาอาวุธไปในเมืองโดยไม่มีเหตุอันสมควรปรับ 60 บาท รวมจำคุก 2 ปี ปรับ 60 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ไม่ลงโทษปรับจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า พยานโจทก์มีผู้เสียหาย นางศรินทร์ทิพย์ นางพัชรีและนางสาวประภาภรณ์เป็นประจักษ์พยานเบิกความยืนยันตรงกันว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยเดินเข้าไปในร้านของผู้เสียหายพูดคุยกับผู้เสียหายครู่หนึ่งแล้วเดินออกจากร้านไปประมาณ 10 นาที จำเลยเดินกลับมาหาผู้เสียหายใหม่ มีการโต้เถียงกันระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยและจำเลยชักอาวุธปืนสั้นออกมาจ้องไปที่ผู้เสียหายก่อนเดินออกจากร้านไป ส่วนผู้เสียหายก็เดินออกจากร้านไปในเวลาไล่เลี่ยกัน จำเลยไม่ได้ปฏิเสธว่า นางศรินทร์ทิพย์และนางสาวประภาภรณ์ ประจักษ์พยานโจทก์ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุในขณะเกิดเหตุ จึงเชื่อได้ว่าประจักษ์พยานโจทก์ดังกล่าวรู้เห็นเหตุการณ์ตามที่เบิกความ การที่ประจักษ์พยานโจทก์ดังกล่าวเป็นลูกจ้างของผู้เสียหายหาได้แสดงว่าประจักษ์พยานโจทก์ดังกล่าวจะต้องเบิกความไม่ตรงตามความเป็นจริงแต่เบิกความปรักปรำจำเลยไปตามคำเบิกความของผู้เสียหายดังที่จำเลยฎีกาเสมอไปไม่ การที่ผู้เสียหายออกจากร้านของผู้เสียหายไปบ้านของนางอรุณแทบจะทันทีทันใดหลังจากที่จำเลยก่อเหตุในร้านของผู้เสียหาย และจำเลยเข้าไปหาผู้เสียหายในบ้านของนางอรุณจนเกิดโต้เถียงกันขึ้นอีก ตลอดจนการท้าทายผู้เสียหายให้แจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นของนายอาทิตย์พวกของจำเลยและเจ้าพนักงานตำรวจมายังที่เกิดเหตุแทบจะทันทีทันใดที่ได้รับแจ้งเหตุแล้วติดตามไปจับกุมจำเลยทันทีตามที่จำเลยนำสืบ ล้วนเจือสมสอดคล้องกับคำเบิกความของผู้เสียหาย เป็นเหตุผลสนับสนุนคำเบิกความของผู้เสียหายและประจักษ์พยานโจทก์ทั้งสามให้มีน้ำหนักรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัย เพราะผู้เสียหายเป็นญาติผู้ใหญ่ของจำเลย หากจำเลยไม่ใช้อาวุธปืนข่มขู่ผู้เสียหายดังที่โจทก์นำสืบ ย่อมไม่มีเหตุผลที่ผู้เสียหายจะละทิ้งบุตรที่ผู้เสียหายกำลังดูแลอยู่ในขณะนั้นแล้วไปยังบ้านนางอรุณผู้เป็นยายของจำเลยทันที ทั้งไม่มีเหตุที่ทำให้นายอาทิตย์พวกของจำเลยท้าทายผู้เสียหายให้ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจ เพราะลำพังการโต้เถียงทะเลาะหรือด่าทอกันเนื่องจากทวงหนี้โดยไม่มีการกระทำที่มีลักษณะเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายทำรายร่างกายซึ่งกันและกันหรือมีอาวุธ ย่อมไม่ถึงขนาดเป็นเหตุให้เห็นว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย การที่ร้อยตำรวจเอกเฉลิมพลกับพวกออกติดตามและจับกุมจำเลยได้ทันทีหลังจากไม่พบจำเลยในที่เกิดเหตุ ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่สนับสนุนให้เชื่อว่าผู้เสียหายกับประจักษ์พยานโจทก์อื่นได้ยืนยันต่อร้อยตำรวจเอกเฉลิมพลกับพวกว่าจำเลยใช้อาวุธปืนในการกระทำความผิด