คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 437/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เงินประกันความรับผิดตามสัญญาข้อ 3 ซึ่งได้ระบุไว้ว่าเพื่อเป็นหลักประกันในการปฏิบัติการรับจ้างของจำเลยที่ 1ตามสัญญา จำเลยที่ 1 ได้นำหนังสือค้ำประกันความรับผิดของธนาคารภายในวงเงิน 295,000 บาท มาวางเป็นประกันไว้แก่โจทก์ตั้งแต่วันทำสัญญาแล้ว เงินตามหนังสือค้ำประกันของธนาคารดังกล่าวจึงไม่ใช่เงินมัดจำที่โจทก์จะริบได้เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้รับจ้างผิดสัญญา แต่ถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายฐานผิดสัญญา ดังนั้น เงินจำนวนนี้จำเลยที่ 1ผู้รับจ้างจึงมีสิทธินำไปหักกับยอดเงินค่าเสียหายที่เป็นค่าปรับที่ศาลได้กำหนดให้แก่โจทก์ได้ สำหรับค่าเสียหายที่โจทก์จะต้องจ้างผู้รับเหมารายใหม่แพงขึ้นจากสัญญาเดิมที่โจทก์ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 แต่เงินจำนวนนี้ตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1ข้อ 2 ของข้อความทั่วไปว่าด้วยการจ้างผู้อื่นทำงานต่อซึ่งกำหนดไว้ว่า “ค่าเสียหายในเบื้องต้นก็คือเงินค่าจ้างของผู้รับจ้างคนใหม่ที่เกินกว่าจำนวนเงินค่าจ้างของผู้รับจ้างที่เหลือซึ่งผู้รับจ้างจะต้องรับผิดชดใช้แก่ผู้ว่าจ้าง” เงินจำนวนดังกล่าวนี้จึงถือว่าเป็นค่าเสียหายในกรณีผู้รับจ้างผิดสัญญาเช่นกัน ตามสัญญาจ้างเหมา ข้อ 4 วรรคสุดท้าย ที่กำหนดไว้ว่าโจทก์ทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชดใช้แต่ค่าปรับอย่างเดียวหรือค่าเสียหายกรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 380 วรรคสองแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนี้เมื่อโจทก์ไม่อาจพิสูจน์ความเสียหายยิ่งกว่าค่าปรับที่ศาลกำหนดให้ ศาลจึงไม่อาจกำหนดค่าเสียหายดังกล่าวให้โจทก์อีกได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน 3,178,576.28 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาและโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายตามสัญญาอีกโดยเฉพาะค่าปรับที่โจทก์คำนวณมาวันละ 5,900 บาท นั้นเป็นความผิดของโจทก์เองที่ปล่อยเวลาล่วงเลยมานานถึง9 เดือนเศษ จึงว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดลำปางเทพนิมิตรเข้าทำการก่อสร้างต่อ ทั้งที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวก็เป็นผู้รับเหมาช่วงก่อสร้างให้จำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์ทราบอยู่แล้วและโจทก์ ได้คิดค่าปรับที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวส่งมอบงานล่าช้าไปอีก 27 วัน กับได้รับเงินประกันความรับผิดตามสัญญาของจำเลยที่ 1 จำนวน 295,000 บาท ไปแล้วด้วย ซึ่งเป็นจำนวนที่เพียงพอแล้วจำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าปรับอีกส่วนค่าก่อสร้างที่แพงขึ้นอีก 305,276.28 บาท นั้น เป็นความผิดของโจทก์เช่นกันที่ปล่อยเวลาล่วงเลยไปนานจำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดในส่วนนี้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน413,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้ตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จะระบุว่า ในกรณีที่จำเลยที่ 1ผู้รับจ้างผิดสัญญา ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่โจทก์ผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาหรือให้จำเลยที่ 1 ทำการล่วงเวลาไป จำเลยที่ 1 ยินยอมให้โจทก์ปรับเป็นรายวัน วันละ 5,900 บาท ตั้งแต่วันถัดจากวันครบกำหนดตามสัญญาไปจนกว่างานก่อสร้างจะแล้วเสร็จบริบูรณ์ตามสัญญาโดยการกระทำของจำเลยที่ 1 เอง หรือการกระทำของผู้รับจ้างคนใหม่ก็ตาม จากการนำสืบของโจทก์เป็นทำนองเดียวกันว่า เหตุที่ว่าจ้างห้างดังกล่าวล่าช้าเกิดจากขั้นตอนในการปฏิบัติงานทางราชการกับจะต้องสำรวจว่างานจะทำต่อจากจำเลยที่ 1มีจำนวนเท่าใดโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าเหตุที่ล่าช้าดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนใดของระเบียบการปฏิบัติงานราชการ ประกอบกับปรากฏจากทางนำสืบของจำเลยทั้งสองโดยโจทก์มิได้โต้แย้งว่าผู้ที่โจทก์ว่าจ้างใหม่ก็เป็นผู้ที่จำเลยที่ 1 ว่าจ้างช่วงให้ทำแทนจำเลยที่ 1 ตามสัญญาซึ่งย่อมรู้ดีว่างานที่จะต้องทำต่อหลังจากจำเลยที่ 1 ทิ้งงานมีจำนวนเท่าใด กรณีจึงไม่จำต้องสำรวจใหม่อีกดังที่โจทก์นำสืบ ซึ่งในข้อนี้การว่าจ้างใหม่พยานโจทก์ทั้งสองดังกล่าวก็เบิกความรับว่าเป็นการจ้างเหมาโดยวิธีการพิเศษโดยไม่ต้องมีการประกวดราคาแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังได้ความจากนายสมทบพยานโจทก์เองเบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า หลังจากมีการบอกเลิกสัญญาจนถึงหาผู้รับเหมาใหม่อาจจะล่าช้าไปบ้าง จากข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวย่อมจะเห็นได้ว่าเหตุที่ทำให้การก่อสร้างอาคารเสร็จล่าช้าเกิดจากการที่โจทก์ได้ทำการว่าจ้างใหม่ล่าช้าด้วยเช่นกันเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ความล่าช้าในการว่าจ้างผู้รับจ้างรายใหม่โจทก์มีส่วนผิดอยู่ด้วย การที่โจทก์เรียกเงินค่าปรับอันเป็นค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้าซึ่งมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับมาตามฟ้องเป็นเวลา 487 วัน วันละ 5,900 บาทเป็นเงินถึง2,873,300 บาท นั้น เห็นว่าสูงเกินส่วนซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคแรก ให้ศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้โดยเห็นสมควรกำหนดจำนวนวันสำหรับคิคค่าปรับเสียใหม่ โดยให้นับถัดจากวันที่จำเลยที่ 1จะต้องทำการก่อสร้างอาคารให้แล้วเสร็จตามสัญญา ในวันที่26 กรกฎาคม 2529 ถึงวันที่โจทก์บอกเลิกสัญญาวันที่26 สิงหาคม 2529 เป็นเวลา 31 วัน เพราะระยะเวลาที่โจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 ภายหลังที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเพียงประมาณ 1 เดือน นั้น เป็นระยะเวลาพอสมควรที่โจทก์จะตัดสินใจบอกเลิกสัญญาและดำเนินการหาผู้รับจ้างคนใหม่ได้และเมื่อพิจารณาว่าสัญญาจ้างเหมามีกำหนดเวลาแล้วเสร็จภายใน240 วัน งานที่จำเลยที่ 1 ทำไปแล้วคิดเป็นปริมาณงานร้อยละ55 คงเหลือปริมาณงานร้อยละ 45 ซึ่งผู้รับจ้างใหม่ทำงานที่เหลือแล้วเสร็จภายใน 120 วัน แล้ว จึงเห็นสมควรให้โจทก์คิดค่าปรับจากจำเลยที่ 1 ได้อีก 120 วัน ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วเป็นเวลา151 วัน วันละ 5,900 บาท คิดเป็นเงิน 890,900 บาท
