คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 580/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 สามีผู้ตายขับรถแทรกเตอร์มีกระบะพ่วงท้ายผู้ตายนั่งมาด้วยในรถกระบะโดยมิได้ติดโคมไฟท้ายรถกระบะให้มีแสงสว่างสามารถมองเห็นได้ในระยะไกล จำเลยขับรถโดยสารแล่นตามหลังไม่อาจมองเห็นรถที่โจทก์ขับในระยะไกล จึงไม่อาจหยุดรถหรือหลบหลีกได้ทันเกิดชนกันเสียหาย ดังนี้ ถือว่าความเสียหายที่เกิดขึ้น โจทก์ที่ 1มีส่วนประมาทมากกว่าจำเลยจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1 แต่จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 บุตรของผู้ตาย หนึ่งในสามส่วน(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 676/2524)
การที่จำเลยชดใช้ค่าทำศพให้ ส. ซึ่งมิใช่บิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย เป็นการชำระให้ผู้ที่ไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าทำศพ ไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 298 จำเลยจึงยังต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นบุตรผู้ตายที่มีสิทธิเรียกร้องค่าทำศพผู้ตายอยู่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นสามีชอบด้วยกฎหมายของนางนงเยาว์โจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นบุตรโจทก์ที่ 1 กับนางนงเยาว์ จำเลยที่ 1 ที่ 2ร่วมกันมีรถยนต์โดยสารประจำทางรับส่งคนโดยสารประจำเส้นทางโดยหาประโยชน์ร่วมกัน จำเลยที่ 3 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ที่ 2 จำเลยที่ 3ได้ขับขี่รถยนต์โดยสารจากจังหวัดนครราชสีมาจะไปจังหวัดนครสวรรค์อันเป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ด้วยความเร็วสูงเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด และด้วยความประมาทเป็นเหตุให้รถยนต์โดยสารพุ่งเข้าชนท้ายรถแทรกเตอร์ ซึ่งมีนางนงเยาว์กับโจทก์ที่ 1และผู้อื่นนั่งอยู่ ทำให้รถแทรกเตอร์พังเสียหาย นางนงเยาว์ถึงแก่ความตายโจทก์ที่ 1 ได้รับบาดเจ็บ โจทก์ทั้งสี่ขาดไร้อุปการะที่จะได้รับจากผู้ตายค่าใช้จ่ายในการทำศพนางนงเยาว์ ค่ายาและค่ารักษาพยาบาลโจทก์ที่ 1รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 392,118 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย และชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1ที่ต้องขาดรายได้เดือนละ 1,600 บาท

จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 3 มิได้เป็นลูกจ้างกระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 เหตุที่เกิดขึ้นมิใช่เป็นความประมาทของจำเลยที่ 3 แต่เป็นความประมาทของคนขับรถแทรกเตอร์ เพราะรถไม่มีโคมไฟและไฟสัญญาณ โจทก์ทั้งสี่เรียกร้องค่าเสียหายสูงเกินความจริง ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ให้การว่า รถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุเป็นของจำเลยที่ 2ผู้เดียว จำเลยที่ 2 ไม่เคยแบ่งผลประโยชน์ให้จำเลยที่ 1 เหตุที่เกิดขึ้นเป็นความประมาทของโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ขับรถแทรกเตอร์คันเกิดเหตุและได้ต่อรถพ่วงโดยไม่มีสัญญาณไฟที่รถพ่วง หากโจทก์ที่ 1 ไม่นำรถมาพ่วงหรือได้ติดโคมไฟให้สัญญาณไฟไว้ การชนกันก็จะไม่เกิดขึ้น โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายเกินความจริง ฟ้องโจทก์ข้อนี้เคลือบคลุม โจทก์มิได้จัดการศพผู้ตาย ไม่มีสิทธิเรียกค่าทำศพ นายเสงี่ยมบิดาของนางนงเยาว์ได้รับเงินค่าทำศพไปจากจำเลยที่ 2 แล้วสัญญาว่าจะไม่เรียกค่าทำศพจากจำเลยที่ 2 และผู้อื่นอีก ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเพราะโจทก์ทิ้งฟ้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เหตุที่เกิดขึ้นเป็นความประมาทของจำเลยที่ 3ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ตัวแทนของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาเดินรถร่วมโดยโจทก์ที่ 1 มีส่วนประมาทอยู่ด้วยที่ขับรถแทรกเตอร์มีรถพ่วงบนถนนในเวลากลางคืนโดยไม่มีสัญญาณไฟท้ายให้จำเลยรับผิด 3 ใน 4 ส่วนของค่าเสียหายทั้งหมด 223,932 บาท พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 167,949 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสี่ คำขอนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยที่ 1 ที่ 2 อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เหตุที่เกิดขึ้นโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ขับรถแทรกเตอร์มีส่วนประมาทมากกว่า สมควรให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 รับผิดเพียงหนึ่งในสามส่วนของค่าเสียหายตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด พิพากษาแก้เป็นให้จำเลยที่ 1 ที่ 2ร่วมกันใช้เงิน 74,644 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสี่ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฎีกาขอให้ยกฟ้อง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ปรากฏว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นความประมาทเลินเล่อของโจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 3ด้วยกันทั้งสองฝ่ายกรณีจึงต้องปรับด้วยมาตรา 442 ประกอบกับมาตรา 223 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กล่าวคือค่าสินไหมทดแทนอันควรจะให้ผู้เสียหายได้รับมากน้อยเพียงใด ต้องพิเคราะห์ว่าฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายยิ่งหย่อนกว่ากันเป็นข้อสำคัญ เมื่อโจทก์ที่ 1 ขับรถแทรกเตอร์มีกระบะพ่วงท้ายโดยมิได้ติดโคมไฟท้ายรถกระบะพ่วง เป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2508) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 มาตรา 70 ข้อ 1 อนุ 2 ข. ซึ่งบัญญัติไว้ว่าให้มีโคมไฟแสงแดงติดไว้ที่ท้ายรถ มีแสงสว่างสามารถมองเห็นได้จากทางด้านหลังของรถในระยะไม่น้อยกว่า 150 เมตร การกระทำของโจทก์ที่ 1 ดังกล่าวทำให้จำเลยที่ 3 ซึ่งขับรถยนต์โดยสารแล่นตามหลัง ไม่อาจมองเห็นรถที่โจทก์ที่ 1 ขับได้ในระยะไกล จึงไม่สามารถหยุดรถหรือหลบหลีกได้ทันถือได้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้น โจทก์ที่ 1 มีส่วนประมาทเลินเล่อมากกว่าจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 ที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะแก่โจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เท่านั้น หาจำต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 แต่อย่างใดไม่ เพราะแม้แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่อที่มิได้ยิ่งหย่อนกว่ากัน ก็ไม่จำต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่กันอยู่แล้ว ดังคำพิพากษาฎีกาที่ 676/2524ระหว่าง บริษัทประกันคุ้มภัย จำกัดฯ โจทก์ นายปราโมทย์ สกุลวัฒนกิจจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 หนึ่งในสามส่วน จึงเป็นการชอบด้วยพฤติการณ์แห่งละเมิดของทั้งสองฝ่ายและบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้นแล้ว แต่ที่ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 ด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายเสงี่ยมมิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนางนงเยาว์ นายเสงี่ยมจึงมิใช่ทายาทของผู้ตายที่จะมีสิทธิเรียกร้องค่าทำศพผู้ตายจากจำเลยทั้งสอง การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 จ่ายค่าทำศพผู้ตายให้แก่นายเสงี่ยม กรณีไม่ต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 298 สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ที่ได้เรียกร้องในเรื่องนี้ร่วมกับโจทก์ที่ 1 จึงหาระงับสิ้นไปไม่ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้ค่าทำศพผู้ตายแก่โจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 โดยไม่จำต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 ผู้มีส่วนประมาทเลินเล่อมากกว่าจำเลยที่ 3 ดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น

รวมค่าเสียหายของโจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ก่อนลดอัตราส่วนแห่งความรับผิดเป็นเงิน 154,000 บาท จำเลยที่ 1 ที่ 2 รับผิดเพียงหนึ่งในสามส่วนเป็นเงินจำนวน 51,333 บาท 33 สตางค์

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนเงิน 51,333 บาท 33 สตางค์ พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ที่ 2 ที่ 3และที่ 4 ให้ยกฟ้องเฉพาะคดีสำหรับโจทก์ที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share