เพราะหากเป็นเพียงการโต้เถียงทะเลาะหรือด่าทอกันเนื่องจากการทวงหนี้ดังที่จำเลยอ้าง เมื่อเหตุการณ์ยุติลงโดยไม่มีเหตุร้ายใด ๆ เกิดขึ้นและจำเลยซึ่งเป็นคู่กรณีก็ไปจากที่เกิดเหตุแล้วเจ้าพนักงานตำรวจก็อาจไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องติดตามไปจับกุมจำเลยในทันทีสำหรับบันทึกการจับกุมซึ่งไม่ได้ระบุว่าจำเลยกระทำความผิดโดยมีอาวุธปืนติดตัวมานั้น อาจสืบเนื่องจากร้อยตำรวจเอกเฉลิมพลไม่พบอาวุธปืนที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิด จึงไม่นับเป็นพิรุธถึงกับทำให้พยานหลักฐานของโจทก์ไม่น่าเชื่อถือ ส่วนการไม่พบอาวุธปืนที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดก็ไม่ใช่ข้อที่แสดงว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง พยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักให้รับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าผู้เสียหายรับว่าเป็นหนี้มารดาของจำเลยจริง การกระทำของจำเลยจึงถือไม่ได้ว่าเป็นความผิดฐานกรรโชกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 นั้น เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่าผู้เสียหายเป็นหนี้มารดาของจำเลยและผิดนัดไม่ชำระหนี้ ก็เป็นกรณีที่มารดาของจำเลยถูกโต้แย้งสิทธิและต้องใช้สิทธิทางศาลเพื่อบังคับผู้เสียหายให้ชำระหนี้ตามที่บัญญัติในมาตรา 55 และบทบัญญัติทั้งปวงแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง หาก่อให้เกิดสิทธิแก่จำเลยในการข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมหรือจะยอมชำระหนี้นั้นไม่ และไม่ทำให้การกระทำของจำเลยที่เป็นความผิดฐานกรรโชกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 กลายเป็นการกระทำที่ไม่เป็นความผิด ที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษโดยอ้างการรับราชการเป็นทหารประจำการกองพันทหารอากาศโยธิน 1 กรมทหารอากาศโยธินรักษาพระองค์หน่วยบัญชาการอากาศโยธิน กองบัญชาการยุทธทางอากาศ นั้น เห็นว่า ข้าราชการทหารเป็นผู้ได้รับการฝึกฝนในการใช้อาวุธและมีโอกาสเป็นผู้ใช้อาวุธโดยชอบด้วยกฎหมาย จำต้องเป็นผู้มีจิตสำนึกที่ดีตระหนักในความเป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติงานเพื่อความสงบสุขของประชาชนและความมั่นคงของประเทศชาติ จำเลยกระทำความผิดต่อญาติผู้ใหญ่ของตนเอง โดยใช้อาวุธปืนกระทำในร้านต่อหน้าคนหลายคน เป็นการกระทำที่ไม่เคารพยำเกรงญาติผู้ใหญ่ อุกอาจไม่เกรงกลัวกฎหมาย แต่ไม่ยอมรับผิดกลับให้การปฏิเสธตลอดจนฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด ทั้งยังบิดเบือนข้อกฎหมายอ้างว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย แสดงว่าจำเลยไม่สำนึกในความผิดที่ได้กระทำไป ไม่เป็นผู้มีจิตสำนึกที่ดี แม้ผู้เสียหายจะไม่ติดใจเอาความแก่จำเลยก็ไม่สมควรรอการลงโทษ สำหรับโทษที่ลงแก่จำเลยตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์นั้นเหมาะสมแก่พฤติการร์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share