สำหรับเงินประกันความรับผิดตามสัญญา เมื่อได้พิจารณาข้อสัญญาจ้างเหมาข้อ 3 ซึ่งได้ระบุไว้ว่าเพื่อเป็นหลักประกัน ในการปฏิบัติการรับจ้างของจำเลยที่ 1 ตามสัญญานี้ จำเลยที่ 1 ได้นำหนังสือค้ำประกันความรับผิดของธนาคารภายในวงเงิน 295,000 บาทมาวางเป็นประกันไว้แก่โจทก์ตั้งแต่วันทำสัญญาแล้ว เห็นว่าเงินตามหนังสือค้ำประกันของธนาคารดังกล่าวไม่ใช่เงินมัดจำที่โจทก์จะริบได้เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้รับจ้างผิดสัญญา แต่ถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายฐานผิดสัญญา ดังนั้น เงินจำนวนนี้จำเลยที่ 1จึงมีสิทธินำไปหักกับยอดเงินค่าเสียหายที่เป็นค่าปรับที่ศาลได้กำหนดให้แก่โจทก์จำนวน 890,900 บาท จำเลยทั้งสองจึงยังคงต้องรับผิดในค่าเสียหายต่อโจทก์เป็นเงิน 595,900 บาท ส่วนค่าเสียหายที่โจทก์ต้องจ้างแพงขึ้นเป็นเงิน 305,276.28 บาท นั้น แม้จะฟังได้ว่าเป็นจำนวนเงินที่โจทก์จะต้องจ้างผู้รับเหมารายใหม่แพงขึ้นจากสัญญาเดิมที่โจทก์ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 จริง แต่เงินจำนวนนี้ตามข้อ 2 ของข้อความทั่วไปว่าด้วยการจ้างผู้อื่นทำงานต่อซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจ้างเหมาเอกสารหมาย ป.จ.2 กำหนดไว้ว่า “ค่าเสียหายในเบื้องต้นก็คือเงินค่าจ้างของผู้รับจ้างคนใหม่ที่เกินกว่าจำนวนเงินค่าจ้างของผู้รับจ้างที่เหลือซึ่งผู้รับจ้างจะต้องรับผิดชดใช้แก่ผู้ว่าจ้าง” ดังนี้ เงินจำนวนดังกล่าวจึงถือว่าเป็นค่าเสียหายในกรณีผู้รับจ้างผิดสัญญาเช่นกัน เกี่ยวกับค่าเสียหายนี้ศาลได้กำหนดให้จำเลยทั้งสองชำระเบี้ยปรับให้แก่โจทก์เป็นเงินถึง 890,900 บาท ซึ่งสูงกว่าที่โจทก์จะต้องจ้างผู้รับเหมารายใหม่แพงขึ้นเป็นจำนวนมากแล้ว ทั้งโจทก์ก็ นำสืบไม่ได้ว่าโจทก์มีความเสียหายเป็นพิเศษประกอบกับตามสัญญาจ้างเหมาเอกสารหมาย ป.จ.2 ก็กำหนดไว้ว่าโจทก์ทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชดใช้แต่ค่าปรับอย่างเดียวหรือค่าเสียหายกรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 380 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้าเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้จะเรียกเอาเบี้ยปรับอันจะพึงริบนั้นในฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหายก็ได้การพิสูจน์ค่าเสียหายยิ่งกว่านั้นท่านก็อนุญาตให้พิสูจน์ได้”เมื่อโจทก์ไม่อาจพิสูจน์ความเสียหายยิ่งกว่าค่าปรับที่ศาลกำหนดให้กรณีจึงไม่อาจกำหนดค่าเสียหายดังกล่าวให้โจทก์อีกได้ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า เมื่อสัญญาเลิกกันโจทก์ได้ริบเงินประกันไปแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าปรับเพราะเป็นการเอาเปรียบคู่สัญญาขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้น เห็นว่าตามสัญญาจ้างเหมาที่โจทก์และจำเลยทั้งสองทำต่อกันนั้นเป็นการทำด้วยความสมัครใจและไม่มีกฎหมายบังคับห้ามไว้เมื่อจำเลยทั้งสองรับว่าเป็นฝ่ายผิดสัญญา ดังนั้น จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมรับผิดในเบี้ยปรับตามที่จำเลยทั้งสองได้ตกลงชดใช้ตามสัญญา ทั้งเงินตามหนังสือค้ำประกันของธนาคารเป็นเงินประกันค่าเสียหายที่เกิดจากการที่จำเลยทั้งสองผิดสัญญาไม่ใช่เงินมัดจำที่โจทก์จะริบได้ ซึ่งศาลก็ได้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปหักออกจากค่าเสียหายที่เป็นค่าปรับให้จำเลยที่ 1 แล้ว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมชำระเงินจำนวน595,900 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share