คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11228/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

นิติกรรมอำพรางตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง เป็นเรื่องคู่กรณีแสดงเจตนาทำนิติกรรมขึ้นสองนิติกรรม นิติกรรมหนึ่งแสดงให้ปรากฏออกมาโดยไม่ประสงค์จะให้มีผลบังคับตามกฎหมาย ส่วนอีกนิติกรรมหนึ่งอำพรางปกปิดไว้โดยคู่กรณีประสงค์จะให้นิติกรรมที่อำพรางปกปิดไว้นั้นใช้บังคับระหว่างกันเองได้ ในเรื่องของนิติกรรมอำพรางจึงต้องมีสองนิติกรรม แต่ข้อเท็จจริงคดีนี้โจทก์ตกลงทำนิติกรรมยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยเพียงนิติกรรมเดียว การให้ดังกล่าวมิได้เป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับจำเลยเพื่อปกปิดนิติกรรมอีกนิติกรรมหนึ่งอย่างใด เพียงแต่โจทก์อ้างว่ามีข้อตกลงเพิ่มเติมในสัญญาไว้ว่าจำเลยต้องไปดำเนินการแบ่งแยกที่ดินพิพาทแล้วโอนให้แก่พี่น้องทุกคนในภายหลังเท่านั้น สัญญาให้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตามฟ้องจึงมิใช่นิติกรรมอำพรางที่โจทก์จะฟ้องขอให้เพิกถอนได้ และหากข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องจริง กรณีก็เป็นเรื่องโจทก์จำเลยทำสัญญาตกลงว่าจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 วรรคหนึ่ง กรณีนี้โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทให้แก่บุตรทุกคนซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้รับประโยชน์ตามสัญญา มิใช่มาฟ้องเพิกถอนสัญญาให้แล้วบังคับให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทกลับมาเป็นของโจทก์ เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติให้โจทก์กระทำเช่นนั้นได้ดังนี้ แม้จะฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่ามีข้อตกลงให้จำเลยแบ่งโอนที่ดินพิพาทให้แก่พี่น้องทุกคนจริง กรณีก็ไม่อาจบังคับให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทให้แก่พี่น้องทุกคนได้เพราะจะเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 กรณีก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาโจทก์ในข้อที่ว่ามีข้อตกลงให้จำเลยแบ่งโอนที่ดินพิพาทให้แก่พี่น้องทุกคนหรือไม่ เพราะไม่มีผลทำให้คดีเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินฉบับลงวันที่ 12 ตุลาคม 2543 และวันที่ 13 กันยายน 2544 ระหว่างโจทก์กับจำเลย ให้จำเลยไปจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 30955 และโฉนดทั้งเก้าฉบับที่จำเลยแบ่งแยกใหม่ หากจำเลยไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา และให้จำเลยส่งมอบต้นฉบับโฉนดที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 30955 และ 1906 ตำบลบัวลาย กิ่งอำเภอบัวลาย จังหวัดนครราชสีมา เป็นของโจทก์เมื่อปี 2543 และ 2544 โจทก์ทำสัญญายกที่ดินทั้งสองแปลงตามลำดับให้แก่จำเลย ต่อมาปี 2545 จำเลยแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1906 ซึ่งมีเนื้อที่ 20 ไร่ 3 งาน 81 ตารางวา ออกเป็น 9 แปลง เป็นแปลงใหญ่ 7 แปลง แปลงย่อย 2 แปลง แปลงย่อยเลขที่ 381 จำเลยแบ่งให้แก่นางทองยุ่น บุตรบุญธรรมของโจทก์ ส่วนแปลงเลขที่ 382 แบ่งให้นางอมรเพราะบุคคลทั้งสองได้ครอบครองอยู่ก่อนแล้ว จำเลยได้โอนที่ดินแปลงใหญ่จำนวน 2 แปลง ให้แก่นายถาวรไปพร้อมกัน ส่วนที่ดินแปลงใหญ่ที่เหลืออีก 5 แปลง ยังไม่มีการโอนให้แก่ผู้ใด
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า โจทก์จะฟ้องเพิกถอนสัญญาให้ที่โจทก์ยกที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่จำเลยโดยให้จำเลยโอนที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวกลับมาเป็นของโจทก์ได้หรือไม่ โจทก์ฟ้องและฎีกาว่า โจทก์ตกลงโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้จำเลยเพื่อให้จำเลยไปแบ่งแยกโอนให้แก่พี่น้องทุกคนในภายหลัง มิได้ประสงค์จะโอนให้จำเลยเพียงคนเดียว นิติกรรมการยกให้จึงเป็นนิติกรรมอำพราง ขอให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินทั้งสองแปลงกลับมาเป็นของโจทก์นั้น เห็นว่า นิติกรรมอำพรางตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคสอง เป็นเรื่องคู่กรณีแสดงเจตนาทำนิติกรรมขึ้นสองนิติกรรม นิติกรรมหนึ่งแสดงให้ปรากฏออกมาโดยไม่ประสงค์จะให้มีผลบังคับตามกฎหมาย ส่วนอีกนิติกรรมหนึ่งอำพรางปกปิดไว้โดยคู่กรณีประสงค์จะให้นิติกรรมที่อำพรางปกปิดไว้นั้นใช้บังคับระหว่างกันเองได้ ในเรื่องของนิติกรรมอำพรางจึงต้องมีสองนิติกรรม แต่ข้อเท็จจริงคดีนี้โจทก์ตกลงทำนิติกรรมยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยเพียงนิติกรรมเดียว การให้ดังกล่าวมิได้เป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับจำเลยเพื่อปกปิดนิติกรรมอีกนิติกรรมหนึ่งแต่อย่างใด เพียงแต่โจทก์อ้างว่ามีข้อตกลงเพิ่มเติมในสัญญาไว้ว่าจำเลยต้องไปดำเนินการแบ่งแยกที่ดินพิพาทแล้วโอนให้แก่พี่น้องทุกคนในภายหลังเท่านั้น สัญญาให้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตามฟ้องจึงมิใช่นิติกรรมอำพรางที่โจทก์จะฟ้องขอให้เพิกถอนได้ และหากข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องจริง กรณีก็เป็นเรื่องโจทก์จำเลยทำสัญญาตกลงว่าจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 วรรคหนึ่ง กรณีนี้โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทให้แก่บุตรทุกคนซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้รับประโยชน์ตามสัญญา มิใช่มาฟ้องเพิกถอนสัญญาให้แล้วบังคับให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทกลับมาเป็นของโจทก์ เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติให้โจทก์กระทำเช่นนั้นได้ ดังนี้ แม้จะฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่ามีข้อตกลงให้จำเลยแบ่งโอนที่ดินพิพาทให้แก่พี่น้องทุกคนจริง กรณีก็ไม่อาจบังคับให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทให้แก่พี่น้องทุกคนได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้อง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาโจทก์ในข้อที่ว่ามีข้อตกลงให้จำเลยแบ่งโอนที่ดินพิพาทให้แก่พี่น้องทุกคนหรือไม่ เพราะไม่มีผลให้คดีเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share